รายงานตลาดสินค้าอาหารในสเปน มกราคม ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. การส่งออก-นำเข้าสินค้าอาหารของสเปน
  • สเปนเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารมูลค่าสูงเป็นอันดับสามของสหภาพยุโรป รองจากฝรั่งเศสและอิตาลี โดยในปี ๒๕๕๓ ฝรั่งเศสส่งออกสินค้าอาหารมูลค่ารวม ๓๓,๙๒๗ ล้านยูโร อิตาลีส่งออก ๑๘,๕๒๕ ล้านยูโร และสเปนส่งออกมูลค่า ๑๖,๗๗๖ ล้านยูโรตามลำดับ
  • สินค้าอาหารที่สเปนส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ ส้มและผลไม้ในตระกูลส้มอื่นๆ น้ำมันมะกอก เนื้อหมูสดแช่เย็น แช่แข็ง ผักสดชนิดต่างๆ และมะเขือเทศสด ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และโปรตุเกส
  • สินค้าอาหารที่สเปนนำเข้า ๕ อันดับแรก ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวสาลีและธัญพืช และหัวบีทสำหรับทำน้ำตาล ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศในอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ และประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ขณะที่สเปนนำเข้าถั่วเหลืองสัดส่วนร้อยละ ๒๔จากประเทศสหรัฐอเมริกา
๒. ข้อมูลตลาด
  • ผู้ค้าปลีก/ส่งสินค้าอาหารของสเปน รายใหญ่ของสเปนมีจำนวน ๑๐ บริษัทตามลำดับ คือ Mercadona, Carrefour Group, Eroski Group, Auchun, El Corte Ingles, Lidl Supemaket, Dinosol, Consum, Makro และ Ahorramas.
  • Mercadona เป็นบริษัทที่มียอดขายสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่สาม โดยมียอดขายในปี ๒๕๕๓ รวม ๑๔.๒ พันล้านยูโร ส่วน Carrefour Group มียอดขายสูงเป็นอันดับสองโดยมียอดขายในปี ๒๕๕๓ รวม ๑๓.๘ พันล้านยูโร ขณะที่บริษัทที่มียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆได้แก่ Eroski Group ซึ่งมียอดขายรวม ๘.๑พันล้านยูโร โดยทั้งสามบริษัทถือครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของยอดค้าปลีกสินค้าอาหารในสเปน
๓. ช่องทางการจำหน่าย
  • จากการสำรวจข้อมูลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมของสเปน จากธุรกิจค้าปลีก 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ซุปเปอร์มาเก็ตไฮเปอร์มาเก็ต และร้านค้าย่อย ในปี ๒๕๕๒ ชาวสเปนร้อยละ ๔๗ นิยมซื้อสินค้าจากซุเปอร์มาเก็ตซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๒ จากปี ๒๕๓๘ ขณะที่ชาวสเปนส่วนใหญ่ยังคงนิยมซื้อสินค้าอาหารสดจากร้านค้าใกล้บ้านถึงร้อยละ ๔๘ และความนิยมในการซื้อสินค้าอาหารจากไฮเปอร์มาเก็ตซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ๘,๐๐๐ ตร.ม. ต่อสาขายังคงจำกัดอยู่ที่ร้อยละ ๑๖.๑
  • ธุรกิจค้าปลีก

Mercodona, Carrefour, Eroski, Auchen และ El Corte Ingles จัดซื้อสินค้าผ่านบรัษัทจัดซื้อของตนเอง ส่วนผู้ค้าปลีกรายขนาดกลางส่วนใหญ่จัดซื้อผ่านบริษัทร่วมทุนของตนทั้งในสเปนและสหภาพยุโรป

๔. ผู้บริโภคชาวสเปน
  • ชาวสเปนให้ความสำคัญต่อความสดของอาหารที่ตนเองบริโภค แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชาวสเปนจึงหันมาบริโภคอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งมียอดขายสูงขึ้น
  • นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกของสเปนทั้งขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กต่างหันมาจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองในราคาประหยัดกว่าแบรนด์ที่มีอยู่เดิมมากขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวสเปนที่ต้องการประหยัดในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จนปัจจุบันสัดส่วนการตลาดของสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนสูงถึงร้อยละ ๓๙
  • ชาวสเปนบริโภคอาหารแยกเป็นสัดส่วนได้ดังนี้ เนื้อสัตว์แช่เย็นแช่แข็งร้อยละ ๒๓ ปลาชนิดต่างๆร้อยละ ๑๓ ผักและผลไม้สดร้อยละ ๙ มันฝรั่งร้อยละ ๑๑ ขนมปังร้อยละ ๗ และน้ำผลไม้ร้อยละ ๑๐ ผลิตภัณฑ์นมร้อยละ ๘ อาหารสำเร็จรูปร้อยละ ๓ และน้ำมันมะกอกร้อยละ ๑ นอกจากนี้ชาวสเปนนิยมบริโภคไข่ไก่ถึงคนละ ๑๗๑ กิโลกรัมต่อปี
  • ชาวสเปนนิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน โดยนิยมอาหารสเปนร้อยละ ๖๐ อาหารอิตาเลี่ยนร้อยละ ๑๒ อาหารจีนร้อยละ ๗ แลอาหารญี่ปุ่นร้อยละ ๕ ขณะที่อาหารไทยยังเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย โดยปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในกรุงมาดริดเพียง ๕ ร้าน และ ๒๐ ร้านทั่วประเทศ
๕. สถิติการส่งออกสินค้าอาหารไทยไปยังสเปน

สินค้าอาหารที่ไทยส่งออกมายังสเปนประกอบด้วยสินค้าหลัก ๖ รายการ คือ ปลากระป๋อง กุ้งแช่แข็ง ผลไม้แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และน้ำผลไม้ ตามลำดับ โดยในปี ๒๕๕๓ สินค้าทั้ง ๖ รายการมียอดส่งออกรวม ๑๓๒.๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๒.๕ ขณะที่ในช่วง ๙ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ สินค้าทั้ง ๖ รายการมีมูลค่าการส่งออกรวม ๑๓๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๖. มาตรการด้านการนำเข้าด้านภาษีและมิใช่ภาษี

มาตรการภาษี
  • ภาษีนำเข้าสินค้าอาหารของสเปนภายใต้สหภาพยุโรป เฉลี่ยร้อยละ ๐ เช่น ตับห่าน น้ำดื่มบรรจุขวด ถึงร้อยละ ๒๔ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทสินค้า โดยสินค้าบางรายการได้ลดหย่อนภาษีภายใต้โครงการ GSP และมีการกำหนดโควตาการนำเข้าในสินค้าบางรายการ เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นต้น
  • ภาษีการค้า (VAT) เฉลี่ยร้อยละ ๑๘ ยกเว้นสินค้าอาหารบางประเภท เช่น ผักและผลไม้สดร้อยละ ๔ อาหารแปรรูปร้อยละ ๘ และเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ร้อยละ ๑๘
มาตรการที่มิใช่ภาษี
  • สเปนนับเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าอาหารในระดับสูง สินค้าอาหารที่นำเข้าต้องผ่านการตรวจอย่างเข้มงวดและจะต้องมีเอกสารรับรองอย่างถูกต้อง ทั้งในด้านคุณภาพ สุขอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ที่ผลิตสำหรับมนุษย์ ภายใต้ระเบียบทั้งของสเปนเองและระเบียบของสหภาพยุโรป
๗. SWOT ANALYSIS

Strengths

  • สินค้าอาหารไทยเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพ และมีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
  • ผู้ส่งออกไทยได้รับการยอมรับในด้านความน่าเชื่อถือ
  • มีสินค้าหลากหลาย

Weaknesses

  • ชาวสเปนยังคงรู้จักสินค้าอาหารจากไทยน้อยเนื่องจากมีสินค้าแบรนด์ไทยวางขายในธุรกิจค้าปลีกน้อย
  • ราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
  • ค่าขนส่งสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าผักและผลไม้สดซึ่งต้องส่งทางอากาศ

Opportunities

  • ชาวสเปนซึ่งแต่เดิมมีลักษณะนิสัยค่อนข้างอนุรักษ์นิยมได้เริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อการบริโภคสินค้าและบริการแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของอาหารไทย
  • ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของสเปนเริ่มให้ความสนใจในการกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารต่างชาติมากยิ่งขึ้น
  • ธุรกิจด้านอาหารยังคงไปได้ดีในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่งผลให้การลงทุนในด้านธุรกิจอาหารยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

Threats

  • การแข่งขันสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดค้าปลีกสินค้าอาหาร
  • มาตราการด้านการนำเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มิใช่ภาษี
  • สภาพเศรษฐกิจสเปนยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะใกล้
๘. ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมของสำนักงาน
  • สเปนประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นปีที่สาม จากปัญหาหนี้สินภาครัฐ ปัญหาการตกงานที่มีจำนวนคนตกงานสูงที่สุดในสหภาพยุโรป และปัญหาฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยรัฐบาลปัจจุบันนำโดยนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฆอย ซึ่งเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ได้ออกนโยบายแก้ไขปัญหาโดยการตัดลดงบประมาณลงถึง ๘,๙๐๐ ล้านยูโร และเพิ่มรายได้จากการเพิ่มภาษีเงินได้ แต่หลายฝ่ายยังคงวิเคราะห์ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังซึ่งรัฐบาลยังคงจะต้องมีนยโยบายเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของสเปนจะยังคงอยู่ในภาวะชะงักงันต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปี ๒๕๕๕
  • แหล่งรายได้หลักของสเปนยังคงมาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง สเปนยังคงเป็นประเทศหลักที่ส่งสินค้าอาหารไปยังคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรป ขณะที่แหล่งนำเข้าหลักของสเปนยังคงมาจากประเทศในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บราซิล อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ และชิลี ที่ผ่านมาสินค้าอาหารจากไทยยังคงเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย จึงยังคงต้องประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ทั้งในด้านคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้สินค้าอาหารของไทยให้ชาวสเปนรู้จักมากยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ