การเลือกลงทุนในทรัพย์สินของประชากรที่มีฐานะขั้นมหาเศรษฐีในอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2012 11:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเลือกลงทุนในทรัพย์สินของประชากรที่มีฐานะขั้นมหาเศรษฐีในอินเดีย

จากผลกระทบจากตลาดทุนและตลาดเงินตราต่างประเทศที่ประสบปัญหาอย่างหนักในอินเดียใน ปี 2554 ทำให้ประชากรที่มีฐานะอยู่ในขั้นมหาเศรษฐี หรือ High Networth Individuals (HNIs) ในอินเดียมีจำนวนลดลงร้อยละ 18 (โดยในปี 2553 HNIs ในอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ทำให้อันดับจำนวน HNIs ของอินเดียไม่ติดอันดับที่ 12 ของโลกอีกต่อไป ซึ่งถูกแทนที่โดยเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2558 อินเดียจะมีจำนวน HNIs เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 403,000 คน ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งรวมกัน 2.456 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

สาเหตุที่ HNIs ของอินเดียได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงินตราต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความเชื่อว่าการลงทุนในตลาดการเงินดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนที่มั่นคงกว่าทรัพย์สินประเภทอื่นๆ จึงทำให้สัดส่วนการลงทุนในตลาดการเงินสูงกว่าทรัพย์สินอื่นๆ ของมูลค่าความมั่งคั่ง ซึ่งจากรายงานของบริษัท Ledbury Research/ Barclays พบว่า HNIs ในอินเดียมีการลงทุนในทรัพย์สินประเภทของสะสมมีค่า (Treasure) อยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 3 ของมูลค่าความมั่งคั่งทั้งหมดในอินเดีย ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในอัตราร้อยละ 10 ทั้งนี้ เนื่องจากคนอินเดียส่วนใหญ่คิดว่าทรัพย์สินประเภทนี้ไม่สามารถให้ผลตอบแทนทางการเงินได้อย่างมั่นคง

ทรัพย์สินประเภทของสะสมมีค่า ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับในโลหะที่มีค่า รถยนต์คลาสสิค เฟอร์นิเจอร์โบราณ และภาพวาด เป็นต้น โดยประเทศที่มี HNIs ที่สะสมของมีค่าเหล่านี้เป็นจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, จีน, ซาอุดิอาระเบีย, สิงคโปร์, และ บราซิล ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม อัญมณีและเครื่องประดับในโลหะที่มีค่า เช่น ทองคำและทองคำขาว (โดยชาวอินเดียมีการสะสมทองคำมากที่สุดในโลก) เป็นที่นิยมในอินเดียมากกว่าภาพวาดหรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ โดยจากการถือครองของสะสมมีค่าที่ร้อยละ 3 ของความมั่งคั่งทั้งหมด จะประกอบดัวยอัญมณีและเครื่องประดับฯ เป็นส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 98 ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ การสวมใส่อัญมณีและเครื่องประดับฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในสังคมอินเดีย และเพื่อเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีของประเทศ โดยประมาณร้อยละ 67 ของเครื่องประดับของผู้ครอบครองจะยกให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไป

นางสาวภัทรมน กนิษฐานนท์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ