ข้อมูลการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าผักสดจากไทยมายังสหภาพยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2012 14:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าผักสดจากไทยมายังสหภาพยุโรป

1. เรื่องเดิม

1.1 กฎระเบียบของสหภาพยุโรป Commission Regulation (EC) No. 669/2009 แก้ไขโดย Commission Regulation (EU) 212/2010 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2553 ประกาศควบคุมอย่างเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าอาหาร และอาหารสัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดจากพืชที่จัดว่าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงจากประเทศนอกสหภาพยุโรปบางประเทศ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพของสาธารณะจากการมีการตกค้างของสารปนเปื้อน ได้แก่ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก (เช่น cadmium; lead; Ochratoxin A) สี Sudan dyes และ aflatoxins ในปริมาณสูงกว่ามาตรฐาน โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 ซึ่งประเทศที่เข้าข่าย จะมีรายชื่อปรากฏใน Annex ของ Commission Regulation (EU) 212/2010 ประกอบด้วย อาร์เจนติน่า บราซิล จีน กาน่า อินเดีย ไนจีเรีย Uzbekistan เวียดนาม ปากีสถาน โดมินิแคนรีพลับบลิค ตุรกี และไทย

ในส่วนของไทย สินค้านำเข้าจากไทยที่เข้าข่ายต้องถูกตรวจสอบตามกฎระเบียบดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่

1) สินค้าผักที่มีปัญหาการตกค้างของยาฆ่าแมลง คือ พริกสด ผักชี ใบโหระพา ถั่วฝักยาว มะเขือ และกระหล่ำ

2) สินค้าผักที่มีปัญหาปนเปื้อนเชื้อ Salmonella คือ ผักชี ใบโหระพา และใบสะหระแหน่

โดยสินค้าผักดังกล่าวจะถูกกักเพื่อสุ่มตรวจการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชว่าสูงกว่าค่า MRL (Maximum Residue Limit) หรือไม่ ในอัตราการสุ่มตรวจ 50% ณ ด่านนำเข้าที่กำหนดไว้

1.2 ปลายปี 2553 สหภาพยุโรปเตรียมออกกฎระเบียบระงับการนำเข้าผักสดจากไทยเนื่องจากผักมีปัญหาด้านแมลงศัตรูพืช ซึ่งถูกตรวจพบศัตรูพืชเป็นจำนวนมากถึง 716 ครั้งในสินค้าผัก ผลไม้ และไม้ดอกจากไทยช่วงปี 2552 จึงมีการตรวจเข้ม 100% สำหรับการนำเข้าจากไทยสำหรับผักสด 16 ชนิดโดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า 2) พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู 3) มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาว มะเขือขื่น 4) มะระจีน มะระขี้นก และ 5) ผักชีฝรั่ง

1.3 ทางการไทยโดยกรมวิชาการเกษตรได้เจรจากับสหภาพยุโรปในเดือนธันวาคม 2553 ไม่ให้มีการออกระเบียบระงับการนำเข้าผักสดจากไทยเนื่องจากเห็นว่าหากถูกระงับการนำเข้าแล้วจะขอให้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าจะมีความยุ่งยากและใช้เวลานานในการตรวจสอบ โดยฝ่ายไทยจะดำเนินการตรวจเข้ม (Self Control/Self Ban) 100% สินค้าผักดังกล่าวเองก่อนการส่งออกมายังสหภาพยุโรป ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 เรื่องการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยสำหรับสินค้าผักสดไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2554 ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการควบคุมพิเศษสำหรับการส่งออกผัก 5 กลุ่ม 16 ชนิดจากผู้ส่งออก/โรงคัดบรรจุจะต้องขึ้นทะเบียนบัญชีโรงงานกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น (Approved Establishment List) จึงจะสามารถส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ทางสหภาพยุโรปได้กำหนดเงื่อนไขว่า หากมีการตรวจพบศัตรูพืชในผักกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเกินกว่า 5 ครั้งต่อปีจะประกาศระงับการนำเข้าผักสดจากไทยทั้งหมดในทันที

1.4 กรมวิชาการเกษตรได้ประกาศเพิ่มชนิดของผักในเดือนมกราคม 2555 อีก 6 ชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักตระกูลกะหล่ำ สะระแหน่ ผักชี และขึ้นฉ่าย เป็นสินค้าผ่านระบบ Establishment List ด้วย ทำให้ขณะนี้มีผักจำนวน 21 ชนิดที่จะต้องควบคุมการส่งออก

2. การดำเนินการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าผักสด

กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการคุมพิเศษสำหรับการส่งออกผัก 21 ชนิดดังกล่าวโดยได้ขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ (Establishment List) เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกผักมายังสหภาพยุโรปแล้วจำนวน 13 ราย (ณ วันที่ 30 เมษายน 2555) รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ ซึ่งจากการตรวจสอบกับ คณะกรรมาธิการยุโรปโดยหน่วยงาน DG SANGO (คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค) แล้วว่าในปี 2554 ยังไม่พบปัญหาศัตรูพืชในผัก 16 ชนิดที่นำเข้าจากไทย

3. การนำเข้าสินค้าผักในสหราชอาณาจักร

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ได้ดำเนินการสำรวจตลาดการนำเข้าผักจากไทยพบว่า ยังคงมีการนำเข้าผักจากไทยอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่ลดลงโดยเฉพาะสินค้าผัก 16 ชนิดดังกล่าว จากการตรวจสอบกับผู้นำเข้าและผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็น Supermarket และร้านอาหารไทยพบว่าสินค้าผักที่ส่งผ่านโรงคัดบรรจุดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 40-50 จึงต้องซื้อสินค้าผักนำเข้าจากไทยเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าในปัจจุบันมีการนำเข้าผักจากประเทศลาว เวียดนาม และมาเลเซียมาจำหน่ายในตลาดสหราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้น และพบว่ามีการนำเข้ากะเพราอบแห้งมาจำหน่ายแทนกะเพราสดแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานได้ดำเนินการเผยแพร่รายชื่อโรงคัดบรรจุ (Establishment List) ให้กับ ผู้นำเข้าและผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรเพื่อทำการติดต่อซื้อขายกันโดยตรงด้วยแล้ว

4. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน เห็นว่า สหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ผลิตสินค้าอาหารในประเทศให้มีมาตรฐานเพื่อให้มีความปลอดภัยกับผู้บริโภค ดังนั้น จึงควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าผักไทยให้ปลอดจากสารตกค้างของยาฆ่าแมลงและศัตรูพืชเป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุกับกรมวิชาการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เพียง 13 รายเท่านั้น ทั้งนี้ อาจส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าผักอบแห้งมาจำหน่ายเพื่อทดแทนผักสดที่ถูกสหภาพยุโรปคุมเข้มการนำเข้าอยู่ในขณะนี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ