สินค้าไก่ในตลาดเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 29, 2011 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิต

เวียดนามมีประชากรที่อาศัยในชนบทคิดเป็น 74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่ง 65% เลี้ยงชีพโดยการเกษตร ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงขนาดเล็กภายในครัวเรือนถึง 70% ของการผลิตภาคปศุสัตว์ทั้งหมดของเวียดนาม คาดว่ามี 8.3 ล้านครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ปีกและ 7 ล้านครัวเรือนที่เลี้ยงสุกร ( ข้อมูลปี 2553 )

จากรายงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 การเลี้ยงสัตว์ปีกได้รับผลผลิตที่เป็นเนื้อ ( น้ำหนักมีชีวิต ) 386,300 ตัน เพิ่มขึ้น 16.8 % ( เทียบปีต่อปี ) และเป็นไข่ 3.9 ล้านฟอง เพิ่มขึ้น 19% ( เทียบปีต่อปี )

จากสถิติของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ผลผลิตเนื้อไก่ของเวียดนามในแต่ละปีค่อนข้างคงที่ โดยอยู่ในระหว่างปีละ 340,000 — 350,000 ตัน

การบริโภค

ประชากรเวียดนามบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยปีละ 40 กิโลกรัมต่อคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 57 กิโลกรัมต่อคนภายในปี 2563

การตลาด

ตลาดสินค้าไก่ของเวียดนามทางตอนใต้ ถูกครองตลาดโดยบริษัทต่างชาติ 3 บริษัท คือ CP Vietnam Livestock Corporation ( ประเทศไทย ) Japfa ( อินโดนีเซีย ) และ Emivest ( มาเลเซีย ) ซึ่งส่งสินค้าเนื้อไก่ป้อนตลาดเดือนละ 10,000 ตัน

เมื่อกลางปี 2554 ราคาเนื้อสุกรได้สูงขึ้นอย่างมากถึง 70 — 100 % ซึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อ โรค blue — ear ระบาดในสุกร และพ่อค้าจีนเข้ามากว้านซื้อสุกรในเวียดนามจำนวนมาก ในที่สุดรัฐบาลเวียดนามจึงอนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ได้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านราคาในประเทศ และเพื่อควบคุมไม่ให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงมากเกินไปโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ซึ่งขาดแคลนเนื้อสุกรตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม — กรกฎาคม 2554

โดยปกติเวียดนามนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งเฉลี่ยเดือนละ 4,000 ตัน แต่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2554 การนำเข้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 14,000 ตัน ( เพิ่มขึ้น 115 % จากเดือนมิถุนายน ) และ 12,000 ตันในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ

จากการนำเข้าดังกล่าว ทำให้ราคาเนื้อสุกรและเนื้อไก่ในตลาดสดของจังหวัดในแถบแม่โขงเดลต้าลดลงถึง 30 — 40% เมื่อเทียบกับราคาเมื่อเดือนพฤษภาคม — มิถุนายน 2554 โดยราคาขายปลีกเนื้อสุกรเป็น 60,000 — 85,000 ด่ง / กก. ( US$ 2.86 — 4.05 ) ส่วนเนื้อไก่ราคา 30,000 — 35,000 ด่ง / กก. ( US$ 1.43 — 1.67 ) จากเดิมที่เคยขาย 60,000 — 70,000 ด่ง / กก. ( US$ 2.86 — 3.33 )

การนำเข้า

การนำเข้าไก่แช่แข็งส่วนใหญ่ ( เกือบ 80%) เป็นการนำเข้าสินค้า by — products (ขา และปีก) แช่แข็งซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ และบราซิล เดิมผู้นำเข้าจำหน่ายให้กับครัวของเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีสัญญาต้องจัดหาอาหารให้พนักงานและคนงาน ครัวรวมและโรงแรม เพราะราคาไก่นำเข้าต่ำกว่าไก่ในประเทศมาก แต่ปัจจุบันไก่นำเข้าดังกล่าวได้กระจายไปจำหน่ายในจังหวัดที่อยู่ห่างไกลและแม้แต่ในร้านสะดวกซื้อในเขตเมืองใหญ่ด้วย

มีการกล่าวว่า บริษัทผู้นำเข้าเวียดนามได้นำเข้าสินค้าไก่ใกล้หมดอายุเข้ามาในประเทศ โดยยอมรับความเสี่ยงหากสินค้าถูกกักกันเนื่องจากปัญหาสุขอนามัย เพราะพวกเขาจ่ายเงินเพียง 20% ของมูลค่า consignment นั้นให้กับผู้ส่งออก แต่ถ้าสินค้าผ่านการตรวจปล่อยจากด่านศุลกากร พวกเขาจะได้รับกำไรอย่างมากจากการจำหน่ายสินค้าที่นำเข้ามาราคาต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบนำเข้าสินค้าไก่จากจีนเข้ามาจำหน่ายอีกมาก โดยราคาขายในจีน 20,000 — 25,000 ด่ง / กก. ( US$ 1 — 1.2 ) ราคาขายบริเวณชายแดนเป็น 40,000 ด่ง / กก. ( US$ 1.90 ) เมื่อเข้ามาถึงตลาดในกรุงฮานอยจะมีราคา 60,000 — 65,000 ด่ง / กก. ( US$ 2.86 — 3.09 ) บางครั้งสูงถึง 85,000 — 90,000 ด่ง / กก. ( US$ 4.05 — 4.28 )

จากสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ( MARD) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เวียดนามนำเข้าเนื้อสดแช่แข็งจำนวน 85,249 ตัน โดยเป็นเนื้อไก่ 66,251 ตัน และเนื้อสุกร 6,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.5% ( เทียบปีต่อปี ) และ MARD ได้เสนอให้มีการนำเข้าอีก 35,000 ตัน เพื่อรองรับช่วง Lunar New Year 2012 ที่จะมาถึงในปลายเดือนมกราคม 2555 แม้ว่าราคาเนื้อไก่ทั่วประเทศจะลดลง 25 — 33% แล้วก็ตาม

ในปี 2553 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้ 33,275 ตัน โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ลาว (12,228 ตัน) เวียดนาม (7,424 ตัน) และ ฮ่องกง (6,793 ตัน) สำหรับไก่ปรุงสุกไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก มีปริมาณ 398,924 ตัน มีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น (174,011 ตัน) สหราชอาณาจักร (132,063 ตัน) และเนเธอร์แลนด์ (31,767 ตัน) โดยส่งออกไปยังเวียดนามเพียง 144 ตัน

ภาษีนำเข้า

ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2551 เวียดนามได้เพิ่มภาษีนำเข้า (MFN ) เนื้อสัตว์ปีก (ทั้งสดและแช่แข็ง ) จาก 12% เป็น 40% และ by — products (ทั้งสด , แช่แข็ง ) ได้เพิ่มขึ้น 20%

สำหรับสมาชิกอาเซียน รวมทั้งไทย สามารถใช้สิทธฺประโยชน์จาก AFTA โดยเสียภาษีนำเข้าไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง 10% และไก่ปรุงสุก 20%

กฏระเบียบสำหรับผู้ส่งออก

  • สินค้าไก่สด ( แช่เย็น / แช่แข็ง )

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามโดยหน่วยงาน NAFIQAD ( National Agro — Forsetry — Fisheries Quality Assurance Department ) ได้ออก Circular no.25/2010/TT-BNNPTNT ซึ่งเป็นระเบียบเกี่ยวกับการส่งออกเนื้อสัตว์ ( รวมไก่สด ) ไปยังเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 เป็นต้นไป

Circular no.25 กำหนดให้บริษัทที่จะส่งออกสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากสัตว์ไปยังเวียดนามต้องขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ส่งออก ( Food Business Operator ) กับ NAFIQAD โดยผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศผู้ส่งออก (กรณีประเทศไทยคือกรมปศุสัตว์ ) สำหรับหลักการขึ้นทะเบียนของ NAFIQAD ประกอบด้วย การตรวจสอบด้านเอกสารซึ่งใช้ระยะเวลา 30 วันทำการ หากผลการพิจารณาได้รับการยอมรับ NAFIQAD จะประกาศรายชื่อโรงงานที่ได้รับการรับรอง หาก NAFIQAD จำเป็นต้องเดินทางมาตรวจสอบ ณ ประเทศผู้ส่งออก ก็จะรายงานผลให้ทราบภายหลังการตรวจสอบแล้ว 30 วันทำการ

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือถึง NAFIQAD เพื่อขอขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตเนื้อเป็ด/ไก่ของไทย ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2553 และโรงงานผลิตเนื้อสุกรเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553

NAFIQAD ได้อนุญาตให้บริษัทไทย 20 บริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับเนื้อไก่และ 7 บริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับเนื้อสุกร สามารถส่งออกไปยังเวียดนามได้ (รายชื่อตามเอกสารแนบ 1) โดยรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยใน website ของ NAFIQAD (www. nafiqad .gov.vn)

  • สินค้าไก่ปรุงสุก

สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุก ไม่อยู่ภายใต้ Circular no. 25 ผู้ผลิต ( Food Business Operator ) จึงไม่จำเป็นต้องขอขึ้นทะเบียนกับ NAFIQAD

กฏระเบียบสำหรับผู้นำเข้า

สินค้าไก่ปรุงสุก มีขั้นตอนการนำเข้า ดังนี้

1. ดำเนินการจดทะเบียนใบแสดงคุณภาพอาหาร กับทางกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ซึ่งจะใช้เวลา 7 วันทำการ โดยต้องเตรียมเอกสาร Cirtificate of Free Sale ( CFS ) ใบแสดงผลตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

2. การขึ้นทะเบียนใบแสดงคุณภาพอาหารดังกล่าวในข้อ 1. ต้องมีผู้นำเข้า ซึ่งมีใบอนุญาตจดทะเบียนธุรกิจสามารถนำเข้าเนื้อสัตว์ปรุงสุกได้เป็นผู้ยื่นขอ และเป็นผู้รับผิดชอบในการนำเข้าและกระจายสินค้า

3. เมื่อพร้อมดำเนินการนำเข้า และทำการส่งสินค้าจากประเทศต้นทาง ทางผู้นำเข้าต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าอัตโนมัติ ( automatic import license ) ที่ทางกรมศุลกากรเวียดนามเป็นผู้กำหนด โดยจะใช้เวลาประมาณ 9 วันทำการเพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตนำเข้าอัตโนมัติ

4. เมื่อสินค้าถึงท่าเรือ การผ่านพิธีการทางศุลกากรเป็นไปตามปกติ แต่ผู้นำเข้าต้องยื่น ใบอินวอยช์ แพ็คกิ้งลิสต์ ใบพิธีศุลกากร ใบแสดงคุณภาพสินค้าที่ทางประเทศต้นทางออกให้ ใบอนุญาตอัตโนมัติ พร้อมยื่นแบบฟอร์มแสดงแหล่งกำเนิดสินค้าในกรณีที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี โดยเอกสารทั้งหมดต้องแสดงข้อมูลที่ตรงกันอย่างครบถ้วน

5. เมื่อแสดงเอกสารดังกล่าวครบถ้วนแล้ว การตรวจปล่อยสินค้าสามารถดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 วัน

สำหรับการขอใบอนุญาตนำเข้าอัตโนมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ( MoIT ) ณ กรุงฮานอย หรือตัวแทนสำนักงาน ณ นครโฮจิมินห์ นั้น ผู้นำเข้าต้องยื่นขอแต่ละ lot ของสินค้าและการยื่นเอกสารทั้งหมดต่อ MoIT ต้องยื่นทางไปรษณีย์และรอการรับอนุญาตทางไปรษณีย์เท่านั้น จึงเป็นปัญหาต่อสินค้าที่เน่าเสียง่าย

สินค้าไก่สดแช่เย็น / แช่แข็ง มีขั้นตอนการนำเข้า ดังนี้

1. แจ้งชื่อผู้ผลิตกับทางกระทรวงเกษตรฯเวียดนามโดยผ่านกรมปศุสัตว์ของประเทศไทย หลังจากนั้นให้ตรวจสอบชื่อในเว็บไซท์ และดำเนินการนำชื่อไปตรวจสอบกับศุลกากรพื้นที่ ที่จะนำเข้าว่าชื่อได้อยู่ในสารบบเรียบร้อยแล้ว

2. ดำเนินการส่งสินค้าจากทางเมืองไทยโดยเอกสารที่ต้องเตรียมในการเดินพิธีศุลกากรได้แก่

  • ใบพิธีศุลกากร
  • Sale contract
  • Commercial invoice, Packing list
  • Bill of lading
  • C/O FORM D
  • Health Certificate ออกให้โดยกรมปศุสัตว์เมืองไทย
  • Sanitary certificate ( issued by veterinary Department Regional 6)

3. หลังจากดำเนินการยื่นเอกสารดังกล่าวครบถ้วนสามารถออกสินค้าได้ทันทีหลังชำระภาษีแล้ว

แนวทางการส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าไก่ในเวียดนาม

เวียดนามเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสำหรับการนำเข้าสินค้าไก่ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลาง และการเพิ่มขึ้นของรายได้หลังหักภาษี

จากข้อมูลปี 2551 ประชากรในนครโฮจิมินห์บริโภคเนื้อไก่นำเข้ามากกว่า 80 ตัน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ตัน/วัน ในวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์

สหรัฐฯ บราซิลและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก และเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้า by — products ของไก่ไปยังเวียดนามในราคาต่ำ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ได้จัดอันดับให้เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพอันดับต้น ๆ ที่ต้องให้ความสนใจในการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง

การที่ผู้ประกอบการไทยต้องการขยายตลาดสินค้าไก่ในเวียดนาม จึงจำเป็นต้องทุ่มเททั้งเวลาในการพบปะผู้นำเข้า สำรวจตลาดด้วยตนเอง และทั้งค่าใช้จ่ายในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ซื้อในตลาดเวียดนาม

ข้อแนะนำ
  • ผู้ประกอบการไทยควรหาทางติดต่อเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าที่มีเครือข่ายกับ Supermarket ใหญ่ ๆ เช่น เมโทร ( เยอรมนี ) บิ๊กซี ( ฝรั่งเศส ) และควรออกค่าใข้จ่ายในการเชิญผู้นำเข้า ผู้บริหารห้างเมโทร ( ซึ่งเป็นทั้งผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้าและมีห้องเย็นในการเก็บรักษาสินค้าเนื้อสัตว์ ) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NAFIQAD ที่มีอำนาจในการขึ้นทะเบียนโรงงานของประเทศผู้ส่งออก เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเยี่ยมโรงงานผลิตและสร้างความสนิทสนมกับบุคคลที่มีบทบาทในธุรกิจค้าสินค้าไก่ในตลาดเวียดนาม
  • เมื่อสินค้าสามารถเข้าสู่ตลาดได้แล้ว ควรจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในเวียดนามเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ผู้นำเข้า

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ