มณฑลยูนนาน (YUNNAN)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2012 16:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หยุนหนาน** มีความหมายว่า ตอนใต้ของเทือกเขา Yunling

*** มณฑลหยุนหนาน มีชื่อย่อว่า “หยุน” หรือ “เตียน” เป็นมณฑลจีนที่อยู่ตั้งอยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด จึงได้รับการวางตำแหน่งจากรัฐบาลจีนให้เป็น “ประตูสู่ภาคตะนตกเฉี่ยงใต้ของจีน”

  • หยุนหนานแบ่งเขตปกครองออกเป็น 26 จังหวัด/เมือง 109 อำเภอ/อำเภอปกครองตนเอง และ 759 เทศบาลตำบล
  • ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา โดยภาคตะวันตกเฉียงเหนือจะยกตัวสูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงใต้ สามารถวัดระดับจากยอดเขาที่สูงสุดมายังหุบเขาที่เป็นแม่น้ำเบื้องล่างได้ถึง 3,000 เมตร โดยมียอดเขาข่าเก๋อป๋อ (Kagebo) ของเทือกเขาหิมะเหมยหลี่ (Meili) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด โดยสูงถึง 6,740 เมตร ส่วนพื้นที่ที่ต่ำที่สุดอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหงเหอ (Honghe River Valley) เพียง ๗๖ เมตร ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกของมณฑล
  • หยุนหนานมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำจินซาเจียง (Jinshajiang) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฉางเจียงไหลผ่านทางตอนเหนือของหยุนหนาน แม่น้ำจูเจียง (Zhujiang) อยู่ใกล้กับเมืองชวีจิ้ง (Qujing) ก่อนไหลผ่านมณฑลต่างๆ ไปยังชายฝั่งทางตะวันออกของจีน แม่น้ำหลานชาง (Lancang) หรือแม่น้ำโขง ซึ่งไหลมาจากทิเบต ผ่านหยุนหนาน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำหงเหอหรือแม่น้ำหยวน (Honghe/Yuan) ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาทางใต้ของเมืองต้าหลี่ (Dali) ผ่านกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และไหลสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำนู่เจียง (Nujiang) หรือแม่น้ำสาละวิน ซึ่งไหลผ่านพม่าลงสู่ทะเลอันดามัน และแม่น้ำตูหลงเจียง (Dulongjiang) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำอิระวดี ไหลผ่านเมืองเต๋อหง (Dehong) ทางตะวันตกของหยุนหนาน
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง      :                    ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

พรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ลาว พม่า เวียดนาม

พรมแดนติดต่อกับมณฑลเสฉวน กุ้ยโจว เขตปกครองตนเองทิเบต

และเขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง

พื้นที่      :                    394,100 ตารางเมตร (มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของจีน)
เมืองเอก  :                    นครคุนหมิง (Kun Ming)
ประชากร (2010) :              45,966,239 คน
ชนชาติ          :              Han 67%, Yi 11%, Bai, Hani, Zhuang, Dai, Miao, Hui
เลขาธิการพรรคฯ  :              Mr. Qin Guangrong
ผู้ว่าการฯ        :              Mr. li Jiheng
งานแสดงสินค้า    :              The China Kunming Import & Export Commodities Fair,

Kunming (Kunming Fair)

The Xishuangbanna Border Trade & Tourism Fair,

JInghong, Xishuangbanna (Xishuangbanna Fair)

(กรมฯ เข้าร่วม ทั้ง 2 งาน)

GDP (ไตรมาสแรกปี2011):         173,908 ล้านหยวน จัดเป็นอันดับที่ 24 ของจีน

(ไม่นับรวมไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า)

เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกปี 2010 ร้อยละ 12.5

GDP/Capita (2010)    :        2,327 ล้านหยวน จัดเป็นอันดับที่ 30 ของจีน

เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 3.7

อัตราการว่างงาน        :        4.21 %
เมืองสำคัญ             :        คุนหมิง ลี่เจียง สิบสองปันนา ต้าหลี่ หวี่ซี เต๋อหง รุ่ยลี่ เหอโข่ว
ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ :     GMS (ข้อตกลงอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง)
ด่านการค้าระหว่างประเทศ :

ในมณฑลยูนนานมีด่านระดับประเทศ 11 แห่ง และระดับมณฑล 9 แห่งที่สำคัญ คือ

1. Kunming International Airport

2. Xishuangbanna Airport

3. Ruili Land Port

4. Hekou Land Port

5. Tianbao Land Port, Mohan Land Port

6. Wanding Land Port

7. Jinghong Water Port

8. Simao Water Port

9. Guanlei Water Port

Hekou Land Port เขต Hekou อยู่ทางด้านใต้ของมณฑลใน Honghe Hani and Yi Automous Prefecture ตรงข้ามประเทศเวียดนาม (ด่าน Lao Cai)

Ruili Land Port อยู่ด้านตะวันตกของยูนนานใน Dehong Dai and Jingpo Autonomous Prefecture ตรงข้ามชายแดนด้านพม่า (Stilwell Highway) พรมแดนยาว 141 กิโลเมตร Ruili เป็นเมืองชายแดนที่สำคัญตั้งแต่อดีตเป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นด่านการค้าสำคัญระหว่างจีนกับพม่า

Xishuangbanna สนามบินเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา อยู่ห่างจากเมืองจิ่งหง (เชียงรุ่ง) ประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันมีสายการบิน Chin Eastern Airline (MU) ทำการบินระหว่าง คุนหมิง - จิ่งหง — กรุงเทพฯ

Kunming International Airport สนามบินคุนหมิงเป็น 1 ใน 5 สนามบินแรก ที่ทำการบินระหว่างประเทศ สนามบินตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของนครคุนหมิง เมืองเอกมณฑลยูนนาน สายการบินระหว่างประเทศทำการบินระหว่างเมือง กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ แมนดาเลย์ ฮานอย ย่างกุ้ง นิวเดลลี เวียงจันทน์ โซล โตเกียว โอซากา ฮ่องกง มาเก๊า และไทเป

การก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของมณฑลยูนนานมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2555 และจะมีกำหนดการเปิดใช้ประมาณไตรมาสแรกของปี โดยใช้ชื่อว่าสนามบินนานาชาติคุนหมิงฉางซุย (KUNMING CHANGSHUI INTERNATIONAL AIRPORT) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านฉางซุย (Chang Shui) เขตกวนตู้ (Guan Du) ห่างจากตัวเมืองนครคุนหมิงประมาณ 24.5 กิโลเมตร และตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ซึ่งจะเป็นสนามบินที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

สนามบินแห่งนี้จะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจีนตอนใต้และตะวันตกกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และยูเรเชียน การก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่นี้เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติจีนฉบับ 11 ครั้งที่ 5 และเป็น 1 ใน 20 ของโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สำคัญของมณฑลยูนนาน ใช้เงินลงทุนกว่า 23,000 ล้านหยวน สามารถรองรับผู้โดยสารภายในปี 2020 ถึง 38 ล้านคน และรองรับภาคการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 950,000 ตัน มีเที่ยวบินได้ประมาณ 300,000 เที่ยว ในระยะยาวมีการวางแผนการจัดสรรและควบคุมการใช้ที่ดินประมาณ 22.97 ตารางกิโลเมตรรอบสนามบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านโลจิสติกส์ ตัวสนามบินมีการก่อสร้างรันเวย์สองด้านขนานกันยาวกว่า 4 กิโลเมตร โดยรันเวย์ทางด้านทิศตะวันตกมีความกว้าง 45 เมตร และรันเวย์ทางด้านทิศตะวันออกมีความกว้าง 60 เมตร สนามบินแห่งนี้ใช้การก่อสร้างตามระดับมาตรฐานการบินสากล สามารถจอดเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ เครื่องแอร์บัส A380 ได้

ด่านทางน้ำแม่น้ำโขง

  • Jinghong Water Port
  • Simao Water Port
  • Guanlei Water Port
การค้าระหว่างไทย — ยูนนาน :

1. ช่วงไตรมาสแรกปี 2011 มูลค่าการค้าระหว่างมณฑลยูนนาน - ประเทศไทยเท่ากับ 142.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 153.55

  • มูลค่าการส่งออกไปยังไทยเท่ากับ 80.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 77.99
  • มูลค่าการนำเข้าจากไทยเท่ากับ 61.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 469.33

2. ปี 2010 มูลค่าการค้าระหว่างมณฑลยูนนาน - ประเทศไทยรวมเท่ากับ 463.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.6

  • มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศไทยของมณฑลยูนนาน เท่ากับ 332.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.2
  • มูลค่าการนำเข้าจากประเทศไทยของมณฑลยูนนาน เท่ากับ 130.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 295.16

*** ไทยขาดดุลการค้ากับมณฑลยูนนานเท่ากับ 201.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ***

เศรษฐกิจของยูนนาน :

1. มณฑลยูนนานพึ่งพาอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท คือ ยาสูบ (บุหรี่) เกษตร เหมืองแร่ และการท่องเที่ยว ยูนนานเป็นมณฑลที่มีสินแร่ทางธรรมชาติจำนวนมาก ได้แก่ ฟอสฟอรัส เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง นอกจากอุตสาหกรรมหลักข้างต้น ยูนนานยังมีอุตสาหกรรมอื่น อีก เช่น รถยนต์ เคมี ปุ๋ย สิ่งทอ

2. สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด พืชน้ำมัน มันเทศ ถั่วเหลือง ชา น้ำตาลทราย ใบยาสูบ ฝ้าย ปศุสัตว์ เห็ดและกาแฟ (อาราบิกา) โดยผัก ผลไม้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยก็มาจากมณฑลยูนนานเป็นส่วนใหญ่

ตารางที่ 1 : สินค้า 10 อันดับแรกที่มณฑลยูนนานส่งออกไปไทยช่วงไตรมาสแรกปี 2011
อันดับ                     ประเภทสินค้า                         มูลค่าการค้า
1             ไดแอมโมเนียมไฮโดรเจนฟอสเฟส
              (Diammonium Hydrogen Phosphate)           16.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2             กระเทียมแห้ง                                9.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3             กระเทียมสดและแช่เย็น                         6.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
4             บล็อกโครีสดและแช่เย็น                          6.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5             ถั่วลันเตาสดและแช่เย็น                         4.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
6             ผงทำจากรากพืช                              4.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
7             ผักสดที่ไม่แช่เย็น                              3.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
8             สารประกอบแอมโมเนียมไดไฮโดรเจนฟอสเฟส
              กับไดแอมโมเนียมไฮโดรเจนฟอสเฟส               2.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
9             กรดฟอสฟอรัสที่ใช้ประกอบอาหาร                  1.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
10             Calcium Hydrogen Phosphate               1.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


ตารางที่ 2 : สินค้า 10 อันดับแรกที่มณฑลยูนนานนำเข้าจากไทยช่วงไตรมาสแรกปี 2011
อันดับ                      ประเภทสินค้า                                   มูลค่าการค้า
1             ยางผสมขั้นต้น (ยังไม่ผ่านกรรมวิธี Vulcanization)           38.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2             ยางผสมสารคาร์บอนหรือหินควอทซ์
              (ยังไม่ผ่านกรรมวิธี Vulcanization)                      36.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3             เคมีภัณฑ์                                              3.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
4             ดอกไม้                                               2.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5             สินแร่อันติโมนี                                         0.462 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
6             สินแร่ตะกั่ว                                            0.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
7             Light Diesel Oil                                     0.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
8             สินแร่โลหะที่ยังไม่ได้หล่อม (เม็ด < 0.8 mm)                  0.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
9             พืชที่ใช้สำหรับผลิตยา                                     0.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
10            ไม้ซุง                                               0.135 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เส้นทางการขนส่งที่สำคัญ :
  • ทางแม่น้ำโขง - ท่าเรือในจีน Simao, Jinghong, Menghan และ Guanlei ในไทย คือ เชียงแสน และเชียงของ
  • ทางเครื่องบิน - การบินไทย (TG) และ China Eastern Airline (MU) สัปดาห์ละ 5-10 เที่ยว
  • ทางถนน - เส้นทางคุนมั่นกงลู่ (R3A) ผ่านสปป. ลาว และ (R3B) ผ่านประเทศพม่า เส้นทางคุนมั่นกงลู่อยู่ใน ความสนใจของภาครัฐและเอกชนที่จะส่งเสริมให้มีการใช้เส้นทางถนนมากขึ้น
การเข้าตลาดจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้

เนื่องจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทยและมณฑลยูนนาน ในอดีตจนถึงปัจจุบันจึงมีนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายเดินทางไป-มาเพื่อทำการค้าและการลงทุนระหว่างกันจำนวนมาก โดยมีรายละเ อียดพอสรุปได้ ดังนี้

1. ธุรกิจไทยขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในมณฑลยูนนาน อาทิ

  • บริษัท ซีพี ได้เข้ามาลงทุนด้านอาหารสัตว์ในนครคุนหมิง และดอกไม้ในเมืองสิบสองปันนา
  • บริษัท อีซีไอ เมโทร ตัวแทนจำหน่ายรถ Caterpillars
  • บริษัทสหยูเนียน ลงทุนด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า
  • การทำนิคมอุตสาหกรรมในเมืองสิบสองปันนา
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

2. ธุรกิจไทยขนาดกลางและขนาดเล็ก แยกตามประเภทต่างๆ มีดังนี้

  • ธุรกิจร้านอาหารไทย ร้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักสามารถแยกตามขนาดใหญ่ (250 - 500 ที่นั่ง) จำนวน 2 ร้าน ได้แก่ ร้านมูนไลท์คอร์เนอร์ และร้านเยาวราช ขนาดกลาง (100 - 200 ที่นั่ง) ได้แก่ ร้านสุโขทัย ร้านโลตัสไทย ร้านไล้เค้อบาหลี ร้านบางกอกอิมเพรสชั่น และยังมีร้านขนาดเล็ก (50 - 100 ที่นั่ง) อีกกว่า 20 ร้าน
  • ธุรกิจนำเข้าสินค้าอาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป
  • ธุรกิจนำเข้าสินค้าเครื่องประดับและของตกแต่งบ้าน
  • โรงงานผลิตว่านหางจระเข้บรรจุกระป๋อง
  • โรงงานผลิตข้าวโพดหวาน
การลงทุนของนักธุรกิจไทย/จีนในมณฑลยูนนาน :

ผู้ประกอบการรายย่อยทำธุรกิจในศูนย์กระจายสินค้าไทย ณ ศูนย์การค้าหยุนฝั่ง โดยมีพื้นที่ที่จำหน่ายสินค้าไทย 1,000 ตารางเมตร สินค้าที่มีการจำหน่าย อาทิเช่น อาหารสำเร็จรูป สินค้าโอทอป เครื่องแก้วและเซรามิค ของใช้-ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับอื่นๆ

บริษัทรามคำแหง โดยนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อจัดทำเป็น Little Thai Town ในศูนย์การค้าส่งนานาชาติหลั่วซื่อวาน เป็นพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร ภายในพื้นที่ดังกล่าวได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 250 ตารางเมตร จัดสรรให้โครงการหลวงมาจำหน่ายสินค้าในโครงการ

Yiren Guzhen ผู้ประกอบการไทยได้ขอเช่าพื้นที่เป็นร้านค้าภายในเมืองโบราณชนชาติอี๋จำนวน 50 ร้านค้า เพื่อจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และของฝากของขวัญ สปา ภัตตาคาร อื่น ๆ

บริษัท ทีซีซี แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ลงทุนซื้อและเข้ามาบริหารโรงแรมจำนวน 2 แห่งในนครคุนหมิง ได้แก่ Sakura Hotel และ Bank Hotel และที่เมืองลี่เจียงอีก 1 แห่ง นอกจากนั้น ได้ซื้อกิจการโรงงานผลิตเหล้าขาวในเมืองหวี่ซี อีก 1 แห่ง

บริษัท น้ำตาลมิตรผล ได้เข้ามาเปิดสำนักงานเพื่อดำเนินธุรกิจและสำรวจลู่ทางการขยายช่องทางทางธุรกิจ

นักธุรกิจจีนจากมณฑลยูนนานที่เข้าไปลงทุนในประเทศไทย อาทิ

การทำเหมืองแร่ ได้แก่ แร่ Antimony

การทำสวนยางในภาคเหนือของประเทศไทย

การทำโรงงานลำใยอบแห้ง (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา)

การทำโรงงานยางพาราที่จังหวัดเชียงราย

ธุรกิจโรงแรม (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

ประเด็นการค้าและสรุปสภาพทางเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน

มณฑลยูนนานตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ไม่มีพื้นที่ออกสู่ทะเลได้ ยูนนานมีความสำคัญกับประเทศไทยและประเทศอาเซียน เนื่องจากถือเป็นมณฑลที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด การค้าระหว่าง 2 ประเทศจึงสามารถขนส่งสินค้าผ่านทางบก (ผ่านลาว) หรือขนส่งทางแม่น้ำ (แม่น้ำโขงผ่านลาวและพม่า)

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับมณฑลยูนนานในด้านโลจิสติกส์มาก เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับอาเซียนและเอเซียใต้ที่มีศักยภาพในการติดต่อการค้าระหว่างประเทศกับทั้ง 2 ภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการสร้างทั้งเส้นทางรถยนต์ และรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกับอาเซียนและเอเซียใต้ นอกจากนี้ จีนมีแผนที่จะเข้าไปสร้างท่าเรือน้ำลึกให้กับบังคลาเทศเพื่อเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าออกอีกด้วย

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของมณฑลยูนนาน 10 ประเทศเรียงตามลำดับ คือ พม่า ออสเตรเลีย เปรู สหรัฐอเมริกา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมัน ไทย และเม็กซิโก

สินค้าสำคัญที่ยูนนานนำเข้า ได้แก่ แร่ธาตุ เช่น ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว ฯลฯ สินค้าเกษตร ประมง อลูมิเนียมออกไซด์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

รัฐบาลกลางส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนออกไปลงทุนนอกประเทศ “Go-Out Strategy” มีส่วนสนับสนุนให้นักธุรกิจยูนนานเข้าไปลงทุนในพม่า เช่น เรื่องของ Hydropower และลงทุนในลาวในเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่และสินค้าเกษตร จากมาตรการดังกล่าว ปัจจุบันมีสายการบินบินจากนครคุนหมิงไปเมืองสำคัญๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ดูไบ ไต้หวัน (จากเดิมที่มี พม่า ลาว เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์)

นับตั้งแต่ปลายปี 2009 ต่อต้นปี 2010 ภาคตะวันตกของจีนประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ซึ่งรวมถึงมณฑลยูนนานด้วย ทำให้มีผลต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตรของมณฑล สินค้าเกษตรหลายชนิดขึ้นราคา เช่น ผักสด ผลไม้ เนื้อสด นม ฯลฯ ประมาณร้อยละ 5-10 และต่อเนื่องมาถึงปี 2011 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวแลดงหลักของสภาวะเงินเฟ้อของนครคุนหมิงเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.5 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2011 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดย CPI นี้สูงขึ้นอยู่ในระดับที่ 2 ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับได้ว่าสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคโดยเฉลี่ยของจีนร้อยละ 1 และสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคโดยเฉลี่ยของมณฑลยูนนานร้อยละ 0.5

ความสัมพันธ์ระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศไทยมีความใกล้ชิดและลึกซึ้ง โดยเฉพาะทางด้านการค้า ซึ่งภาครัฐของมณฑลยูนนานจะคำนึงถึงประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญ นอกจากนี้ ชนกลุ่มน้อยในมณฑล เช่น ชนชาติไต (ไท) ในสิบสองปันนา เป็นชนชาติเดียวกับคนไทยลื้อในภาคเหนือของประเทศไทย มีความคล้ายคลึงในด้านประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่โดยทั้งสองฝ่ายสามารถพูดภาษาไทยที่คล้ายคลึงกันได้

การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกโครงการด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในเส้นทางถนนระหว่างไทย-จีน น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การขอโควต้านำเข้าข้าวไทยจากส่วนกลาง

การสนับสนุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าและผลไม้แห่งใหม่ในนครคุนหมิง

นโยบาย “ป้อมหัวสะพาน”

นโยบาย “ป้อมหัวสะพาน” หรือภาษาจีนเรียกว่า “เฉียวโถวเป่า ” มีจุดเริ่มต้นมาจากการเยือนมณฑลยูนนานของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 และเห็นว่ามณฑลยูนนานมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น กล่าวคือมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกลุ่มอาเซียนถึง 3 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว และเวียดนาม จึงควรอาศัยจุดเด่นดังกล่าว ทำหน้าที่เสมือนเป็น “ป้อมหัวสะพาน” ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อเชื่อมโยงดินแดนจีนตอนใน (ไม่ติดกับประเทศอื่นๆ) กับประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการแสวงหาทางออกสู่ทะเล เป็นต้น

นโยบายป้อมหัวสะพานคืออะไร?
  • คำว่า “เฉียว” แปลว่า “สะพาน” มีความหมายแฝงว่า จะต้องพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม (เส้นทางถนน เส้นทางรถไฟ เส้นทางน้ำ และเส้นทางอากาศ) ภายในมณฑลยูนนานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสามารถเชื่อมโยงมณฑลอื่น ๆ ของจีนกับต่างประเทศ
  • คำว่า “โถว” แปลว่า “หัว” มีความหมายแฝงว่า จะต้องพัฒนาให้มณฑลยูนนานในอยู่ระดับแนวหน้า และพร้อมสำหรับการเปิดออกสู่นานาประเทศ
  • คำว่า “เป่า” แปลว่า “ป้อม” มีความหมายแฝงว่า มณฑลยูนนานมีจุดเด่นด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร จึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างศักพภาพของมณฑลยูนนานในการร่วมมือกับต่างประเทศ

ภารกิจสำคัญภายใต้นโยบาย “ป้อมหัวสะพาน” ได้แก่ การเร่งรัดพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทั้งเส้นทางถนน เส้นทางรถไฟ เส้นทางน้ำ และเส้นทางอากาศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (ปี 2011—2015) พร้อมกับการส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของด่านการค้าชายแดน และสนับสนุนให้วิสาหกิจต่างๆ “ก้าวออกสู่ต่างประเทศ ” มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มณฑลยูนนานพยายามเร่งพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยรัฐบาลมณฑลยูนนานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในมณฑลเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก่อสร้างเครือข่ายเส้นทางคมนาคม และผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เร่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ (1) เมืองรุ่ยลี่ ซึ่งติดต่อกับพม่า (2) ตำบลบ่อหานของเมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ซึ่งติดต่อกับลาว และ (3) อำเภอเหอโข่วของเขตปกครองหงเหอ ซึ่งติดต่อกับเวียดนาม ทั้งนี้ พื้นที่ 3 แห่งดังกล่าวเป็นเสมือน “ประตูสำคัญสามบานแรก” ของมณฑลยูนนานที่จะเปิดออกสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ดังนั้น มณฑลยูนนานจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับการก่อสร้างเครือข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีนครคุนหมิงเป็นศูนย์กลาง เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยตัดผ่านพื้นที่ทั้ง 3 แห่งดังกล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ