แนวโน้มธุรกิจบริการผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมาแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2013 11:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวม ปัจจุบันประชากรในญี่ปุ่นมีจำนวนลดลง ในปี 2553 ทั่วประเทศจำนวน 128 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุร้อยละ 22.8 และคาดว่าในปี 2563 จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 36 ล้านคน ในขณะที่เขตคิวชู ประชากร 13 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุร้อยละ 24 และคาดว่าในปี 2563 จะมีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคน (รายละเอียดดังตาราง) จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ปลอดภัย จึงทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ธุรกิจการรักษา พยาบาลและการดูแลรักษาผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงสถานที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ ซึ่งเรียกว่า “ธุรกิจผู้สูงอายุ” หรือ “senior business” คาดว่าจะเป็นธุรกิจบริการที่จะเติบโตขึ้น

        ประชากร      ประชากร     ประชากรที่มีอายุ      คาดการณ์    คาดการณ์     คาดการณ์ประชากรที่มี
         ปี 2553       ผู้สูงอายุ      มากกว่า 65 ปี      ประชากร    ประชากร     อายุมากกว่า 65 ปี
        (ล้านคน)    ปี 2553 (%)       ปี 2553         ปี 2563     ผู้สูงอายุ       ปี 2563 (ล้านคน)
                                  (ล้านคน)         (ล้านคน)   ปี 2563 (%)
ทั่วปท.   128.057       22.8         29.246           116.618        31.6        36.849
คิวชู      13.204       24.4          3.221           11.649         34.9         4.064

2. ประเภทธุรกิจ มีการวางแผนสร้างระบบชุมชนด้านการดูแล “Community General Care System” สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยบริการนำเสนอในรูปแบบระบบชุมชนที่สามารถให้บริการหลากหลายด้านแก่ผู้สูงอายุ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ การรักษาพยาบาล การดูแลเอาใจใส่ การปกป้องคุ้มครอง การช่วยเหลือ/ให้กำลังใจ การเป็นที่พึ่งพิง และการจัดเตรียมอำนวยความสะดวกด้านที่พักอาศัย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัยและคุ้นเคยเสมือนกับสถานที่ที่เคยอยู่มา

3. การให้บริการ การดูแลผู้สูงอายุจะแตกต่างจากการดูแลทั่วไป ประกอบไปด้วยบริการต่างๆ เช่น การเฝ้าดูแลอย่างเอาใจใส่ การส่งอาหาร การช่วยซื้อของ และการทำความสะอาด เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตหลายด้าน เช่น อาหารและโภชนาการ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางชะลอความแก่ กิจกรรมสันทนาการและงานอดิเรก เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียดจากการเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในส่วนของความต้องการใช้บริการช่วยซื้อของได้เกิดขึ้นสูงมาก เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่มีรถและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างจากร้านค้าหรือตลาดขายของสดเกินกว่า 500 เมตร ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีประชากรทั่วประเทศที่เข้าข่ายนี้ประมาณ 9.1 ล้านคน โดย 1.06 ล้านคนอยู่ในเขตคิวชู และในกลุ่มนี้เป็นผู้สูงอายุมากถึงประมาณครึ่งหนึ่ง

4. ซุปเปอร์มาร์เกตทางอินเตอร์เนท เป็นธุรกิจที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นบริการรับสั่งสินค้าโดยตรงจากอินเตอร์เนท แล้วมีบริการส่งตรงจากซุปเปอร์มาร์เกตถึงที่พักของผู้สั่งแต่ละราย ในคิวชูก็มีบริการลักษณะนี้โดยไม่เพียงแต่เฉพาะซุปเปอร์มาร์เกตใหญ่ เช่น AEON, Daiei และ Seiyu เท่านั้น แต่รวมถึงซุปเปอร์มาร์เกตท้องถิ่น เช่น Daikyo Plaza (จังหวัดฟูกูโอกะ และนางาซากิ) Marutaka Seisen Ichiba (จังหวัดนางาซากิ) Maizuru Hyakkaten (จังหวัดซากะ) ก็ทะยอยกันเปิดให้บริการค้าออนไลน์ดังกล่าวเช่นกัน ซุปเปอร์มาร์เกตท้องถิ่นเหล่านี้จะทำสัญญาไว้กับผู้ให้บริการส่งสินค้าตรงถึงบ้าน (door-to-door) เนื่องจากมีข้อจำกัดในความสามารถที่จะให้บริการส่งด้วยตนเอง สำหรับธุรกิจผู้ให้บริการส่งสินค้า เช่น บริษัท Yamato Transport เสนอบริการแก่ซุปเปอร์มาร์เกตเต็มรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะการส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรับติดตั้งระบบ IT เพื่อรับรายการสินค้าที่ลูกค้าสั่งสินค้าเข้ามา และติดตั้งจัดระบบควบคุมการรับเงินจากลูกค้า ซุปเปอร์มาร์เกตออนไลน์เป็นธุรกิจหนึ่งที่สำคัญมาก และมีศักยภาพเติบโตได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ข้อควรพึงระวังคือ การทำธุรกิจออนไลน์ก็มีค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นจัดตั้ง และบางธุรกิจออนไลน์ที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งจะได้รับความนิยมสูงในลักษณะเป็นกระแสนิยมซึ่งอาจหมดความนิยมได้อย่างรวดเร็ว และจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

5. การให้บริการยกระดับที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ มี 2 ลักษณะ ได้แก่

5.1 ปรับปรุงบ้านพักเดิมของผู้สูงอายุให้ไม่มีอุปสรรคกีดขวาง หรือทำให้สะดวกในการอยู่อาศัย ซึ่งมีข้อดีคือผู้สูงอายุไม่ต้องปรับตัวมากนัก เนื่องจากคุ้นเคยกับที่พักของตนอยู่แล้ว

5.2 จัดสร้างที่พักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะสม โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถพักอาศัยได้อย่างปลอดภัย ความต้องการที่อยู่อาศัยลักษณะพิเศษสำหรับผู้สูงอายุทั้ง 2 ลักษณะข้างต้นมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากค่าประกันสำหรับการดูแลรักษาพยาบาล (Nursing care) ผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่ายในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกลักษณะพิเศษที่เป็นพื้นฐานต่างๆ ดังนั้น ระบบในการดูแลผู้สูงอายุแบบใหม่จึงถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2555 โดยเป็นลักษณะที่มีที่พัก พร้อมทั้งการให้บริการหลากหลายด้าน ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเฉพาะบริการการดูแลในโรงพยาบาลที่ต้องจ่ายประกันการดูแลพยาบาลที่สูงมาก

6. แนวโน้มธุรกิจบริการผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี การแข่งขันกันในตลาดก็มีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และการเริ่มต้นทำธุรกิจประเภทนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก โดยที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ คนที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปส่วนมากไม่ชอบได้รับการดูแลเหมือนเป็นคนแก่ ดังนั้น เพื่อให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ ต้องทำความเข้าใจและสามารถตอบ สนองความต้องการที่ละเอียดอ่อนของ ผู้สูงอายุแต่ละคนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งธุรกิจลักษณะ SMEs ในแต่ละท้องถิ่นน่าจะมีความได้ เปรียบและสามารถรับมือกับความต้องการที่แตกต่างกันออกไปได้มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

สำหรับในเขตคิวชูมีหลายจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของ SMEs ในคิวชูที่จะเริ่มทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุก่อน และเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์เครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งบริการสปาและนวดแผนโบราณอีกด้วย

สคร.ฟูกูโอกะ

ที่มา : Fukuoka Financial Group Monthly Survey Jan/Feb 2012


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ