ผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในประเทศไทยต่อตลาดสินค้าในแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 27, 2011 15:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จากข้อมูลสถิติStatistic Canada แสดงข้อมูลการนำเข้าสินค้าของไทยในแคนาดาล่าสุด (ข้อมูลเดือน ส.ค. 2554) ไทยส่งออกสินค้าไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 18 โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้า 1,809.266 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.86 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าสำคัญ 10 รายการ (เรียงตามลำดับมูลค่ามาก-น้อย) คือ 1) อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์, 2) เครื่องจักร, 3) ยางพารา, 4) อาหารทะเลแปรรูป, 5) อาหารทะเล, 6) อัญมณีและเครื่องประดับ, 7) ข้าว, 8) ลวดและเคเบิล, 9) อาหารแปรรูป, 10) เหล็ก เหล็กกล้า ตามลำดับ

ข้อคิดเห็นสำนักงานฯ จากผลกระทบภาวะอุทกภัย

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของประเทศไทยและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าต่างๆ นั้น ทาง สคต. แวนคูเวอร์ได้วิเคราะห์ผลกระทบการนำเข้าสินค้าไทยในแคนาดาสามารถสรุปได้ดังนี้

หมวดสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่

  • สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 9 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ในปี2554 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 31.78 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • สินค้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน โดยไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 21 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ในปี2554 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 27.50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • สินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จากสถิติเดือนสิงหาคม 2554 แคนาดานำเข้าหมวดสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นจากไทยลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับทั่วโลก มีมูลค่า 18.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.08 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
  • สินค้าหมวดอาหาร (อาหารทะเลแปรรูป) เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าหมวดนี้เป็นอันดับที่ 1 ไปยังแคนาดา และในปี2554 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25.57 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • สินค้าหมวดอาหารแปรรูปอื่น ๆ สำนักงาน ฯ ได้สอบถามผู้นำเข้าอาหารในเขตแคนาดา พบว่า ผู้นำเข้ามีความกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสินค้าขาดตลาดสำหรับการจำหน่าย และราคาสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในปีถัดไปอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สคต. เห็นว่า สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นสินค้าประเภทที่ไม่สามารถหาแทนกันได้ กล่าวคือ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าจะมีขนาดและรูปแบบที่ระบุชัดเจนสำหรับการผลิต (OEM) โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบ ภายในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องการสินค้าประเภทนั้นๆ และไม่สามารถจัดหาได้จากแหล่งใด โดยหลังวิกฤตการณ์อุทกภัยผู้นำเข้าจะยังคงนำเข้าสินค้าได้อย่างเดิม

หมวดสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่

  • สินค้าหมวดเฟอร์นิเจอร์ไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 12 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ในปี2554 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6.50
  • สินค้าหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ โดยไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 2 เมื่อเทียบกับทั่วโลก ในปี2554 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 68.39
  • สินค้าเหล็ก เหล็กกล้า สัดส่วนตลาดของสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าที่นำเข้าจากไทยในแคนาดาคิดเป็นร้อยละ 0.32 ของตลาดทั้งสิ้น หรือมีมูลค่าการนำเข้า 41.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือได้ว่ามีขนาดตลาดที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ
  • สินค้าหมวดของเล่นเด็ก ไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 9 เมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยมีสัดส่วนครองตลาดร้อยละ 0.66
  • สินค้าหนังฟอกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับหนัง ไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 11 เมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยมีสัดส่วนครองตลาดร้อยละ 0.49 และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.68
  • สินค้าสิ่งทอ ไทยส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังแคนาดาเป็นลำดับที่ 22 เมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยมีสัดส่วนครองตลาดร้อยละ 0.25 และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.20

โดย สคต.เห็นว่า สินค้าหมวดดังกล่าว เป็นลักษณะสินค้าที่สามารถจัดหาจากแหล่งอื่นเพื่อแทนกันได้ ซึ่งผู้นำเข้า/ประกอบการแคนาดา อาจจะเลือกที่จะนำเข้าจากผู้ส่งออกคู่แข่งประเทศอื่น ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยจะมีสัดส่วนครองตลาดสินค้าในแคนาดาที่ลดงลง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไทย ยังสามารถรักษาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ประกอบกับราคาที่แข่งขันได้ผู้ประกอบการ/นำเข้าแคนาดาก็ยังคงสนใจในสินค้าไทยอย่างต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศคู่แข่งทางการค้าไทย อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ก็ได้รับผลกระทบน้ำท่วมเช่นเดียวกับเมืองไทย อาจจะทำให้การหาสินค้าบางรายการจากคู่แข่งในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ อาจเป็นได้อย่างลำบากเช่นเดียวกัน

หมวดสินค้าที่ไม่น่าจะมีผลกระทบสำหรับตลาดแคนาดา ได้แก่

สินค้าส่งออกไทยบางรายการไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากสัดส่วนในตลาดแคนาดายังน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านความนิยมและลักษณะเฉพาะในการบริโภคสินค้า อาทิ

  • สินค้ากลุ่มอุตสาหรกรมมซีเมนต์ไทย เนื่องด้วยแคนาดามีการนำเข้าซีเมนต์จากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก (สัดส่วนตลาดร้อยละ 83.91) ในขณะที่การนำเข้าซีเมนต์จากไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง (ลดลงร้อยละ 99.98) และมีสัดส่วนในตลาดเพียงเล็กน้อย
  • สินค้าหมวดสุขภาพ / ความงาม แคนาดามีมูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดสุขภาพและความงามจากไทยประมาณ 2.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 0.13 ซึ่งถือว่าอยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างน้อย
ข้อคิดเห็นอื่น ๆ

สคต. เห็นว่าการฟื้นตัวทางภาวะเศรษฐกิจหลังภาวะอุทกภัยนั้น จะขึ้นอยู่กับศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้า ระบบการขนส่ง สาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งหากระบบต่าง ๆ สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ไทยก็จะสามารถกลับมาผลิตสินค้าและส่งออกได้อย่างเดิม ทั้งนี้ สินค้าไทยนับว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการ/นำเข้าแคนาดายังคงชื่นชอบในสินค้าไทยแล้วนั้น สคต. เห็นว่าผู้ประกอบการ/นำเข้าแคนาดาจะยังคงนำเข้าสินค้าไทยต่อไปในอนาคต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ