รายงานภาวะเศรษฐกิจอินเดียเดือนตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2008 14:13 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ค่าเงินรูปีตกลงอย่างมากอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน โดย ณ วันที่ 22 ตุลาคม2551 อยู่ที่ 49.3 รูปี/1 เหรียญสหรัฐ ลดต่ำจากต้นเดือนตุลาคมซึ่งอยู่ที่ระดับ 47 รูปี และเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีก็พบว่าค่าเงินรูปีลดลงถึง17.3% โดยคาดว่าจะลดลงถึงระดับ 50 รูปี/1 เหรียญสหรัฐภายในสิ้นปีนี้ สิ่งนี้ส่งผลต่อการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2551 การขาดดุลจะสูงถึง 10% ของ GDP

การขาดดุลการค้าของอินเดียมีผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาน้ำมันที่สูง อีกทั้งการนำเข้าน้ำมันของอินเดียมีสัดส่วนถึง 33% ของการนำเข้ารวม ทั้งนี้การนำเข้าน้ำมันของอินเดียเมื่อสิ้นเดือนกันยายนมีสูงถึง 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกจะขยับตัวลดลงก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินรูปีที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้

โดยทางทฤษฏีค่าเงินรูปีที่ลดน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ตลาดส่งออกสำคัญของอินเดียบางตลาด เช่น สหรัฐ จีน UAE และสหราชอาณาจักรล้วนได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดดุลการค้าคือการนำเข้านอกกลุ่มน้ำมัน ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึง 51% ในเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในกลุ่ม ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์วิศวกรรม สภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (the Prime Minister’s Economic Advisory Council-EAC)ประมาณการว่าในปี 2008 อินเดียจะขาดดุลการค้า 134 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10.4%ของ GDP อันเนื่องมาจากการที่ค่าเงินรูปีที่ลดลงทำให้ต้องซื้อน้ำมันในราคารูปีที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม EAC กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือการส่งออกบริการที่สร้างรายได้หลักให้แก่อินเดีย โดยเฉพาะในสาขาซอฟต์แวร์ call center การส่งกลับรายได้ของคนอินเดียโพ้นทะเล และการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพียง 28% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 31.5% ซึ่งจะส่งผลต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้คาดว่าจะเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นๆ

IMF คาดว่าในปี 2008 เศรษฐกิจของอินเดียจะขยายตัว 7.9% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.3% และในปี2009 จะลดลงไปที่ระดับ 6.9% อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินเดีย นาย Kamal Nath ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเขามีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจอินเดียยังคงมีความแข็งแกร่งโดย GDP จะขยายตัวที่ 7.9% และยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่สูง (FDI ในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคมมีมูลค่า 14.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) และการส่งออกในเดือนสิงหาคมก็ขยายตัวถึง 31% และคาดว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกของอินเดียมีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลก มิได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลัก นอกจากนั้นธนาคารพาณิชย์ต่างๆในอินเดียก็ยังไม่มีใครออกมาตรการที่เข้มงวดออกมาตามกระแสวิกฤติเศรษฐกิจโลกเหมือนประเทศอื่นๆในเอเชีย

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย Palaniappan Chidambaramได้ออกประกาศว่าจะเสนอให้รัฐสภาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 49 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างงานในชนบท การแทรกแซงราคาอาหารและน้ำมันภายในปลายปีนี้และต้นปีหน้า

นอกจากนั้น นาย Subbarao ได้ชี้แจงว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลงถึงระดับ 11.44% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 4 เดือน อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงกว่าครึ่งถึงระดับ 68.57 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เทียบกับระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ระดับ147.27 ต่อบาเรล

นายกรัฐมนตรีของอินเดีย นาย Manmohan Singh คาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 10% ภายในสองเดือนที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม อินเดียก็มีแผนรองรับสำหรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจระยะสั้น กระตุ้นการใช้จ่ายของเอกชนให้มากขึ้น และคาดว่าในปลายปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 7.1%

India’s Economic Indicators

2008 2009*

GDP at current price (US$ Bil.)      1,237    1,322
GDP Growth (%)                         7.9      6.9
Export Target (US$ Bil.)             200**      248
Export Growth(%)                        25       24
Inflation(%)                           7.1      6.2
*estimated
Source: Reserve Bank of India, October 30,2008

          จากรายงานของสถาบันวิจัย  Macquarie Research ได้รายงานว่าอินเดียเริ่มประสบกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแล้ว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ เริ่มหาแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้น เนื่องจากธนาคารเริ่มเข้มงวดกับการปล่อยกู้ ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง


          สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ เมืองเชนไน
          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ