ธุรกิจรับสั่งตัดเสื้อผ้าของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2008 11:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ธุรกิจรับสั่งตัดเสื้อผ้าในประเทศญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. การสั่งตัดสูทหรือเครื่องแบบสำหรับใช้ในบริษัท โดยผู้ประกอบการได้พัฒนารูปแบบในการรับตัดเย็บเป็นแบบต่างๆ โดยเสนอรายละเอียดเริ่มตั้งแต่รูปแบบของการใช้งาน สี ดีไซน์ ขนาดมาตรฐาน (S M L XL หรือไซส์ญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่เบอร์ 5-11 ) และวัตถุดิบ โดยลูกค้าจ้างบริษัทเข้ามารับงาน โดยเริ่มจากการหารือความต้องการก่อน เพื่อที่บริษัทจะได้นำไปจัดทำดีไซน์และแบบให้ลูกค้าพิจารณา จากนั้นจะให้ลูกค้าเลือกประเภทผ้าและจัดทำตัวอย่างสินค้าเพื่อทำการตัดเย็บและส่งมอบ สินค้าต่อไป ซึ่งกรณีนี้เหมาะสำหรับการสั่งตัดปริมาณมาก อย่างไรก็ดี ในการสั่งตัดน้อยชิ้นและต้องการเสื้อผ้าแบบที่บริษัทจัดเสนอไว้ในเว็บไซต์ ลูกค้าอาจสั่งตัดได้ทางอินเตอร์เน็ทหรือจากแคตตาล็อกของบริษัท
2. การสั่งตัดส่วนตัว (Personal Order) ยังคงเหลืออยู่ในรูปแบบของการตัดสูทบุรุษและสตรีตามร้านตัดสูททั่วไป การตัดชุดแต่งงานของเจ้าสาว (Wedding Dress) การตัดเสื้อผ้าเฉพาะแบบ เช่น การตัดชุดผ้าไหมไทย หรือชุดจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีขายในประเทศ รวมทั้งการสั่งตัดพิเศษจากดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เช่น Issey Miyake หรือ Hana Mori เป็นต้น ในกรณีนี้ ลูกค้าสามารถสั่งตัดตามร้านรับตัดเสื้อผ้า โดยจะมีการวัดตัวเป็น การเฉพาะ ซึ่งเมื่อสั่งตัดแล้ว ทางบริษัทจะนัดลูกค้ามารับสินค้าต่อไป
พฤติกรรมการบริโภคในตลาดญี่ปุ่น
1. ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่ทำงานบริษัท บริการ และโรงงานอุตสาหกรรม อายุตั้งแต่ 20-60 ปี เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการแต่งกาย เรียบร้อย และเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นจึงนิยมให้พนักงานแต่งเครื่องแบบบริษัทเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่อนุญาตให้พนักงานแต่งสูทสากลในการทำงานด้วยเช่นกัน ดังนั้น ประเภทเสื้อผ้าที่สั่งตัดส่วนใหญ่จะเป็นประเภทสูทบุรุษ/สตรี เครื่องแบบบริษัท
2. การสั่งตัดส่วนตัว ไม่เป็นที่นิยมแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีรูปแบบที่ออกแบบได้ดีในการสวมใส่ มีแพทเทิร์นสวยงาม และมีราคามาตรฐาน อย่างไรก็ดีในการตัดชุดพิเศษ เช่น ชุดเจ้าสาว หรือชุดเฉพาะแบบ ก็ยังคงมีลูกค้าใช้บริการอยู่บ้าง
3. โอกาสที่ใช้เสื้อผ้าสั่งตัดมักเป็นการแต่งสูทหรือเครื่องแบบบริษัท เพื่อทำงานในชีวิตประจำวัน
4. ในการเลือกร้านตัดเสื้อผ้า ผู้บริโภคจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ฝีมือในการตัดเย็บ ราคา ชื่อเสียง คุณภาพ ระยะเวลาในการส่งมอบ รวมทั้งการโฆษณาจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่มี Presentation ที่ดี
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
1. การสั่งตัดสูทหรือเครื่องแบบเป็นตลาดขนาดใหญ่ในปัจจุบัน หากผู้ประกอบการไทยสามารถให้บริการบริษัทเหล่านี้ได้ ก็จะมีปริมาณสั่งตัดเป็นจำนวนมากในแต่ละคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ ฝีมือในการตัดเย็บ ระยะเวลาในการส่งมอบ การให้บริการหลังการขาย เช่น การแก้ไขเสื้อผ้าที่ตัด อัตราค่าบริการเทียบกับต้นทุนของบริษัท รวมถึงการแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่นและต่างประเทศ เช่น จีน หรือเวียดนาม
2. การรับตัดเสื้อผ้าเฉพาะแบบ เช่น ชุดผ้าไหมไทย ก็เป็นอีกช่องทางที่มีโอกาส เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่มีคู่แข่งโดยตรงในตลาดญี่ปุ่น โดยเริ่มจากการเจาะกลุ่มลูกค้าสุภาพสตรีระดับสูงในวงสังคม
3. การเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางไปยังประเทศไทยมีโอกาสขยายได้ เพราะชาวญี่ปุ่นมองหาความแปลกใหม่และการแต่งกายที่มีการแสดงฐานะและบุคลิกเฉพาะตัวมากขึ้น แต่ผู้บริโภคญี่ปุ่นก็มีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากกลุ่ม นักท่องเที่ยวอเมริกาหรือยุโรปบางประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวและใช้บริการร้านตัดเสื้อผ้าในประเทศไทย เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความพิถีพิถันในการแต่งกาย จึงนิยมเสื้อผ้าที่มีการตัดเย็บประณีตและใช้วัสดุคุณภาพสูง มิได้เน้นเรื่องราคาเป็นหลัก
4. กิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสม คือ การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวในลักษณะ Package เช่น เที่ยวเมืองไทยพร้อมตัดชุดผ้าไหมไทย ซึ่งในระยะ เริ่มต้น ควรคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่เป็นร้านระดับสูงมี Brand Name เป็นของตนเองที่เน้นคุณภาพและการบริการที่ดี ราคาสมเหตุสมผล เพื่อสร้างความประทับใจและนำไปสู่การบอกเล่าไปยังกลุ่มเพื่อนฝูงต่อไป
5. การประชาสัมพันธ์ในนิตยสารท่องเที่ยวต่างๆ หรือ Directory ที่แจกนักท่องเที่ยวการทำงานร่วมกับนักเขียนจากนิตยสารแฟชั่นชั้นนำของญี่ปุ่นเพื่อเขียนแนะนำผู้ให้บริการรับสั่งตัดเสื้อผ้า ควบคู่ไปกับ Young Designer ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรง
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ