1. ภาพรวมเศรษฐกิจ/ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ
ถึงแม้ว่าสถานการณ์และภาวะทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีทีท่าไม่ค่อยแจ่มใสนัก รวมถึงมีแนวโน้มที่ถดถอยลง แต่ประเทศเยอรมนียังคงเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้รวดเร็วและดีที่สุดของสหภาพยุโรป ประเทศเยอรมนียังคงมีอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลเยอรมันดำเนินนโยบายที่สำคัญ คือ การลดอัตราการว่างงาน + การสร้างงานในกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว รวมทั้งการผลักดันการส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้ายานยนต์และเครื่องจักรกล ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนียังคงเป็นภาคอุตสหากรรมที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ช่วยทำให้ภาคอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ของเยอรมนีฟื้นตัวและเติบโตอย่างช้าๆ
ในไตรมาสแรก ปี 2556 ผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 1.2 ในเดือนมีนาคมปี 2556 ทำให้ผลผลิตในไตรมาสแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 (เทียบจากผลผลิตในไตรมาสที่ 4 ปี 2555) ปริมาณกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง (Construction Industry) และอุตสาหกรรมการผลิตจากวัตถุดิบ (Manufacturing Industry) แสดงให้เห็นว่าประเทศเยอรมนีจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ภายในปี 2556 รวมถึงอัตราการว่างงานของเยอรมนียังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติโดยสหภาพแรงงาน ( Federal Labor Office) พบว่าประเทศเยอรมนีมีอัตราว่างงานในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 เท่ากับร้อยละ 6.8 ( 2.937 ล้านคน) ของประชากรในวัยทำงาน โดยลดลงจากอัตราว่างงานในเดือนเมษายน ปี 2556 จำนวน 83,360 คน (อัตราว่างงานในเดือนเมษายนปี 2556 เท่ากับร้อยละ 7.1 ของประชากร) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของตลาดแรงงานเยอรมันปี 2556 นาย Carsten Brzeski นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากบริษัท ING ( International-Netherlands Group) ได้ให้ความเห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศเยอรมนีเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่รวดเร็วแต่มีเสถียรภาพ
2. สถานการณ์การค้า การนำเข้าและการส่งออกของประเทศเยอรมนี
จากสถิติการค้าของประเทศเยอรมนี ในช่วงสามปีที่ผ่านมา (2553-2555) ประเทศเยอรมนีส่งออกสินค้ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 1,380,686.00 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2555 ที่ผ่านมาประเทศเยอรมนีส่งออกสินค้ารวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,408,462.00 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจำนวน 65,983.00 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 4.48 สำหรับปริมาณการผลิตในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีมีปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมามาโดยตลอด ในปัจจุบัน การส่งออกสินค้าของประเทศเยอรมนียังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับปี 2555 (การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี
2555 ลดลงร้อยละ 1.5 และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม ปี 2556 โตขึ้นเพียงร้อยละ 0.1) แต่ผู้ส่งออกชาวเยอรมันยังคงมีทัศคติที่ดีต่อการส่งออกสินค้าของเยอรมนีในอนาคต และจากสถิติของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK) พบว่า ร้อยละ 30 ของผู้ส่งออก (หรือประมาณ 7500 บริษัท) เชื่อมั่นว่าการส่งออกของประเทศเยอรมนีจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556
2.1 การส่งออก
นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ต่างคาดคะเนว่า ในอนาคตประเทศเยอรมนีจะเป็นประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน โดยในอดีตที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศผู้แข่งที่สำคัญของเยอรมนี แต่ปัจจุบันสินค้าของประเทศจีนได้ยึดส่วนแบ่งการตลาดสินค้าในหลายๆประเทศทั่วโลก ทำให้ตลาดส่งออกของสหรัฐอเมริกาลดลงจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 10 และตลาดส่งออกของจีนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 11 ซึ่งมูลค่าการส่งออกของจีนได้แซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว และหากเปรียบเทียบประเทศเยอรมนีกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เป็นต้นประเทศเยอรมนีจัดเป็นประเทศผู้นำและจัดอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม สามารถแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมเพื่อนบ้านและจากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมัน และ นาย Li Keqiang ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ โดยเยอรมนีส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 66.6 พันล้านยูโรต่อปี (เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการค้ากับจีนมากที่สุดในสหภาพยุโรป) ประเทศจีนจึงมีความสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของประเทศเยอรมนีเป็นอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าอะไหล่รถยนต์ เครื่องจักรโรงงาน และ
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศเยอรมนีเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต นับเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเช่นกัน
สินค้าส่งออกสำคัญของเยอรมนีในปัจจุบันและในอนาคต ได้แก่
- สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ
- เครื่องจักรกล
- มอเตอร์เครื่องยนต์
- ผลิตภันฑ์ยา
นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนีได้ขยายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น การลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา จีน บราซิล เม็กซิโก อินเดียและไทย เป็นต้น ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดสินค้ายานยนต์และตลาดสินค้าเครื่องบินและชิ้นส่วนประกอบต่างๆ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ของเยอรมนีที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศมาก ได้แก่ บริษัท Siemens AG เป็นบริษัทเยอรมนีที่ลงทุนในประเทศจีนมากที่สุด ในเรื่องสินค้าเครื่องจักร เครื่องบินและเทคโนโลยี ส่วนบริษัท MHM Holding GmbH และ Metro Cash & Carry International GmbH เป็นบริษัทเยอรมนีที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศอินเดียสำหรับสินค้าอาหาร เป็นต้น