กฎระเบียบการค้าและภาวะตลาดสินค้าข้าวในประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2012 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎระเบียบการค้าและภาวะตลาดสินค้าข้าวในประเทศเยอรมนี

กฎระเบียบการค้าข้าว

สหภาพยุโรปและประเทศเยอรมนี ยังคงให้สิทธิการค้าข้าว เป็นอัตราในโควต้าพิเศษ โดยจัดแบ่งโควต้าพิเศษสินค้าข้าวให้แก่ประเทศยุโรปตะวันออกและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยยังคงได้รับโควต้านำเข้าข้าวขาวเข้าสู่สหภาพยุโรปโดยไม่ต้องเสียภาษีปีละ 251,768 ตัน ข้าวหักโควต้าพิเศษ ปีละ 52,000 ตันต่อปี และในส่วนข้าวกล้อง ได้รับโควต้าพิเศษปีละ 1,812 ตันต่อปี

นอกจากนี้ ประเทศเยอรมันยังมีกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ความมั่นใจต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในด้านสุขภาพ การป้องกันสิ่งแวดล้อมและการสงวนทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นตามลำดับ มีการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ต่าง ๆ เหล่านี้ สำหรับในขบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารนั้น จะต้องมีขั้นตอนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีหน่วยงาน Lebenmittelberwachungsbeh๖rde ที่จะคอยตรวจสอบ ควบคุมและรักษาคุณภาพสินค้า โดยสุ่มตรวจที่ด่านศุลกากรและสุ่มตรวจที่ชั้นวางของจำหน่ายสินค้าต่างๆ การตรวจสอบสินค้าอาหารแบ่งออกเป็น

1. การตรวจสอบโดยภาพรวม (Food Safety) โดยแบ่งแยกลักษณะการตรวจสอบสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ในเรื่องความปลอดภัยสำคัญต่างๆ ดังนี้

  • ปราศจากเชื้อ Salmonella
  • การใช้สารเคมีธรรมชาติ ในการดูแลรักษาและทำความสะอาดเครื่องจักรต่างๆ และไม่มีเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนโดยเฉพาะ

เครื่องจักรที่ผลิตสินค้าประเภท Dairy Products

  • การตรวจวัดค่า PH และ Oxygen และจะต้องไม่มีส่วนผสมของสารเคมี
  • ตรวจสอบคุณภาพและอายุการใช้งานของเครื่องจักร เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขบวนการผลิต

2.ความสะอาด สุขอนามัย(Food Hygiene)

  • ตรวจสอบสินค้าตามกฎระเบียบด้านมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าจะต้องมีภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สะอาด

ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

  • การตรวจสอบฉลากสินค้า ให้เป็นไปตามกฎระเบียบเรื่องการบังคับการติดฉลาก ซึ่งจะต้องแจ้งเป็นภาษาเยอรมัน สรุปรายละเอียด

ที่ต้องแจ้งบนฉลากสินค้าอาหารต่างๆ ได้ดังนี้

  • List of ingredients การแจ้งส่วนผสมของอาหาร
  • Quantity of ingredients or categories of ingredients การแจ้งปริมาณส่วนผสม และสารอาหาร

ต่างโดยสามารถแจ้งเป็นอัตราส่วนร้อยละ

  • Net quantity การแจ้งปริมาตรสุทธิของผลิตภัณฑ์
  • Date of minimum durability วันที่สินค้าจะหมดอายุ
  • Special storage conditions or conditions of use การแจ้งวิธีเก็บรักษาสินค้าหรือวิธีการบริโภคสินค้า

และผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

  • name or business name and address of the manufacturer or packager, or of a seller

การแจ้งรายละเอียดบริษัทผู้ผลิตสินค้า บริษัทบรรจุภัณฑ์ หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า

  • Place of origin การแจ้งแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิตสินค้า
  • การบรรจุ หีบห่อด้วยพลาสติกจะต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคและมีความสะอาด ถูกสุขอนามัย เป็นไปตามกฎระเบียบ

เรื่องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สัมผัสกับอาหาร

  • การติดตรารับรองคุณภาพสินค้าต่างๆ เช่น ตรารับรองคุณภาพของสินค้าเกษตรอินทรีย์ Bio ตราสัญลักษณ์ Fairtrade

สัญลักษณ์การค้าเพื่อความเป็นธรรม ตราสัญลักษณ์ Sustainable product ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายมากขึ้น

3.การตรวจสอบเรื่องอื่นๆ

  • การตรวจสอบเรื่องสารเคมีต่างๆ ต้องไม่มีสารเคมี ยาฆ่าแมลงตกค้างในสินค้าอาหาร ประเทศเยอรมนีมีกฎระเบียบข้อจำกัดต่างๆ

ที่รัดกุม เข้มงวดมาก และมักจะเป็นประเทศแรกที่ค้นพบว่าสารเคมีที่เดิมอนุญาตให้ใช้กันได้ทั่วไป มีส่วนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ได้ ส่งผลให้มีการสั่งห้ามใช้ในการผลิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม จากการที่เยอรมนีเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป

การใช้กฏเกณฑ์ใดๆ จะต้องผ่านการยอมรับของคณะกรรมการสหภาพยุโรปก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้

  • การตรวจสอบเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม GMOs สหภาพยุโรปห้ามเรื่องการใช้ GMOs ในอุตสาหกรรมสินค้าอาหารโดยเด็ดขาด

เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดอันตรายจากการบริโภคสินค้า GMOs ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์ GMOs

ถือเป็นความผิดร้ายแรงในสหภาพยุโรป

  • การตรวจสอบเรื่องสารกัมมันตภาพรังสีในอาหาร (Radioactive) สหภาพยุโรปออกข้อห้ามไม่ให้สินค้าเกษตรและอาหารต่างๆ

มีสารกัมมันตภาพรังสีใดๆ ปนเปื้อนอยู่ในสินค้าทุกชนิด

  • การตรวจสอบสินค้าข้าวเกษตรอินทรีย์ ตามกฎระเบียบมาตรฐานสากล เลขที่ 834/2007 (EEC No.834/2007)

ว่าด้วยสินค้าเกษตรและอาหารเกษตรอินทรีย์และระเบียบวิธีในการเกษตรกรรมและกสิกรรมสำหรับสินค้าที่เป็น "BIO"

ซึ่งหมายถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศเยอรมนีทุกชนิดจะต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายของ

สหภาพยุโรปและตามระเบียบข้อบังคับขององค์กร IFOAM (International Federation of Organic Agriculture

Movement) สินค้าที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวเท่านั้นจึงจะมีสิทธิขอใช้เครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ โดยมีหน่วยงานตรวจ

สอบหลายแห่งและแตกต่างกันไป

ภาพรวมตลาดสินค้าเกษตรและข้าวในประเทศเยอรมนี

ถึงแม้ประเทศเยอรมนีจะเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่อุตสาหกรรมทางด้านการเกษตร กสิกรรมและการผลิตอาหารแปรรูป ก็นับว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเยอรมนี ที่มีความสำคัญและบทบาทโดยตรงต่อประชากรชาวเยอรมัน เพราะประชาชนจำเป็นต้องใช้และบริโภคสินค้าทุกวัน ในปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีได้ย้ายฐานการผลิตสินค้าอาหาร แปรรูปออกไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะตั้งในทวีปยุโรปตะวันออก อันเนื่องมาจากอัตราค่าจ้าง แรงงานในเยอรมนีที่แพงกว่าประเทศเหล่านั้น รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ถดถอยลงและการแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี เป็นหลัก สำหรับจำนวนเกษตรกรภายในประเทศเยอรมนี ยังคงมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารมากกว่า 500,000 คน โดยแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและกสิกรรมที่สำคัญๆ ของเยอรมนีส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกและทางตอนใต้ของประเทศ สินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิเช่น มันฝรั่ง ข้าวสาลี ธัญพืช หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น สำหรับการเพาะปลูกข้าวในประเทศเยอรมนี ไม่มีการเพาะปลูกข้าวในเชิงเศรษฐกิจ

ข้าว นับได้ว่าเป็นสินค้าธัญพืชที่ได้รับความนิยมในตลาดเยอรมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจากการวิจัยในยุโรปพบว่าข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ ทำให้ชาวเยอรมันหันมานิยมบริโภคข้าวมากขึ้นจากเดิม ซึ่งโดยปกติแล้ว ชาวเยอรมันจะเน้นอาหารจากมันฝรั่งและขนมปังเป็นอาหารหลัก

พฤติกรรมผู้บริโภค

มีการค้นพบว่า ข้าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวิตามินบี 1 บี 2 และ บี 6 และแร่ธาตุต่างๆ และยังไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ (สาร Glutin) เหมือนกับข้าวสาลี (Wheat) ที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่ ดังนั้นจึงมีนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ช่วยกันพัฒนาและผลิตสินค้าแปรรูปจากข้าว ยกตัวอย่างเช่น เส้นสปาเก็ตตี้จากข้าว ข้าวตัง ข้าวทอดกรอบ เป็นต้น โดยในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวเยอรมัน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยเป็นหลัก จะต้องไม่มีสารพิษตกค้าง สารปรุงแต่งในอาหาร ทำให้สินค้าขนมขบเคี้ยวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ข้าวทอดกรอบ ได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนชาวเยอรมันเพิ่มมากขึ้น

การบริโภคข้าวของชาวเยอรมัน

1. ประเภทข้าว จำแนกตามประเภทการบริโภค ดังนี้

1.1 ข้าวสำหรับการบริโภค ได้แก่

  • White Rice: Semi/wholly milled ข้าวขาวที่ผ่านการขัดสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จ(HS:100630)(รวมถึงข้าวหอมมะลิด้วย)
  • Brown Rice ข้าวกล้อง ข้าวที่กระเทาะเปลือกแล้วแต่ยังไม่ได้ขัด (HS:100620)
  • Paddy Rice ข้าวเปลือก (HS:100610) ใช้เพื่อการบริโภคกว่าร้อยละ 90

1.2 ข้าวสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ได้แก่

  • Broken Rice ปลายข้าว ข้าวหัก (HS:100640)
  • Paddy Rice ข้าวเปลือก (HS:100610) ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ประมาณร้อยละ 5

2. ปริมาณการบริโภคชาวเยอรมัน 1 คน บริโภคข้าวประมาณ 3 - 5 กิโลกรัมต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับผู้นำเข้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยในเยอรมนีอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและเป็นการกระตุ้นการบริโภคข้าวไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ชาวเยอรมันนิยมซื้อข้าวที่มีการบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษ ข้างในบรรจุข้าวสารในถุงพลาสติกเจาะรู โดยมีน้ำหนักกล่องละประมาณ 500 กรัม นอกจากนี้ยังมีการวางขายข้าวในตลาดเยอรมนี แบ่งขนาดบรรจุภัณฑ์ออกเป็นขนาดต่างๆ ตั้งแต่ขนาด 500 กรัม จนถึง 25 กิโลกรัม

ข้าวไทยในตลาดเยอรมนีที่ได้รับความนิยมมาก คือ ข้าวหอมมะลิ ทั้งแบบเต็มเม็ดและข้าวหักแบ่งเป็นขนาดบรรจุต่างๆ กันตามความสะดวกและความต้องการของผู้บริโภค รายละเอียดดังนี้

1. ข้าวบรรจุถุงสำเร็จรูป บรรจุภัณฑ์ภายนอกเป็นกล่องกระดาษ ข้างในบรรจุข้าวสารในถุงพลาสติกเจาะรู ปริมาณพอเหมาะต่อ 1 คน ผู้บริโภคสามารถนำถุงข้าวใส่หม้อแล้วนำไปต้มตามเวลาที่ระบุไว้ข้างกล่อง (ประมาณ 17-20 นาที) เมื่อสุกแล้วดึงถุงพลาสติกขึ้นตัดออกใส่จานพร้อมรับประทานได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีการหุงข้าวที่ง่ายและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวยุโรปอย่างมาก

2. ผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุในถุงพลาสติกขายตามน้ำหนัก ผู้บริโภคสามารถซื้อและกะปริมาณที่จะหุงได้ตามต้องการ มีราคาถูกกว่าข้าวถุงบรรจุสำเร็จรูป ขนาดบรรจุที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปดังนี้

ครึ่งกิโลกรัม จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ และห้างซุปเปอร์มาเก็ตทั่วประเทศ ราคาขายปลีกประมาณ 1.5 ยูโร หรือประมาณ 63 บาท

  • 1 กิโลกรัม จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ และห้างซุปเปอร์มาเก็ตทั่วประเทศ ราคาขายปลีกประมาณ 2.5 ยูโร

หรือประมาณ 105 บาท

  • 4.5 กิโลกรัมหรือ 5 กิโลกรัม จำหน่ายในร้านสินค้าเอเชีย ราคาขายส่งต่อหน่วยประมาณ 6 - 9 ยูโร

หรือประมาณ 250 - 380 บาท ราคาขายปลีกประมาณ 7 - 12 ยูโร หรือประมาณ 295 - 500 บาท

  • 25 กิโลกรัม จำหน่ายในร้านสินค้าเอเชีย ราคาขายส่งต่อหน่วยประมาณ 20 - 23 ยูโร หรือประมาณ 840 -1,000 บาท

ราคาขายปลีกประมาณ 25 - 35 ยูโร หรือประมาณ 1,050 - 1,470 บาท

3. รสนิยมในการบริโภค

3.1 จำแนกตามกรรมวิธีการผลิตได้แก่

  • ข้าวนึ่ง (parboiled) เป็นข้าวผ่านกรรมวิธีแล้วโดยนำข้าวเปลือกหรือข้าวกล้อง นำมาแช่น้ำจนอิ่มตัวแล้วนำไปอบด้วยไอน้ำ จากนั้นทำให้แห้งเพื่อจะนำไปสีเอาเปลือกออก ในระหว่างการดำเนินตามกรรมวิธีนี้โครงสร้างของเซลล์ในเมล็ดข้าวจะถูกเปลี่ยนไป โดยเซลลูโลสของผนังเซลล์เล็กๆ จะถูกทำลาย ส่วนที่เป็นแป้งจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นมวลผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันจับตัวกันแน่น ข้าวนึ่งได้รับความนิยมสูงมากในตลาดสวิสเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้ระยะเวลาในการหุงต้มสั้นกว่าข้าวธรรมดา เก็บไว้ได้นาน เมล็ดข้าวไม่เหนียวติดกันซึ่งตรงกับความนิยมในการบริโภคของชาวสวิสและชาวยุโรป นอกจากนั้นข้างนึ่งยังมีความแข็งสูงกว่าข้าวทั่วไปทำให้ไม่แตกหักง่ายในระหว่างการขนส่งอีกด้วย ข้าวนึ่งในตลาดสวิสจำแนกเป็นข้าวกล้องและข้าวขาว
  • ข้าวไม่ผ่านกรรมวิธีได้แก่ ข้าวกล้องและข้าวขาวปกติ

3.2 จำแนกตามชนิดของข้าวและแหล่งผลิตข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้บริโภคชาวสวิส ได้แก่

  • Parboiled Long-grain rice เป็นข้าวขัดสีแล้วจากอเมริกา เมื่อหุงแล้วจะเป็นสีขาว เมล็ดไม่เหนียวติดกัน
  • Vialone rice (medium to long grain) เป็นชนิดของข้าว risotto ของอิตาลีที่ใช้บริโภคกันมากที่สุด
  • Arborio rice (medium grain) เป็นชนิดของข้าว risotto ของอิตาลีแบบดั้งเดิม ใช้บริโภคกับอาหารอิตาลี

เมื่อหุงแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่มและเหนียวเล็กน้อย

  • Jasmine rice (long grain) ข้าวหอมมะลิของไทย นิยมใช้หุงเป็นข้าวสวยรับประทานกับอาหารเอเชีย
  • Camolino/ Originario (rice pudding/round grain) ใช้หุงเป็นข้าวต้ม/ซุปหรือทำเป็นขนมหวาน ขณะหุงเมล็ดข้าว

จะดูดน้ำค่อนข้างมาก เมื่อสุกแล้วจะเหนียวเล็กน้อย

  • Whole rice (medium or long-grain) ข้าวกล้องซึ่งคงคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน
  • Basmati rice (long grain) ได้รับสมญานามว่าเป็น The King of Fragrances" เมื่อหุงแล้วเมล็ดข้าวไม่เหนียว

ติดกัน ใช้รับประทานกับอาหารเอเชีย อาหารอาหรับ

  • Parboiled risotto (medium grain) ข้าวนึ่ง risotto ที่ผ่านกรรมวิธีทำให้ไม่เหนียวติดกัน เป็นทางเลือกใหม่เพิ่ม

จากข้าว risotto แบบเดิม

  • Mixtures ข้าวผสมระหว่างชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและดึงดูดความสนใจของลูกค้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าข้าวของประเทศเยอรมนี

จากสถิติการนำเข้าข้าวของประเทศเยอรมนีในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าข้าวจากทั่วโลกโดยเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 350.35 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 18.57 เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด

สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555 เยอรมนีนำเข้าสินค้าข้าวจากทั่วโลกรวมมูลค่าทั้งสิ้น 80.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเวลาเดียวกัน จำนวน 0.95 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 1.07 โดยมีการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ ตาราง - ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของเยอรมนี ช่วงไตรมาสแรก ปี 2555 (ม.ค. - มี.ค. 2555)

ประเทศ                  มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)                  สัดส่วน (ร้อยละ)                  อัตราการ
                  2554     ม.ค. - มี.ค.  ม.ค. - มี.ค.    2554      ม.ค. - มี.ค.  ม.ค. - มี.ค.    ขยายตัว
                              2554         2555                      2554        2555       (ร้อยละ)
จากทั่วโลก        369.82       88.97        88.02      100.00        100.00      100.00        -1.07
1 อิตาลี          103.87       25.58        27.67       28.09         28.76       31.45         8.18
2.เนเธอร์แลนด์     58.92       13.93        15.31       15.93         15.66       17.40         9.90
3.เบลเยี่ยม        48.61       11.18        11.79       13.15         12.57       13.40         5.49
4.สเปน           10.88        5.77         7.13        2.94          6.49        8.11        23.60
5.ไทย            34.63        8.56         6.07        9.37          9.62        6.90       -29.07
6.อินเดีย          23.70        3.97         5.09        6.41          4.47        5.79        28.26
7.กัมพูชา          16.40        2.51         3.52        4.44          2.83        4.00        40.00
8.อุรุกกวัย         13.46        3.11         1.88        3.64          3.50        2.14       -39.44
9.ปากีสถาน        18.29        5.35         1.85        4.95          6.02        2.11       -65.42
10.ฝรั่งเศส         7.30        1.84         1.67        1.98          2.08        1.91        -9.27
16. เวียดนาม       3.56        0.60         0.26        0.96          0.69        0.30       -56.03
19. ลาว           0.15        0.00         0.11        0.04          0.00        0.13    47,967.21
ที่มา - World Trade Atlas

เยอรมนีนำเข้าข้าวจากทั่วโลกที่สำคัญ 4 ประเภท เรียงตามมูลค่าการนำเข้าได้ดังนี้
          1.White Rice: Semi/wholly milled ข้าวขาวที่ผ่านการขัดสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จ(HS : 100630) มีมูลค่าการนำเข้าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณปีละ 217.51 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555 มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 56.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.82 คิดเป็นร้อยละ 64.20 ของการนำเข้าข้าวทั้งประเทศ
          2.Brown Rice ข้าวกล้อง ข้าวที่กระเทาะเปลือกแล้วแต่ยังไม่ได้ขัด  (HS : 100620) มีมูลค่าการนำเข้าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณปีละ 99.26 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555 มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 22.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.42 คิดเป็นร้อยละ 25.47 ของการนำเข้าข้าวทั้งประเทศ
          3.Broken Rice ปลายข้าว ข้าวหัก (HS : 100640) มีมูลค่าการนำเข้าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณปีละ 30.98 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555 มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 7.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.36 คิดเป็นร้อยละ 8.92 ของการนำเข้าข้าวทั้งประเทศ
          4.Paddy rice ข้าวเปลือก (HS : 100610) มีมูลค่าการนำเข้าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณปีละ 5.24 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555 มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 1.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.92 คิดเป็นร้อยละ 1.42 ของการนำเข้าข้าวทั้งประเทศ
ตาราง -  มูลค่าการนำเข้าข้าวของประเทศเยอรมนี แยกตามประเภทข้าว
ประเภทสินค้า                มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)                        สัดส่วน (ร้อยละ)          อัตราการ
                  2554     ม.ค. - มี.ค.  ม.ค. - มี.ค.    2554      ม.ค. - มี.ค.  ม.ค. - มี.ค.    ขยายตัว
                              2554         2555                      2554        2555       (ร้อยละ)
จากทั่วโลก        369.82        88.97         88.02    100.00         100.00        100.00     -1.07
1. White rice   234.07        58.15         56.50     63.29          65.36         64.20     -2.82
 (H.S. 100630)
2. Brown rice   101.88        23.21         22.41     27.55          26.09         25.47     -3.42
 (H.S. 100620)
3. Broken rice   29.19         6.52          7.85      7.90           7.33          8.92     20.36
 (H.S. 100640)
4. Paddy rice     4.66         1.09          1.24      1.26           1.23          1.42     13.92
 (H.S. 100610)
ที่มา - World Trade Atlas

การส่งออกจากไทยเข้าสู่ประเทศเยอรมนี
          จากสถิติการนำเข้าข้าวของประเทศเยอรมนีในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2552-2554) เยอรมนีนำเข้าข้าวจากไทยโดยเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 35.43 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555 เยอรมนีนำเข้าข้าวไทยรวมมูลค่าทั้งสิ้น 6.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจำนวน 2.49 ล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลงร้อยละ 29.07 ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตปลูกข้าวในภาคกลางของประเทศ ปลายปี 2554
          การนำเข้าจากประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นข้าวขาวเต็มเมล็ด ทั้งที่ผ่านการขัดสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จ รองลง มาได้แก่ข้าวกล้องและข้าวหัก รายละเอียดจำแนกตามประเภทข้าวได้ดังนี้
          - ข้าวขาวที่ผ่านการขัดสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จ (HS : 100630) ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีนำเข้าข้าวขาวจากไทยเฉลี่ยประมาณปีละ 19.93 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555  เยอรมนีนำข้าวขาวจากไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 4.21  ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 32.28 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 7.46
          - ข้าวกล้อง ข้าวที่กระเทาะเปลือกแล้วแต่ยังไม่ได้ขัด  (HS : 100620) ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีนำเข้าข้าวกล้องจากไทยเฉลี่ยประมาณปีละ 10.83 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555  เยอรมนีนำข้าวกล้องจากไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.08  ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.01 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 7 คิดเป็นร้อยละ 4.84
          - ข้าวหัก (HS : 100640) ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีนำเข้าข้าวหักจากไทยเฉลี่ยประมาณปีละ 4.66 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2555  เยอรมนีนำข้าวหักจากไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 0.76  ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 26.09 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 9.80

อัตราภาษีนำเข้า
          จากผลการเจรจาภายใต้มาตรา 28 ของ GATT ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2548 การนำเข้าข้าวไทยต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีนำเข้าที่ EU กำหนดแยกตามประเภทของข้าว รายละเอียด ดังนี้
          - ข้าวขาว (HS : 10063021) ไทยมีโควต้านำเข้าโดยไม่ต้องเสียภาษีปีละ 251,768 ตัน ส่วนที่เกินโควต้าเรียกเก็บ 2 อัตรา ดังนี้
                    -อัตราต่ำที่ 145 ยูโร/ตัน ในกรณีที่ปริมาณการนำเข้าข้าวของปีการตลาดก่อนหน้า (1 ก.ย.- 31 ส.ค.) ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 387,743 ตัน
                    -อัตราสูงที่ 175 ยูโร/ตัน ในกรณีที่ปริมาณการนำเข้าข้าวของปีการตลาดก่อนหน้า (1 ก.ย.- 31 ส.ค.) สูงกว่า 387,743 ตัน  ทั้งนี้ กำหนดให้มีการพิจารณาปรับอัตราภาษีทุก 6 เดือน *ข้าวหัก (HS : 1006400010) กำหนดเป็น 2 อัตรา ดังนี้
                    -ข้าวหักทั่วไป เก็บ 65 ยูโร/ตัน -ข้าวหักโควต้าพิเศษ เก็บ 45 ยูโร/ตัน ไทยมีโควต้าทั้งสิ้น 52,000 ตันต่อปี
          - ข้าวกล้อง (HS : 10062011) ไทยมีโควต้าทั้งสิ้น 1,812 ตันต่อปี ภาษีนำเข้าอัตรา 30 ยูโร/ตัน อัตราภาษีนำเข้าจากประเทศไทยสู่สหภาพยุโรปของทุกหมวด/รายการสินค้า สามารถหาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds2/taric/taric_consultation.jsp?Lang=en&Screen=0&redirectionDate=20110210

มาตรการที่มิใช่ภาษี
          1. ใบอนุญาตนำเข้า จะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าทุกครั้ง
          2. การตรวจสอบสินค้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรเยอรมันอาจสุ่มตัวอย่างมาตรวจสอบก่อนอนุญาตให้นำเข้า และมีการนำสินค้าที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดมาตรวจสอบเป็นครั้งคราว หรือเมื่อได้รับแจ้งจากผู้บริโภค ทั้งในด้านสุขอนามัย และตามขนาดบรรจุ เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ถูกต้อง ขัดกับระเบียบก็จะเก็บสินค้านั้น ๆ ออกจากตลาด สำหรับกฎระเบียบมาตรฐาน สามารถจำแนกได้ 2 ส่วนคือ
          2.1 ตามกฎระเบียบมาตรฐานด้านสุขอนามัยของ EU Commission
          2.2 การกำหนดมาตรฐานโดยเอกชน เช่น GLOBALGAP, Food safety  เป็นต้น

แนวทางในการขยายตลาดส่งออกและข้อเสนอแนะ
          1. สถานการณ์ราคาข้าวไทยในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาข้าวขายปลีกในตลาดเยอรมนีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามตลาดเยอรมนียังคงรองรับราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ได้ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์และข้าวเกษตรอินทรีย์
          2. ชาวเยอรมันนิยมทำธุรกิจแบบระยะยาว โดยเน้นการทำธุรกิจกับ supplier น้อยรายที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งสินค้าคุณภาพสูงได้อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้อย่างทั่วถึง
          3. การสั่งซื้อส่วนใหญ่สั่งเป็น order ใหญ่เพื่อลดต้นทุนด้านภาษี
          4. ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ ที่จะคอยช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า รวมถึงปัญหาเรื่องอัตราการขนส่งทางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นและมีเรือขนส่งสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณารวมตัวกันเป็น Cluster เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองทางการค้าเพิ่มมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิต
          5. นอกเหนือจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย ที่กรมส่งเสริมการส่งออกและผู้ประกอบการไทยได้ร่วมมือกันจัดขึ้นแล้วนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความร่วมมือกับผู้นำเข้าในการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้นำเข้าในการนำสินค้าดังกล่าวเข้าไปวางจำหน่ายตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ นอกจากนี้จะต้องช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ชาวเยอรมนีและยุโรปรู้จักประโยชน์และรสชาติของข้าวรวมถึงอาหารและผลไม้ไทย  Thai Exotic Food and Fruits  และเป็นแรงกระตุ้นให้ซื้อสินค้าไทยเหล่านั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าข้าว สินค้าเกษตรไทยในระยะยาวอย่างต่อเนื่องต่อไป

                                                               สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
                                                              จัดทำโดย  นายอาทิตย์ กองเกตุ  ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ 1
                                                                                 สคต.แฟรงก์เฟิร์ต  มิถุนายน 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ