รายงานสถานการณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนในช่วงปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2012 15:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ปี 2555 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีน ต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันจากหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างเช่น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเผชิญกับภาวะชะลอตัวอีกครั้ง เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศยุโรปยังคงมีความเปราะบางและยังไม่ได้รับการแก้ไขลุล่วง ซึ่งปัญหานี้ก็ได้ขยายตัวเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและรายได้ของประชาชนในประเทศ ท้ายที่สุดจะมีผลต่อความต้องการการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ซึ่งสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าแน่นอนว่าได้รับผลกระทบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาประกาศนโยบายเพื่อผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจว่า จะสนับสนุนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ประหยัดพลังงานด้วยเงินทุน 26,500 ล้านหยวน เพื่อส่งเสริมการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งนโยบายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้กับเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์จอแบน ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องทำน้ำอุ่นในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีเงินทุน 2,200 ล้านหยวนสนับสนุนการประชาสัมพันธ์หลอดไฟประหยัดพลังงานและหลอดไฟLED เงินทุน 6,000 ล้านหยวนสนับสนุนการประชาสัมพันธ์รถยนต์ประหยัดพลังงานที่มีขนาดความจุ 1.6 L หรือต่ำกว่า 1.6 L และเงินทุน 1,600 ล้านหยวนสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งคาดว่า นโยบายส่งเสริมการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานภายในประเทศนี้จะกระตุ้นการบริโภคได้ถึง 5 แสนล้านหยวน

ในปี 2554 ที่ผ่านมา จีนเคยประสบความสำเร็จในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กล่าวคือ นโยบายส่งเสริมซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการนำของเก่าไปแลกซื้อของใหม่ทำให้มียอดขายสูงถึง 81.3 ล้านเครื่อง ส่งเสริมให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น 300,400 ล้านหยวน โดยรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า 5 ประเภท จำนวน 83,730,000 เครื่อง รื้อทิ้งเครื่องเก่า 66,210,000 เครื่อง และสามารถรีไซเคิลเหล็กกล้า โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และพลาสติกได้กว่า 970,000 ตัน ซึ่งนับได้ว่านโยบายนี้มีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤติการเงินโลก ขยายการบริโภคภายในประเทศ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างตำแหน่งงานได้อีกมากมาย

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน เปรียบเสมือนสินค้ารุ่นบุกเบิก ที่ทำตลาดมหาศาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ แม้ว่าจีนจะเพิ่งเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามาได้เพียง 10 ปีก็ตาม แต่ก็เป็น 10 ปี ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีน สามารถไต่อันดับได้อย่างยอดเยี่ยม ยกตัวอย่างเช่น การเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่มีกำลังการผลิตเป็นอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่น ด้วยกำลังการผลิตปีละ 27-28 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศในจีน เพียงปีละ 5-6 ล้านเครื่องเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ปริมาณเครื่องปรับอากาศที่เหลือ ได้ถูกส่งออกมาแย่งส่วนแบ่งในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ โดยมีแรงจูงใจด้าน "ราคา" เป็นสำคัญ

ปัจจุบันนี้ บริษัทครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีน ไม่ว่าจะเป็น Gree, Haier, Media, Toyo และยี่ห้อที่มีชื่อเสียงอื่นๆ นอกจากจะส่งออกสินค้าตนเองเพื่อมาทำตลาดในไทยแล้ว ยังได้มีการเริ่มสร้างฐานการผลิตในไทยทั้งเพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ สาเหตุหลักประการหนึ่ง คือ จีนกำลังถูกหลายประเทศ "เพ่งเล็ง" ที่จะสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าที่มีปริมาณมหาศาลจากจีน ดังนั้น การย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นและส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่สาม จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งของจีนในเวลานี้

นอกจากนี้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน เริ่มพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงไม่ได้มีเฉพาะแบรนด์ด้อยคุณภาพอีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน กลับเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก เช่น แบรนด์ GREE เป็นแบรนด์เครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของจีน ตามมาด้วย Haier, Media, Toyo, Aux , Hisens, Kelon และอีกหลากหลายแบรนด์ตามลำดับ แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้เข้ามาทำตลาดในไทยจนสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยในระยะเริ่มต้น จีนเน้นรูปแบบการแข่งขัน ด้วยการส่งสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายเข้ามาในประเทศ ต่อมาก็พัฒนากลายเป็น ส่งชิ้นส่วนมาประกอบในโรงงานอื่นในไทยก่อนจะติดแบรนด์คนไทย หรือตั้งชื่อแบรนด์ขึ้นมาใหม่ที่มีชื่อคล้ายแบรนด์ฝรั่ง หรือแบรนด์ญี่ปุ่น เรียกว่า "แบรนด์ลูกผสม" เพื่อเจตนาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า สินค้านั้นๆไม่ได้ผลิตจากประเทศจีน เพราะในอดีตภาพลักษณ์ของสินค้าแบรนด์จีนหรือสินค้าที่บ่งบอกว่าผลิตในประเทศจีน (Made in China) จะไม่ดีนักในสายตาของผู้บริโภคไทย ดังนั้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน จึงเริ่มเข้ามาทำความรู้จักกับผู้บริโภคไทย โดยที่ผู้บริโภคบางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตนเองใช้อยู่ผลิตในจีน

แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของจีนพยายามเข้ามาทำตลาดในไทย เช่น ไฮเออร์ (Haier) เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของจีน และเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 4 ของโลก ไฮเออร์เป็นผู้ผลิตตู้เย็นติด 1 ใน 3 ของโลก ได้เข้าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในรูปแบบการจำหน่ายทั้งตู้เย็น ทีวี เครื่องเล่นดีวีดี และเครื่องปรับอากาศ ทั้งการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป และการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในไทย

ชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในไทย เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่ของจีนเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในไทย ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายได้ตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ เช่น ทองแดง ปัจจุบันราคาสูงขึ้นถึง 70-80% น้ำมัน พลาสติก เหล็ก ราคาสูงขึ้นถึง 30% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยได้เล็งเห็นถึงความแตกต่างของราคา จึงพยายามเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้แทนจำหน่าย หรือ ผู้นำเข้าส่วนประกอบเพื่อการผลิตแทนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า นับว่าเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ที่มีความเกี่ยวโยงกับกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง สินค้าหลายอย่าง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องกรองน้ำ เครื่องดูดฝุ่น เตาปิ้ง กระติกน้ำร้อน เครื่องกรองน้ำ เครื่องเล่นวีซีดี และดีวีดี และไมโครเวฟ ยิ่งเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลง กำลังซื้อจากผู้บริโภคลดต่ำ ยิ่งทำให้การตอบรับสินค้าราคาถูกจากจีนเหล่านี้มากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน จึงได้ถูกส่งออกเป็นจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่จะนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน จะต้องคำนึงถึงเรื่องของการกำหนดมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการค้าเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว โทร. (86) 20-8384-9453 e-mail: thaitcguangzhou@ditp.go.th

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ