สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 29, 2011 10:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม

1.1 ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 300 บริษัทต้องหยุดการผลิต จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2554 มีประมาณ 1,000 บริษัท โดยมี 450 บริษัทตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งร้อยละ 70 เป็นบริษัทขนาดกลาง และขนาดย่อม หน่วยงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และองค์การเจโทรได้ตั้งสำนักงานให้คำปรึกษาแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเรื่องการเงิน การย้ายที่ตั้งโรงงาน และการจ้างคนงานไทย โดยบางบริษัทได้ขออนุญาตที่จะนำคนงานไทยมาทำงานที่ญี่ปุ่น แต่บางรายอาจจำต้องให้คนงานออก

1.2 ผลกระทบต่อปริมาณการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ของโลก ลดลงร้อยละ 30 เทียบกับระยะเวลาตุลาคม-ธันวาคมของปีที่แล้ว จากการที่โรงงานหลายแห่งของ Nidec ที่ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดร์ฟต้องปิดลง และ TDK ซึ่งครองตลาดหัวแม่เหล็กร้อยละ 40 ของโลก ต้องปิดโรงงานในไทยส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า และยอดขายจะตกลงอย่างมากถึงร้อยละ 55 ส่วนยอดขายคอมพิวเตอร์คาดว่าจะตกลงร้อยละ 10 พริ้นเตอร์ร้อยละ 20 จากการที่ Cannon หยุดการผลิต

1.3 ส่วนบริษัทผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพดิจิตอล ต่างต้องย้ายการผลิตไปยังโรงงานที่ยังไม่เสียหาย แต่สินค้าบางรายการมีปริมาณจำกัด เช่น Sony ที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคตัดสินใจที่จะย้ายการผลิตกล้องไปโรงงานที่เดิมผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงรถยนต์ และ ยังไม่มั่นใจว่าจะผลิตได้ปริมาณเท่าใด ส่วน Nikon ประกาศว่า จะสามารถผลิตได้เท่ากับปริมาณก่อนน้ำท่วมภายในเดือนมีนาคมหน้า โดยจะผลิตที่โรงงานแห่งอื่น และจะเริ่มผลิตบางส่วนในไทยภายในเดือนมกราคม ทั้งนี้ราคาจำหน่ายกล้องถ่ายภาพดิจิตอลในญี่ปุ่นได้ปรับสูงขึ้น โดย Sony NEX-N ขายอยู่ที่ 87,800 เยน สูงขึ้นร้อยละ 11 Nikon D3100 ขายอยู่ที่ราคา 55,100 เยน สูงขึ้นร้อยละ 19 คาดว่ายอดขายกล้องถ่ายภาพดิจิตอลจะตกลงร้อยละ 30 ซึ่งมากกว่าผลกระทบภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิ

1.4 บริษัท Pioneer ผู้ผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ โดยร้อยละ 40 ผลิตในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังประเมินความเสียหายหลังจากโรงงาน2 แห่งในประเทศไทยต้องปิดลง และจะย้ายการผลิตไปยังจีน บราซิล และญี่ปุ่นแทน บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตในไทยได้อีกราวปลายเดือนพฤศจิกายน

1.5 บริษัท Rohm ผู้ผลิตชิพ สำหรับเครื่องเสียงรถยนต์ และระบบนำร่อง โดยส่งให้กับโตโยต้า และ ฮอนด้า ประสบปัญหาจากโรงงานที่จังหวัดปทุมธานี และอยุธยาถูกน้ำท่วม คาดว่าผลประกอบการจะขาดทุนร้อยละ 17 แม้ว่าบริษัทจะพยายามเปลี่ยนไปผลิตที่โรงงานที่ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เนื่องจากชิพเหล่านี้จะต้องผลิตพิเศษตามคำสั่งลูกค้าทำให้ยากที่จะย้ายไปผลิตที่อื่น บริษัทคาดว่าแม้โรงงานในไทยจะเริ่มเปิดได้อีกในเดือนธันวาคม ปริมาณการผลิตจะสามารถกลับเป็นปกติได้ในเดือนมีนาคมหน้า

1.6 บริษัท Sanden ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศติดรถยนต์เตรียมจะย้ายการผลิตไปโรงงานชั่วคราวในภาคตะวันออกหลังจากโรงงานในจังหวัดอยุธยาเสียหาย โดยจะเช่าโรงงานขนาดเล็กชั่วคราว และผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ยุ่งยากมากนัก และจะเริ่มส่งสินค้าได้ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ส่วนส่วนประกอบสำคัญๆ จะผลิตที่โรงงานในญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ บริษัทวางแผนที่จะส่งคนงาน ไปผลิตยังโรงงานชั่วคราว และที่เหลือจะส่งมาทำงานที่ญี่ปุ่น

1.7 บริษัท Lapis Semiconductor ได้เริ่มลำเลียงอุปกรณ์การผลิตที่นำออกมาจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะนำมาทำความสะอาดเพื่อที่จะส่งมายังญี่ปุ่นเพื่อทำการผลิต และบริษัท Hitachi ส่งแพทย์จากญี่ปุ่นไปตรวจคนงานที่ไทยเพื่อป้องกันโรคติดต่อที่อาจจะเกิดจากน้ำท่วม

2. สถานการณ์การผลิตในประเทศ

จากสภาวะการแข่งขันเรื่องราคาในตลาดโลก ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการผลิตในประเทศ และไปจ้างผลิตในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน ผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพดิจิตอลเริ่มไปผลิตในไต้หวันมากขึ้น ส่วนการนำเข้าโทรศัพท์มือถือมีปริมาณมากกว่าการส่งออก เช่น iPhone ของ Apple มียอดขายมากกว่าร้อยละ 60 ในประเทศ

ในส่วนการผลิตโทรทัศน์เช่นกัน Panasonic ได้ลดการผลิตในประเทศจากโรงงาน 5 แห่งเหลือเพียง 2 แห่ง บริษัทขาดทุนจากการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินวอนของเกาหลีทำให้บริษัทคู่แข่งอย่าง Samsung ได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วน Sony ซึ่งขณะนี้ได้จ้างผลิต มากกว่าร้อยละ 50 จากเดิมที่ร้อยละ 20 และ Toshiba จะเปลี่ยน โรงงานผลิตที่ จ.ไซตะมะเป็นศูนย์วิจัยสินค้า และบริการหลังการขายแทน สถานการณ์เช่นนี้มีมากขึ้น ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็คทรอนิกส์ และส่งผลไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้ผลิตโลหะ ซึ่งย้ายไปผลิตที่ประเทศจีน

ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ต่างไปสร้างโรงงานในตลาดเป้าหมาย เช่นอินเดีย Panasonic ได้ลงทุนสร้าง Panasonic Techno Park ในภาคเหนือของอินเดีย เพื่อจะสร้างโรงงานผลิต เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้าขายในประเทศ

3. ภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

ยอดการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2554 มีมูลค่า 8.22 แสนล้านเยน ลดลง ร้อยละ 10.3 จากเดือนกันยายน ปี 2553 โดยสินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล วีดิโอ ลดลงร้อยละ 14.2 เครื่องเสียงลดลงร้อยละ 37.1 คอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 14.3 ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 10.7แผงวงจร ลดลงร้อยละ 11.8

ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบโทรคมนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ระบบสื่อสารวิทยุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เครื่องจักรธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5

ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนสิงหาคม 2554 มีมูลค่า 6.33 แสนล้านเยน โดยลดลงร้อยละ 5.2 จากเดือนสิงหาคม ปี 2553 แต่หลายสินค้ามีแนวโน้มการนำเข้าที่สูงขึ้น เช่น อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล อุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร คอมพิวเตอร์ หลอดไฟ ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ระบบสื่อสาร ลดลงร้อยละ 9.9 เครื่องจักรธุรกิจ ลดลงร้อยละ 22.9 แผงวงจรลดลง ลดลงร้อยละ 18.9

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ