ภาวะตลาดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอในประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 20, 2012 13:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะตลาดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอในประเทศเยอรมนี

***********************************

ภาพรวมตลาด

ถึงแม้ประเทศเยอรมนีจะเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแต่ตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอจัดเป็นอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกที่สำคัญมากแขนงหนึ่งของประเทศ โดยมีสินค้าที่มียี่ห้อ แบรนด์สินค้า และ Designer เป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันแพร่หลายไปทั่วโลก ได้แก่ Boss, Hugo Boss, Bogner, Aigner, Camel Active, Jack Wolfskin, Marc O'Polo, Adidas, Mustang, Puma, Closed, Cinque เป็นต้น

ในอดีต อุตสาหกรรมนี้เคยมีจำนวนคนงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 200,000 คน กระจายตามโรงงานการผลิตมากกว่า 2,000 โรงงานทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีได้ลดจำนวนพนักงานลง เหลือจำนวนประมาณ 50,000 - 80,000 คนและได้ย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่ออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป(ยุโรปตะวันออก)และเอเชีย อันเนื่องมาจากอัตราค่าจ้างแรงงานในเยอรมนีที่แพงกว่าประเทศเหล่านั้นรวมถึงสภาพภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ถดถอยลงและการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการผลิตในประเทศเยอรมนีที่เหลืออยู่นั้น ส่วนใหญ่จัดเป็นสินค้าประเภท high tech, สินค้ามียี่ห้อ แบรนด์สินค้าและสินค้าแฟชั่นระดับบน ที่มีราคาแพงตลาดเสื้อผ้าของเยอรมนียังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องประชากรชาวเยอรมันยังคงซื้อสินค้ามากขึ้นและเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายในช่วงตอนลดราคา โดยเฉพาะการลดราคาในช่วงปลายปี ประกอบกับความมั่นใจของผู้บริโภคที่คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะดีขึ้น

ชาวเยอรมันมีพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้า โดยเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าเป็นอันดับแรกรองลงมาได้แก่ หน้าตาของสังคม การระคายเคืองต่อผิว และความปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

พฤติกรรมผู้บริโภค

ประชาชนชาวเยอรมันสมัยใหม่ จะแบ่งกลุ่มตามวิถีการดำรงชีวิตและสไตล์การแต่งตัว ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  • กลุ่ม Career-Oriented หมายถึงกลุ่มคนวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นผู้มีกำลังซื้อและมีช่วงระยะเวลาของการทำงานนานขึ้น (ปัจจุบันกำหนดปีเกษียณอายุคือ 67 ปี) สินค้า Fashionable Formal Office Outfits เช่น Suit สำหรับผู้หญิงและผู้ชายได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น
  • กลุ่ม Leisurewear หมายถึง กลุ่มคนชาวเยอรมันที่ให้ความสนใจกับคุณภาพชีวิตมากขึ้นและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สินค้าและบริการที่ได้รับการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco Label) ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านำมาสร้างเป็นจุดขาย สร้างรายได้และยอดขายดีกว่าสินค้าที่ไม่ติดฉลาก นอกจากนี้ชาวเยอรมันยังพิจารณาถึงเรื่องคุณภาพสินค้าและการสวมใส่ที่สบาย ดังนั้นผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ เช่น ช่วยควบคุมอุณหภูมิ ช่วยการระบายเหงื่อช่วยในการซักรีด ฯลฯ จะเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากขึ้น รวมถึงการที่บรรยากาศโลกร้อนขึ้น (Global Warming) ทำให้ทวีปยุโรปมีช่วงเวลาหน้าร้อนเพิ่มมากขึ้น เสื้อผ้าชุดลำรอง ใส่เพื่อยามพักผ่อนใช้ในการสันทนาการกลางแจ้งหรือชุดกีฬานั้น มียอดขายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจการเงินของยุโรปถดถอยลงส่งผลให้ชาวเยอรมันมีความระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสนใจกับสินค้าที่ราคาถูกลง แต่ยังคงพิจารณาราคาควบคู่ไปกับคุณภาพ

สินค้าที่เหมาะสมสอดคล้องกัน (Price-Quality Ratio) ชาวเยอรมันจะซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการลดราคาหรือช่วงระยะเวลาที่มีการส่งเสริมการขายเป็นพิเศษ และมีความนิยมใช้สินค้าที่มียี่ห้อ แบรนด์ต่างๆ ลดลง ตัวอย่างเช่น หากจะตัดสินใจซื้อสินค้ายี่ห้อแบรนด์ A ก็จะรอให้ลดราคาก่อนหรือจะค้นหาสินค้าราคาพิเศษตาม Internet, TV shopping ต่างๆ ส่งผลให้สินค้าราคาแพง Premium Priced Wear หรือ Designer Brand ขายได้ยากขึ้น

ยอดขายสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอในประเทศเยอรมนี ร้อยละ 80 - 85 ของยอดขายทั้งหมด มาจากร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น แยกประเภทร้านค้าออกได้เป็น 3 ระดับ คือ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า (Designer Brand เช่น Hugo Boss, Aigner, Bogner, Gerry Weber) ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าราคากลาง (Mid-Priced Retailer เช่น H&M, C&A, Reno) และร้านค้าปลีกเสื้อผ้าราคาถูก (Discounter เช่น Kik, Takko, Aldi, Lidl)

แนวโน้มสินค้าและผลิตภัณฑ์

เสื้อผ้าสุภาพบุรุษได้รับความสนใจจากชาวเยอรมันเพิ่มมากขึ้น มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 สินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้ากีฬา การเกงยีนส์สีสันสดใส และสูททำงานต่างๆ โดยนิยมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมตามฤดูกาล ทั้งนี้ผู้ชายอายุประมาณ 25-45 ปี จะให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าแฟชั่นมากขึ้น โดยมีแนวโน้มการใส่เสื้อ Jacket หรือเสื้อสูทชนิดผ้าบางใส่เป็นชุดลำรอง หรือหมายถึงการใส่เสื้อ Jacket ร่วมกับกางเกงยีนส์เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีลักษณะค่อนข้างเรียบ ไม่หวือหวา แต่แลดูทันสมัยและมีดีไซน์

สำหรับสินค้าเสื้อผ้าสุภาพสตรีนั้น ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2554 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.2 สินค้าที่นิยมและได้รับความสนใจจากสตรีชาวเยอรมันเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าชุดทำงาน ชุดสูท เนื่องจากสตรีชาวเยอรมันต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นจัดเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในเรื่องเสื้อผ้าและแฟชั่นเป็นอย่างมาก โดยต้องการเอกลักษณ์ ความสง่างาม โดดเด่นและมีสไตล์เป็นของตนเอง โดยสินค้าชุดสูททำงานของสุภาพสตรี มีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4.7

แนวโน้มสินค้าเสื้อผ้าสุภาพสตรี ในปี 2555 - 2556 ที่เป็นแฟชั่นมาแรงในขณะนี้ สามารถแยกออกเป็นแฟชั่นต่างๆ ดังนี้

1. แนวย้อนยุค 20's Flapper ใช้ลายเป็นส่วนประกอบและตกแต่งด้วย Metalic ชุดเสื้อผ้าเป็นแบบไม่มีคอปก กระโปรงมีระบาย

2. แนวลายพิมพ์ดอกไม้ โดยพิมพ์ชุดลายดอกไม้โรแมนติกลงบนกางเกงและกระโปรง เน้นความอ่อนหวาน งดงาม

3. แนวลายพิมพ์แบบฮาวาย ใช้สีที่แรงจัดจ้าน พิมพ์ลายดอกไม้เขตเมืองร้อน

4. แนวฮิปปี้ ส่วนใหญ่เป็นกางเกงยีนส์ขาสั้น กระโปรง Maxi

5. แนวชุดกีฬา รับแฟชั่นโอลิมปิคที่กรุงลอนดอนปี 2555 แยกเป็นลวดลายของธงชาติประเทศต่างๆ

สำหรับสินค้าเสื้อผ้าของวัยรุ่นเยอรมัน ยังคงตามแฟชั่นจากดารานักร้องจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ขณะนี้นิยมสไตล์ Trashy, Urban และ Young business man เป็นต้น

สินค้าสิ่งทอและผ้าผืน ชาวเยอรมันยังคงนิยม ผ้าผืนงานฝีมือ handicraft ที่มีลวดลายอ่อนช้อย งดงาม มีเอกลักษณ์ และโดดเด่น โทนสีที่เรียบง่าย สีอ่อนและนุ่มนวลยังคงเป็นโทนสีหลัก การนำเข้าสินค้าเสื้อผ้า สิ่งทอของประเทศเยอรมนี

จากสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของประเทศเยอรมนี แยกตามพิกัดสินค้า H.S. Code สามารถเรียงลำดับมูลค่าการนำเข้าจากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้

1. เครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์(พิกัด H.S. 62) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 16,958.13 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 19,367.71 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.54 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3,612.81 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.93 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศจีน(ร้อยละ 29.07) ตุรกี(ร้อยละ 6.36) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 6.36) บังคลาเทศ(ร้อยละ 5.93) โปแลนด์(ร้อยละ 5.20) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.33) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 33 ของประเทศเยอรมนี

2. เครื่องแต่งกายที่ถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์(พิกัด H.S. 61) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 16,080.65 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 18,226.03 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.45 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 2,876.98 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.77 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศจีน(ร้อยละ 23.67) ตุรกี(ร้อยละ 13.62) บังคลาเทศ(ร้อยละ 11.12) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 6.32) อิตาลี(ร้อยละ 4.88) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.77) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 24 ของประเทศเยอรมนี

3. เส้นใยประดิษฐ์ (พิกัด H.S. 54) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1,819.91 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,118.68 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 296.07 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.24 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศอิตาลี(ร้อยละ 17.48) เนเธอร์แลนด์(ร้อยละ 13.71) จีน(ร้อยละ 10.67) เบลเยี่ยม(ร้อยละ 5.27) สวิตเซอร์แลนด์(ร้อยละ 5.29) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.40) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 27 ของประเทศเยอรมนี

4. ฝ้าย (พิกัด H.S. 52) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1,333.85 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,715.69 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.14 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 477.25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.54 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศอิตาลี(ร้อยละ 16.71) ตุรกี(ร้อยละ 10.03) ปากีสถาน(ร้อยละ 9.06) อินเดีย(ร้อยละ 7.50) ออสเตรีย(ร้อยละ 7.26) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.95) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 19 ของประเทศเยอรมนี

5. ผ้าผืนถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ (พิกัด H.S. 60) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 570.42 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 675.50 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.05 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 131.16 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.09 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศอิตาลี(ร้อยละ 28.71) ออสเตรีย(ร้อยละ 11.64) จีน(ร้อยละ 7.43) มัลต้า(ร้อยละ 6.15) ตุรกี(ร้อยละ 4.85) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.11) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 31 ของประเทศเยอรมนี

6. ไหม (พิกัด H.S. 50) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 94.06 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 109.14 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.01 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 18.99 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.06 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศจีน(ร้อยละ 49.12) อิตาลี(ร้อยละ 29.15) อินเดีย(ร้อยละ 10.66) สวิตเซอร์แลนด์(ร้อยละ 3.70) ออสเตรีย(ร้อยละ 2.31) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.14) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 15 ของประเทศเยอรมนี

ตาราง - การนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของประเทศเยอรมนี แยกตามประเภทสินค้าสำคัญต่างๆ
     ประเภทสินค้า                         มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)                สัดส่วน (ร้อยละ)      อัตราการ
                                  2552         2553           2554     2552    2553    2554   ขยายตัว(ร้อยละ)
สินค้าทุกชนิดจากทั่วโลก           923,833.49  1,054,823.82  1,254,485.58   100.00  100.00  100.00     18.93
1.เครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ถักแบบนิต    15,751.78     15,754.90     19,367.71     1.70    1.49    1.54     22.93
หรือแบบโครเชต์ (H.S. 62)
2.เครื่องแต่งกายที่ถักแบบนิตหรือ     14,670.83     15,349.05     18,226.03     1.59    1.46    1.45     18.77
แบบโครเชต์ (H.S. 61)
3.เส้นใยประดิษฐ์ (H.S. 54)       1,518.44      1,822.61      2,118.68     0.16    0.17    0.17     16.24
4. ฝ้าย (H.S. 52)              1,047.42      1,238.44      1,715.69     0.11    0.12    0.14     38.54
5. ผ้าผืนทักแบบนิตหรือแบบโคเชต์       491.43        544.34        675.50     0.05    0.05    0.05     24.09
(H.S. 60)
6. ไหม (H.S. 50)                 82.89         90.15        109.14     0.01    0.01    0.01     21.06
ที่มา- world trade atlas

การส่งออกจากไทยเข้าสู่ประเทศเยอรมนี
          สำหรับในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืนและด้ายเข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 201.08 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 24.39 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.80 สินค้าไทยที่ส่งออกเข้าสู่ประเทศเยอรมนี เรียงมูลค่าจากมากไปหาน้อย ได้แก่
          1. เสื้อผ้าสำเร็จรูป ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 161.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.58 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  3 ของไทย แบ่งเป็นสินค้า
             1.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากใยประดิษฐ์ ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  4 ของไทย
             1.2 เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้ายในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้สู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 52.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.26 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 14.95 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  3 ของไทย ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ลดลงสืบเนื่องมาจากการผันผวนของราคาฝ้ายและการขาดแคลนฝ้ายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2555
             1.3 เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากวัสดุทออื่นๆ ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 39.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.48 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  5 ของไทย
             1.4 เครื่องยกทรงรัดทรงและส่วนประกอบในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 15.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.28 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.84 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  7 ของไทย
          2. ผ้าผืนและด้าย  ปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้สู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 40.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.68 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.77 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  24 ของไทย แบ่งเป็นสินค้า
             2.1 ผ้าผืนในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 32.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.23 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.69 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  18 ของไทย
             2.2 ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 7.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.45 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.14 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  24 ของไทย ที่มา- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยความร่วมมือของกรมศุลกากร

ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอในประเทศเยอรมนี
          ประเทศเยอรมนีนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอจากต่างประเทศ และมีช่องทางการจัดจำหน่าย จำแนกได้ 4 ช่องทาง ดังนี้
          1. ตัวแทนนำเข้า เป็นผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะ เพื่อส่งมอบให้แก่ร้านค้าปลีกและผู้ค้าส่งรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจ Mail Order และร้านค้าประเภท Hypermarket เป็นต้น สำหรับสินค้าที่อยู่ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ตัวแทนนำเข้าจะมีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะสินค้าเสื้อผ้าที่มีแบรนด์ ยี่ห้อดังๆ นั้น มักจะไม่วางจำหน่ายตามร้านขายปลีกทั่วไป จะขายสินค้าเฉพาะในร้านบางแห่งเท่านั้นและเป็นการจำหน่ายที่มีขีดจำกัดในวงแคบ นอกจากนี้ ตัวแทนนำเข้าส่วนนี้อาจนำเข้าเพื่อทำการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปอื่นๆเช่น ส่งออกไปยังประเทศออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์และรัสเซีย เป็นต้น
          2. ผู้ค้าส่ง ในปัจจุบัน บทบาทของผู้ค้าส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเยอรมนีได้ลดความสำคัญลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากร้านค้าปลีกที่มีสาขา(chain stores) จะสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในเยอรมนีหรือนำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง แต่ก็ยังจัดเป็นช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้าอีกทางหนึ่ง เพราะผู้ค้าส่งรายเล็กบางรายเลือกเจาะตลาดเฉพาะในบางท้องถิ่น มีความรู้และมีความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง สร้างความเชื่อถือและมั่นใจแก่ผู้ค้าปลีก
          3. ห้างสรรพสินค้า เป็นแหล่งจำหน่ายปลีกขนาดใหญ่ที่มีสินค้าค่อนข้างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ห้างดิสเคาน์เตอร์ ซึ่งจัดแผนกสำหรับสินค้าประเภท non food โดยเป็นสั่งผลิตสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตในเยอรมนีโดยตรง หรือสั่งให้บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศทำการผลิตให้ (OEM) โดยอาจเป็นการใช้แบรนด์สินค้าจากผู้ผลิต หรือสร้างแบรนด์ของห้างและร้านค้าเอง Private Label  สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอผ้าผืน ผ้าขนหนู ชุดนอน เป็นต้น
          4. การขายสินค้าผ่านแคตตาล็อก และทางอินเตอร์เน็ต ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าการขายสินค้าผ่าน catalogue และ Internet จะไม่มีการโชว์สินค้าหน้าร้าน เพียงแค่เห็นรูปแบบและราคาสินค้า แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้บริโภคพิจารณาสั่งซื้อสินค้าได้ โดยผ่านทางระบบ on-line หรือสั่งซื้อโดยตรงที่ร้านเอง ซึ่งในประเทศเยอรมนี จะมีระบบการแลกเปลี่ยนและรับคืนสินค้า โดยกำหนดระยะเวลาคืนสินค้าภายในระยะเวลา 7-14 วันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้า

อัตราภาษีนำเข้า
          สินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอของประเทศเยอรมนีใช้อัตราภาษีนำเข้าเช่นเดียวกับภาษีที่ใช้ในสหภาพยุโรปทั้งหมดแยกรายละเอียดได้ดังนี้
          - สินค้าประเภทเส้นด้าย รวมทั้งวัตถุดิบเพื่อการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปมีอัตราภาษีนำเข้าระหว่างร้อยละ 0 - 7.0
          - อัตราภาษีนำเข้าผ้าผืน อัตราภาษีร้อยละ 8 และอัตราสูงสุดประมาณร้อยละ 10.0
          - เสื้อผ้าสำเร็จรูป ประมาณร้อยละ 4 - 12
          - ส่วนประกอบอื่นๆถุงมือ ถุงเท้า อัตราภาษีนำเข้าประมาณร้อยละ 6

          การที่จะได้รับสิทธิพิเศษเพื่อเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าปกติจะต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin) Form A รับรองว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศนั้นๆ (จากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองดังกล่าว) นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังคงมีการจำกัดปริมาณการนำเข้า โดยกำหนดเป็นโควต้านำเข้าตามข้อตกลงพิเศษ ห้ามนำเข้าเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ยกตัวอย่าง โควต้าการนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอจากประเทศจีน
          สำหรับสินค้าจากประเทศไทย ประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรปอนุญาตให้นำเข้าได้โดยเสรี และจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราระหว่างร้อยละ 0.0 - 12.0 ตามพิกัด H.S. Code ของสินค้าที่นำเข้า
          อัตราภาษีนำเข้าจากประเทศไทยสู่สหภาพยุโรปของทุกหมวด/รายการสินค้า สามารถหาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
          http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds2/taric/taric_consultation.jsp?Lang=en&Screen=0&redirectionDate=20110210 มาตรการที่มิใช่ภาษี
          ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ออกนโยบายกฎระเบียบการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เป็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยให้ความสำคัญใน 4 เรื่องใหญ่ๆดังนี้
          1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) โดยจะลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่บรรยากาศโลก
          2. ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (Nature and biodiversity) คือการรักษาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในยุโรป โดยไม่ให้ชีวพันธ์ใหม่ๆจากภูมิภาคอื่นเข้ามารุกราน
          3. ทรัพยากรธรรมชาติและของเสีย (Natural resources and waste) การเลือกใช้วัตถุดิบและลดปริมาณขยะ
          4. สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณภาพชีวิต(Environment, health and quality of life) เป็นนโยบายการป้องกันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ด้วยการจำกัดสารพิษ สารเคมีซึ่งเป็นอันตรายและก่อมลภาวะต่างๆ โดยในสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบที่สำคัญ คือ กฎระเบียบ RoHS  และ REACH RoHS  ย่อมาจาก Restriction of Hazardous Substances เป็นกฎระเบียบเรื่องการจำกัดการใช้สารเคมีอันตราย 6 ชนิด ได้แก่ Lead, mercury, Cadmium, Hexavalent Chromium, Polybrominated biphenyls (PBB) และ  Polybrominated diphenyl Ethers (PDBE) โดยอนุญาตให้ใช้สารเคมีอันตรายนี้ในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละ 0.1 หรือไม่เกิน 1000 ppm  ในขณะที่สาร Cadmium นั้น กำหนดให้ใช้ในอัตราส่วนควบคุมพิเศษไม่เกินร้อยละ 0.01 หรือ 100 ppm  เท่านั้น
          REACH  คือกฎระเบียบที่ควบคุมการใช้สารเคมีของสหภาพยุโรปทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ขบวนการผลิต การใช้งาน จนถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการกำจัดหรือทำลายทิ้ง กฎระเบียบ REACH นี้แยกสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่
          - การจดทะเบียนสารเคมี (Registration)
          - การตรวจสอบ ศึกษาและประเมินผล เรื่องอันตรายและความเสี่ยงในการผลิตและใช้สารเคมี (Evaluation)
          - การขออนุญาตผลิตหรือใช้สารเคมีที่มีอันตรายสูง โดยใช้สารเคมีอย่างมีเงื่อนไขและข้อกำหนดการบังคับใช้  (Authorization)
          - การห้ามและจำกัดการผลิต จำหน่ายสินค้าที่ใช้สารเคมีอันตราย (Retriction of Chemicals)

          เยอรมนีมีกฎระเบียบข้อจำกัดต่างๆที่รัดกุม เข้มงวดมาก และมักจะเป็นประเทศแรกที่ค้นพบว่าสารเคมีที่เดิมอนุญาตให้ใช้กันได้ทั่วไป มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่งผลให้มีการสั่งห้ามใช้ในการผลิตในเวลาต่อมา  อย่างไรก็ตาม จากการที่เยอรมนีเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป การใช้กฏเกณฑ์ใดๆ จะต้องผ่านการยอมรับของคณะกรรมการสหภาพยุโรปก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้

แนวทางในการขยายตลาดส่งออกและข้อเสนอแนะ
          1. เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยที่สูงรวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดสินค้าการรับจ้างผลิต (OEM)  ของไทยยังไม่สามารถสู้กับสินค้าของคู่แข่งในเอเชียได้ เช่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยควรเน้นสินค้าตลาดกลาง-บน ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของไทย จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ มีการเลือกใช้วัตถุดิบ ขั้นตอนและขบวนการผลิต รวมถึงการออกแบบที่ทันสมัย ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการติดฉลากสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เนื่องจากหากผู้ส่งออกไทยมีฉลากสิ่งแวดล้อม ก็เปรียบเสมือนการมีแบรนด์เป็นของตนเอง สามารถสร้างจุดเด่นของสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นและเป็นสินค้าที่ชาวเยอรมนีให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เช่นการติดฉลากสินค้า EU Flower, Carbon Footprint, Green Label, technical textile, flexible textile เป็นต้น
          2. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างกระแสแบรนด์สินค้าของชาวเยอรมนี มาจากสื่อโฆษณาที่ได้รับความนิยมจากประชากรอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น กีฬา (โดยเฉพาะฟุตบอล) หรือรายการทีวียอดนิยม (เช่น รายการ Germany's Next Top Model, Galileo) ดังนั้นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าของไทย อาจใช้การโฆษณา สปอนเซอร์ ผ่านนักกีฬา นักแสดง ผู้ร่วมรายการทีวี เพื่อสร้างกระแสและส่งเสริมการขายสินค้าแบรนด์ตนเองต่อไป
          3.  ในช่วงภาวะเศรษฐกิจยุโรปถดถอยนั้น หลายบริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานออกเป็นบางส่วน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ผู้คนมีกำลังซื้อลดน้อยลง ประกอบกับราคาสินค้าเองก็มีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคจะต้องคิดไตร่ตรองเมื่อจะซื้อสินค้าราคาสูงอย่างไรก็ตาม เสื้อผ้าแฟชั่นยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป ผู้ประกอบการไทยควรจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น Contract Business มากขึ้น หรือผลิตสินค้าที่มีแบรนด์ของตนเอง/ร่วมผลิตสร้างยี่ห้อแบรนด์สินค้าร่วมกับคู่ค้าที่เป็น Trade Partner และควรจัดแสดงแฟชั่นเสื้อผ้ายี่ห้อ แบรนด์สินค้าไทยในวงการแฟชั่นยุโรปเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดยุโรปเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาเรื่องการตัดเย็บขนาดไซด์มาตรฐานของชาวยุโรป วัตถุดิบและคุณภาพสินค้าที่เหมาะสมกับภูมิอากาศตามฤดูกาลในยุโรป รวมถึงการนำเทคโนโลยีการตัดเย็บและดีไซน์ที่ทันสมัยมาใช้ในอุตสาหกรรมของไทยต่อไป
          4. การสร้างแบรนด์ร่วมกับ Designer ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจะช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดเยอรมนีและสหภาพยุโรปได้ง่ายขึ้น หรืออาจรวมกลุ่มกับคู่ค้าที่เป็น Trade Partner  ร่วมมือกันสร้างยี่ห้อ แบรนด์สินค้าใหม่ มีรูปแบบ ดีไซน์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดยุโรปโดยตรง
          5. ผู้ประกอบการไทยควรหาโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอนี้ เพื่อศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่รูปแบบและแนวโน้มของสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอจากทุกมุมโลก ขณะเดียวกันผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆ ก็จะมาเยี่ยมชมงานเพื่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก

งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอในประเทศเยอรมนี ได้แก่
          - งาน HeimTextil เป็นงานจัดแสดงเกี่ยวกับสิ่งทอและผ้าผืน จัดที่นครแฟรงก์เฟิร์ต
          - งาน Bread and Butter เป็นงานแสดงสินค้าแฟชั่นสำหรับ Young Design จัดที่กรุงเบอร์ลิน
          - งาน ISPO Winter เป็นงานแสดงสินค้าเสื้อผ้า แฟชั่นกีฬาและอุปกรณ์ต่างๆ จัดที่นครมิวนิค
          - งาน Kind + Jugend  เป็นงานแสดงสินค้าเสื้อผ้าเด็ก และวัยรุ่น  จัดที่เมืองโคโลญจน์ ข้อมูลงานแสดงสินค้าอื่นๆหาดูเพิ่มเติมได้ที่:  http://www.auma.de/_pages/start_e.aspx

              **********************************************************************************


                                                        จัดทำโดย  นายอาทิตย์ กองเกตุ ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ 1
                                                                         สคต.แฟรงก์เฟิร์ต
                                                                         เมษายน 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ