สถานการณ์สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ ในประเทศญี่ปุ่น เดือนตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2012 14:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ กำลังประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีน-ญี่ปุ่นส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในจีนลดลง เป็นเหตุให้ต้องหยุดสายการผลิต ณ มณฑณเทียนจิน ระหว่างวันที่ 22-26 ตุลาคม 2555 ทั้งนี้ บริษัทยังพบจุดบกพร่องในระบบกระจกอัตโนมัติ ทำให้ต้องเรียกรถยนต์รุ่นCorolla, Camry, Crown, LexusGS, Noah และVitz คืนจำนวน 7,430,000 คันทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยถูกเรียกคืนแค่รุ่น Corolla เพื่อทำการซ่อมแซม เนื่องจากใช้อุปกรณ์ร่วมระหว่างรุ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตในประเทศไทยกว่า 610,000 เครื่องต่อปี เพื่อใช้กับรถยนต์รุ่น IMV ที่จะนำไปตีตลาดใหม่ อาทิ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เป็นต้น

บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ตั้งเป้าลดต้นทุนการผลิตลงเหลือร้อยละ 15 จากความล้มเลิกที่จะผลิตรถยนต์ราคาถูกร่วมกับบริษัท Bagaj Auto ประเทศอินเดีย โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้ 1. ใช้ส่วนประกอบที่ผลิตภายในแต่ละประเทศทั้งหมด 2. เพิ่มสัดส่วนการใช้ส่วนประกอบที่ผลิตภายในเขตคิวชูและเอเชียเป็นร้อยละ 95 เพื่อใช้ประโยชน์ด้านทำเลที่คิวชูตั้งอยู่ใกล้เกาหลีใต้และจีน 3. ลดปริมาณสต็อกของโรงงานในเขตคิวชูจากเดิม 25 วัน ให้เหลือเพียง 3 วัน 4. ใช้ส่วนประกอบร่วมกับบริษัท Renault ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทั้งนี้ บริษัทยังมีนโยบายตีตลาดประเทศเกิดใหม่ด้วยรถยนต์ยี่ห้อดัทสัน ซึ่งมีราคาประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160,000 บาท

บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ได้ทำสถิติยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศญี่ปุ่นสูงสูดเป็นอันดับ 3 ด้วยรถยนต์ขนาดเล็กรุ่น N BOX ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2554 ส่วนอันดับ 1 คือ Prius และAqua อันดับ 2

บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างจีน-ญี่ปุ่นมากนัก แต่กลับมีผลกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านเยน จากยอดจำหน่ายรถบรรทุกในประเทศไทยและอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์ตลาด บริษัทโตโยต้า นิสสัน และฮอนด้ากำลังประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนญี่ปุ่น เรื่องดินแดนเกาะเซ็งคาขุ ทำให้ยอดขายลดลงร้อยละ 35-48 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2554 ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิตสิ้นส่วนยานยนต์ในจีนกว่า 440 บริษัท ต้องลดจำนวนการผลิต พนักงาน ลูกจ้าง และการลงทุนอื่นๆ ในขณะเดียวกันได้ให้ความสนใจตลาด ASEAN เพิ่มขึ้น

โอกาสของไทย ความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นหันกลับมาให้ความสำคัญกับนโยบาย China + 1 โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์สำคัญของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันให้ไทยเป็น Factory of ASEAN เป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่น ตลอดจนเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับญี่ปุ่น นำไปสู่การเป็น Smart OEM

ประเทศญี่ปุ่น สคร.โอซากา

สำนักพัฒนาการตลาดระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Email : intmk@ditp.go.th Website : www.ditp.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ