ภาวะตลาดธุรกิจร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 11, 2011 15:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. บทนำ

ในภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากภาวะซบเซา ทำให้อัตราการว่างงานในไต้หวันค่อยๆลดลง ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยรวมก็ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ในช่วงปี 2010 ที่ผ่านมามีร้านอาหารต่างประเทศมาลงทุนเปิดสาขาในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น แต่จากการที่เศรษฐกิจมีความคึกคักมากขึ้นก็ส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบกิจการเพิ่มสูงขึ้นมากตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น ค่าเช่า ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนด้านความปลอดภัยของอาหารและการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ต่างก็เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากการที่ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลไต้หวันพยายามผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ และมีการวางแผนผนวกร้านอาหารเข้าไว้ในแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งให้มีการจัดกิจกรรมโปรโมทมากมาย ทั้งการประกวดร้านอาหาร การประกวดขนม การประกวดเชฟ จนทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลดีจากความคึกคักนี้ไปด้วย

2. มูลค่าตลาด

จากสถิติของ Euromonitor International ได้ประมาณการมูลค่าตลาดของธุรกิจร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวันในปี 2010 ว่ามีมูลค่ารวม 305,645.6 ล้านเหรียญไต้หวัน (1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับประมาณ 29 เหรียญไต้หวัน) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.72 โดยมีจำนวนร้านอาหารรวม 7,557 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 0.52

3. ภาวะตลาด

บริการในรูปแบบ Set Meal และ all-you-can-eat ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2009 ได้กลายมาเป็นรูปแบบของร้านอาหารที่ผู้บริโภคไต้หวันให้ความนิยมมากที่สุดอย่างต่อเนื่องในปี 2010 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่น เห็นได้ชัดจากการที่กลุ่ม Chained pizza full-service restaurants เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตทางธุรกิจมากที่สุด โดย Leading Brand ในกลุ่มนี้คือ Pizza Hut ซึ่งให้บริการในไต้หวันในรูปแบบ all-you-can-eat ด้วยราคาที่ไม่สูงมากนัก (250 เหรียญไต้หวันต่อคนในวันธรรมดา และ 320 เหรียญไต้หวันต่อคนในวันหยุด) สามารถทำยอดขายในปี 2010 ได้สูงถึง 12,837.11 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.18 จากปี 2009

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ครองสัดส่วนตลาดมากที่สุดของร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวันคือกลุ่ม Asian Foods ที่ครองสัดส่วนมากถึงร้อยละ 55.12 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด โดยมี King Duck (Goang Jy Shiang Foods Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ขายหม้อไฟเป็ดต้มขิงเป็น Leading Brand ในปี 2010 ด้วยยอดขายตลอดปีประมาณ 5,195.97 ล้านเหรียญไต้หวัน ลดลงร้อยละ 9.0

ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น Wang Steak Restaurant Co.,Ltd. ถือเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในธุรกิจร้านอาหารแบบ Full-Service ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 22.8 ด้วยมูลค่าตลาด 69,687.19 ล้านเหรียญไต้หวัน ด้วยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแบบแตกแบรนด์เพื่อจับตลาดในระดับต่างๆ และกลุ่มลูกค้าที่มีความชอบไม่เหมือนกัน โดยบริษัทมีร้านอาหารในเครือแบบ Chain Restaurant หลายประเภท ทั้งอาหารตะวันตกคือ Tasty Steak House ที่เป็นแบรนด์ระดับ Medium-High ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในไต้หวันด้วยสัดส่วนร้อยละ 9.8 (ยอดขาย 29,953.26 ล้านเหรียญไต้หวัน) Wang Steak House ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับ High (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.9 ยอดขาย 18,033.09 ล้านเหรียญไต้หวัน) รวมไปจนถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแนวประยุกต์ชื่อดังของไต้หวันอย่าง Tao-Ban House ที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มียอดขายสูงที่สุดในปี 2010 ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.2

นอกจากนี้ ความนิยมในความแปลกใหม่ของร้านอาหารแบบ Theme Restaurant ก็มีเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาร้านอาหารประเภทนี้ที่มีชื่อเสียงก็มีทั้งร้าน Five Dime Restaurant ซึ่งตัวอาคารภายนอกจะก่อสร้างเป็นรูปผู้หญิง มี 5 สาขาในไต้หวันโดยขายอาหารจีนเป็นหลัก

ร้าน Modern Toilet ซึ่งเป็นร้านสุกี้แบบชาบูมี 11 สาขาทั่วไต้หวัน ตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศของห้องสุขา ร้าน Kitty ที่เน้นการตกแต่งด้วยเจ้าแมว Kitty ฯลฯโดยในปี 2011 ร้านสะดวกซื้ออันดับหนึ่งในไต้หวันอย่าง 7-11 ที่มีตัว Mascot ชื่อดังคือ Open Jung ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่เด็กๆ รวมถึงวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน ก็ขยายการลงทุนมาเปิดร้านอาหาร Magic Open Kitchen ขึ้น โดยแห่งแรกเปิดที่นครเกาสงซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวันรองจากไทเป โดยขายอาหารอิตาลีเป็นหลัก และใช้ Open Jung & Co การตกแต่งร้านและข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมด ถือเป็นการสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับธุรกิจร้านอาหารได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ประกอบการแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาเปิดร้านในไต้หวันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่เร่งการขยายสาขาเพิ่ม มีเพียง Yum! Restaurant (Taiwan) เจ้าของแบรนด์ Pizza Hut เท่านั้นที่มีการเปิดสาขาใหม่บ้างสองสามแห่งในปี 2010 แต่ก็มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเปิดร้านไม่น้อย และที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเห็นจะได้แก่การเปิดตัวของ L'ATELIER de Joel Robuchon ร้านอาหารฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องให้เป็นร้านอาหารระดับ 3 ดาวของ Michelin ซึ่งมาเปิดสาขาแรกในไต้หวันในห้าง Bellavita ห้างสรรพสินค้าสุดหรูกลางกรุงไทเปในช่วงปลายปี 2009 และกลายเป็นข่าวดังทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการระดับคุณภาพจากต่างประเทศนี้ แสดงเห็นอย่างชัดเจนถึงศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคไต้หวัน

4. แนวโน้ม

เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าตลาดโดยรวมเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว โดย Euromonitor Int'l คาดการณ์ว่า ในปี 2015 มูลค่าตลาดของธุรกิจแบบ Full-Service ในไต้หวันจะมีมูลค่า 335,111.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.64 จากปี 2010 โดยจะมีจำนวนร้านทั้งสิ้น 7,820 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.48

5. ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

การสร้างแบรนด์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจบริการ และจากความสำเร็จของ Wang Steak Restaurant ที่มีแบรนด์ซึ่งประสบความสำเร็จในตลาดมากถึง 10 แบรนด์ ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน เช่น Tasty Steak House - อาหารตะวันตกระดับ Medium-High, Wang Steak House - อาหารตะวันตกระดับ High-End และ Tao-ban - อาหารญี่ปุ่น เป็นต้นเห็นได้ชัดว่า การแตกยอดธุรกิจสู่กลุ่มลูกค้าระดับที่ต่างกันนี้ ถือเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจที่น่าสนใจแนวทางหนึ่ง

และจากการที่คนไต้หวันให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ความต้องการในการบริโภคอาหารที่รสชาติไม่จัด ใช้วัตถุดิบที่ให้แคลอรี่ต่ำ ลดปริมาณการใช้เกลือและน้ำมัน แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องรู้จักการปรับปรุงเมนูอาหารในร้านด้วย โดยอาจทั้งเพิ่มในส่วนของอาหารเพื่อสุขภาพเข้ามา หรือเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนความเข้มข้นของรสชาติลง และจากการที่ไต้หวันมีห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มอาหารอินทรีย์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้ร้านอาหารที่เน้นการขาย Organic Meal หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นแนวทางการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการไทย และเนื่องจากรัฐบาลไต้หวันเปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้นในธุรกิจร้านอาหารได้ร้อยละ 100 ผู้ประกอบไทยจึงมีทางเลือกในการเข้าสู่ตลาดได้ทั้งในแบบลงทุนโดยตรงหรือแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรท้องถิ่น

นอกจากนี้ การที่การท่องเที่ยวไต้หวันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคไต้หวันมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น (GDP per Capita in 2010 : US$18,588) ทำให้โรงแรมนานาชาติระดับห้าดาวหลายแห่งเห็นศักยภาพของตลาดไต้หวันและเริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทั้ง Le Meridien Taipei ที่เปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2010 หรือ W Taipei ที่เปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2011 แน่นอนว่ายังมีโรงแรมระดับหรูอีกหลายแห่งเตรียมจะทยอยเปิดตัว ซึ่งโรงแรมเหล่านี้ต่างก็มีร้านอาหารระดับ High-End ไว้คอยบริการลูกค้าในระดับยอดพีระมิดด้วยเช่นกัน และจากการที่โรงแรมห้าดาวในไทเป มีเพียง Grand Sheraton Taipei เท่านั้นที่มีร้านอาหารไทยเปิดบริการ จึงถือว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยระดับห้าดาวที่ประสงค์จะขยายธุรกิจมายังไต้หวัน ด้วยการสร้างความร่วมมือกับโรงแรมห้าดาวเหล่านี้เพื่อกลายมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจต่อไป

ประการสำคัญการที่มีนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาเยือนไต้หวันเป็นจำนวนมากในแต่ปี (ปี 2010 มี 1.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.75 จากปี 2009) ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ถือเป็นแหล่งกระจายข่าวสารของกลยุทธการตลาดแบบปากต่อปาก (Word-of-Mouth Marketing) ที่มีศักยภาพ เนื่องจากคนจีนในแผ่นดินใหญ่จะรับอิทธิพลจากไต้หวันได้ง่าย ด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นคนไต้หวันเป็นกลุ่มคนจีนระดับบน เมื่อพวกเขาเหล่านี้เดินทางกลับไปประเทศจีนจึงมักจะนำสิ่งดีๆที่พบเห็นในไต้หวันกลับไปบอกต่อๆกัน ดังจะเห็นได้ว่าร้านอาหารหรือแฟรนไชส์ชื่อดังในไต้หวันมักจะเป็นที่รู้จักในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ดังนั้น ความสำเร็จจากการประกอบธุรกิจในไต้หวันจะส่งผลให้การเข้าสู่ตลาดจีนทำได้ง่ายขึ้น ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคจีนมากขึ้น การใช้ไต้หวันเป็นกระดานหกหรือแสวงหาพันธมิตรไต้หวัน ในการเข้าสู่ตลาดจีนจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีมากทางหนึ่ง

6. งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
  • Taipei Int'l Chain and Franchise Spring Exhibition 2012

February 24-27, 2012

(http://www.franchise-expo.org.tw/)

  • Taipei Int'l Food Show 2012

June 27-30, 2012

(http://www.foodtaipei.com.tw)

7. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • Bureau of Foreign Trade (http://www.trade.gov.tw)
  • Taiwan External Trade & Development Council

(http://www.taiwantrade.com.tw)

8. แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
  • Association of Chain & Franchise Promotion, Taiwan

(http://www.franchise.org.tw)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ

ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ