ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: รัฐบาลอินโดนีเซียจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 30, 2012 14:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ กฎระเบียบ: รัฐบาลอินโดนีเซียจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ออกระเบียบใหม่เพื่อปรับโครงสร้างการนำเข้านำเข้าผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตร ซึ่งเป็นกฎระเบียบต่อเนื่องจากระเบียบการจำกัดจุดนำเข้าสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์พืชทางการเกษตรในช่วงต้นปีผ่านมา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอธิบดี กระทรวงการค้าฝ่ายการค้าต่างประเทศ นาย เด็ดดี ซาเลห์ (Deddy Saleh) ได้ชี้แจงว่า ภายใต้กฎใหม่นี้ผู้ผลิตสินค้าจากพืชและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืชจะต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงเกษตรก่อนในเบื้องต้น ก่อนการยื่นขอใบอนุญาตเฉพาะในการนำเข้าผลิตภัณฑ์พืช จากกระทรวงการค้า

ตามกฎระเบียบใหม่ซึ่งออกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ระบุให้มีการตั้งชุดทีมทำงานที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการค้าและสถาบันภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาประเมินผลคุณสมบัติความเหมาะสมของผู้นำเข้า

โดยเกณฑ์ข้อกำหนดทางวิชาการดังกล่าวยังรวมถึงการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องเย็นและรถยนต์ที่ติดอุปกรณ์การรักษาความเย็นในกระบวนการการขนส่ง ทั้งยังมีข้อกำหนดระบุให้ผู้นำเข้าทำสัญญาตกลงการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ (local distributor)อย่างน้อย 3 บริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการผูกขาดทางการค้า

นาย เด็ดดี ยังกล่าวถึงเหตุผลการออกกฎระเบียบใหม่ว่า ทั้งนี้การเพิ่มความเข้มงวดการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรับรองประกันความปลอดภัยของสินค้านำเข้าสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ "รัฐต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคโดยจัดสรรสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชที่ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

นาย เด็ดดี ชี้แจงต่อไปว่า ทางรัฐบาลค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับการเข้าจัดการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้เตรียมแนวทางตอบรับปัญหาดังกล่าวในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่เพียงพอให้กับผู้บริโภค " โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าใช้บรรจุภัณฑ์และปิดฉลากสินค้านำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืชในภาษาอินโดนีเซีย ตามที่ระบุในรายละเอียดในระเบียบนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชฉบับใหม่ ตัวฉลากสินค้าต้องระบุข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อและเครื่องหมายการค้า, น้ำหนักหรือ ปริมาณสุทธิ, ชื่อที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก รวมทั้ง ชื่อของผู้นำเข้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ข่าวเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบของรัฐตรวจพบสารปนเปื้อนในผักและผลไม้นำเข้าในท้องตลาดภายในประเทศ ที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ทั้งการตรวจพบผักและผลไม้นำเข้าที่ถูกเคลือบด้วยสารฟอร์มาลิน หรือ มีการปนเปื้อนเชื้อโรค และ ศัตรูพืช ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดต่อพืชภายในประเทศ อันเป็นประเด็นหลักที่สร้างความวิตกกังวลอย่างมากแก่ผู้บริโภคและรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบยังตรวจพบเหตุการณ์ซ้ำๆในลักษณะเดียวกัน ที่อาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของศัตรูพืชในเขตพื้นที่ต่างๆในอินโดนีเซีย

ส่วนประเด็นเหตุผลสำคัญอีกด้านคือ การนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชที่ถีบตัวสูงขึ้นในปริมาณมาก โดยในปีที่ผ่านมาประเทศอินโดนีเซียนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชจากที่มูลค่า 600 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2006 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวถึง 1.7 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2011 ที่ผ่านมา

รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรได้พยายามที่เข้าจัดการแก้ประเด็นปัญหาการนำเข้านี้ โดยการออกกฎระเบียบการควบคุมการนำเข้าซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้มีการจำกัดจำนวนจุดนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืช จากจำนวนท่าเรือและสนามบินทั้งหมด 8 แห่ง ลดคงเหลือเพียง 4 แห่ง โดยเริ่มให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา

จุดนำเข้าเมืองท่าทั้ง 4 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตคือ

1) ท่าเรือ Belawan ในเมือง Medan,

2) สนามบิน Soekarno-Hatta International ในเมือง จาการ์ตา

3) ท่าเรือ Tanjung Perak ในเมือง SuraBaya และ

4) เมืองท่า Soekarno-Hatta ในเมือง Makassar

ส่วนท่าเรือ Tanjung Priok ในเขตจาการ์ตาเหนือ ซึ่งเป็นจุดนำเข้าสินค้าที่สำคัญที่สุดก่อนหน้านี้ โดยเคยเป็นจุดนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืชทั้งหมด

— ท่าเรือดังกล่าวได้ถูกคัดออกจากรายชื่อจุดอนุญาตนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์จากพืช โดยรัฐบาลอินโดนีเซียอ้างเหตุผลว่า การตรวจสอบที่ท่าเรือดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากปริมาณการนำเข้าเกินขีดกำลังและความสามารถของท่าเรือที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้การผ่อนผันการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าว ให้ผู้ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้มีเวลาปรับเตรียมตัว โดยได้เลื่อนวันเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบออกไปถึงวันที่ 19 มิถุนายน ปีนี้

ทุกรายการการนำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบ รวมถึงข้อมูล ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า, ท่าเรือขนส่ง, พิกัดภาษี, ประเภทสินค้าและปริมาณ, วันที่ของการขนส่ง และ ใบรับรองสุขอนามัยพืช

สำหรับการนำเข้าครั้งแรกของผู้นำเข้าจากทุกประเทศ กำหนดให้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงและตรวจรับรอง เพื่อใช้ในการขอสิทธิ์การนำเข้า

  • ในกรณีสินค้าผลิตภัณฑ์พืชจำพวกพืชสด ผ่านหน่วยงานกักกันพืชเกษตรกรรม กระทรวงเกษตร หรือ
  • ในกรณีสินค้าผลิตภัณฑ์พืชจำพวกแปรรูป ผ่านหน่วยงานการตรวจสอบควบคุมอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ประเด็นหลักในระเบียบกระทรวงการค้าใหม่ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืช
  • ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากพืชต้องได้รับใบอนุญาต (permits) จากกระทรวงการค้า และได้รับหนังสือรับรองแนะนำ(recommendations)จากกระทรวงเกษตร
  • สินค้าผลิตภัณฑ์จากพืช - หมายความครอบคลุมถึง ไม้ดอกไม้ประดับ ผักผลไม้สด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืช
  • ผู้นำเข้า
  • แบ่งเป็น 2 ประเภท ผู้นำเข้าเพื่อการผลิต (producing importers) และ ผู้นำเข้าทั่วไป (หรือ ผู้นำเข้าจดทะเบียน registered importers)
  • สามารถยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงการค้าหลังจากได้รับจดหมายรับรองแนะนำจากกระทรวงเกษตร โดยชุดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจะเข้าตรวจสอบความเหมาะสมของผู้นำเข้า เช่น การถือกรรมสิทธิ์ห้องเย็นและกรรมสิทธิ์ยานพาหนะขนส่งอุปกรณ์ที่มีการเก็บรักษาความเย็น
  • ผู้นำเข้าทั่วไปต้องสามารถแสดงสัญญาการจัดจำหน่ายสินค้ากับตัวแทนผู้จัดจำหน่าย อย่างน้อย 3 แห่ง
  • ผู้นำเข้าต้องใช้บรรจุภัณฑ์และปิดฉลากสินค้าตามข้อกำหนด ในภาษาอินโดนีเซีย ระบุข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อและเครื่องหมายการค้า, น้ำหนัก หรือ ปริมาณสุทธิ, ชื่อที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก รวมทั้ง ชื่อของผู้นำเข้า
  • ทุกรายการการนำเข้าต้องผ่านการตรวจสอบ ณ ท่าเรือขนถ่ายสินค้า ข้อมูลตรวจสอบ ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า, ท่าเรือขนส่ง, พิกัดภาษี, ประเภทสินค้าและปริมาณ, วันที่ของการขนส่ง และ ใบรับรองสุขอนามัยพืช
  • การนำเข้าจากประเทศใดๆเป็นครั้งแรก ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงและตรวจรับรอง เพื่อใช้ในการขอสิทธิ์การนำเข้า
  • ในกรณีสินค้าผลิตภัณฑ์พืชจำพวกพืชสด ผ่านหน่วยงานกักกันพืชเกษตรกรรม กระทรวงเกษตร หรือ
  • ในกรณีสินค้าผลิตภัณฑ์พืชจำพวกแปรรูป ผ่านหน่วยงานการตรวจสอบควบคุมอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ กรุงจาการ์ตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ