ทิศทางโลกในปี 2025 : ขั้วอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 4, 2008 11:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นาย Barack Obama วุฒิสมาชิกรัฐ Illinois จากพรรค Democrat จะเข้ามารับตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ แทนนาย George W. Bush ในช่วงต้นปี 2009 ทั้งนี้ ทาง National Intelligence Council ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดทำรายงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนด้านนโยบายแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกรายงานเรื่อง Global Trend 2025: A Transformed World” ขึ้นมาเพื่อนำเสนอภาพอนาคตทิศทางของโลกซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาบริหารประเทศของนาย Obama

รายงานฉบับดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำโลกที่มีแนวโน้มลดถอยลงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงปี 2025 โดยแม้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงสถานภาพในการเป็นประเทศที่มี บทบาทสำคัญสูงสุดของโลกเพียงหนึ่งเดียว แต่สถานภาพทางการทหารและเศรษฐกิจจะลดถอยลงไป เพราะการที่โลกมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพลดลง อันเป็นผลมาจากปัญหาการขาดแคลนพลังงาน อาหาร และน้ำรวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ การก่อการร้าย และภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ซึ่งส่วนใหญก่ หนดโดยสหรัฐฯ) จะเลือนหายไป อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของมหาอำนาจใหม่ซึ่งเกิดจากการถ่ายเทอำนาจจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของโลก

รายงานดังกล่าวได้ระบุว่า จีนและอินเดียจะมีบทบาทสำคัญร่วมกับสหรัฐฯ ในการกำหนดทิศทางโลก ดังนั้น ทั้งสองประเทศจำต้องตัดสินใจในการกำหนดบทบาทของตนในเวทีโลกตามศักยภาพที่สูงขึ้นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ อินโดนีเซีย อิหร่าน และตุรกี ก็จะมีอำนาจทาง การเมือง และเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับรัสเซียนั้น อนาคตประเทศมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการลงทุนในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ การขยายและกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ รวมถึงการผนวกตัวเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ศักยภาพของรัสเซียจะเพิ่มขึ้นทั้งความมั่งคั่งและอำนาจทางการทหาร และจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายในปี 2025 ในทางกลับกัน หากรัฐบาลรัสเซียเพิกเฉยในการดำเนินนโยบายดังกล่าวประกอบกับราคาน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซียยังคงอยู่ที่ระดับราคา 50-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สภาพการณ์ของประเทศก็จะไม่เป็นไปตามที่ได้กล่าวไว้

สำหรับปัญหาความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี การรวมประเทศจะมีความเป็นไปได้สูงในรูปแบบ “North-South Confederation” มิใช่ “Unitary State” และแม้จะมีการเจรจาทางการทูตเกี่ยวกับเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าในปี 2025 เกาหลีเหนือจะยอมลดศักยภาพของตนในเรื่องดังกล่าวลงแต่อย่างใด

จากรายงานฉบับดังกล่าว ยุโรป ในปี 2025 จะมีพัฒนาการตามวิสัยทัศน์ของผู้นำในปัจจุบันเกี่ยวกับการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอิทธิพลในเวทีโลกทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี บรรดาผู้นำของยุโรปจะเผชิญปัญหาสำคัญที่จะต้องชี้ให้ประชากรของตนเห็นถึงประโยชน์จากการรวมประเทศอย่างเด่นชัด รวมถึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาการลดลงของประชากรในภูมิภาค

ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น รายงานฯ ได้วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับปัญหาการกำหนดนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยในภาคในประเทศ ญี่ปุ่นจะต้องเจอกับปัญหาที่หลากหลายดังนี้

1. ปัญหาจากการที่ประเทศมีจำนวนประชากรสูงอายุในสัดส่วนสูง ซึ่งทำให้ภาคแรงงานในประเทศหดตัว อันจะนำมาซึ่งการจ้างแรงงานต่างด้าว และจะมีผลกระทบต่อระบบการจัดเก็บภาษีและสวัสดิการสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

2. ในทางการเมือง ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์การแตกแยกและการรวมตัวของพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการเมืองแบบพรรคเดียวจะสูญสลายไปในปี 2025

สำหรับด้านต่างประเทศ การกำหนดนโยบายของญี่ปุ่นจะถูกกดดันโดยสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่จะทวีอิทธิพลสูงขึ้นเป็นอย่างมากในภูมิภาค ในหลากหลายรูปแบบ เช่น

1. หากจีนยังสามารถคงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เช่นในปัจจุบันญี่ปุ่นก็จำต้องกำหนดนโยบายต่างประเทศที่เน้นกระชับความสัมพันธ์กับจีน รวมถึงแสวงหาแนวทางขยายตลาดด้วยการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี

2. หากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ หรือจีนดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน ญี่ปุ่นก็จะดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวหรือจำกัดบทบาทของจีนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐฯ

3. หากสหรัฐฯ ลดบทบาทในการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงร่วมกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นอาจตัดสินใจที่จะหันมาสานสัมพันธ์กับจีนในประเด็นภูมิภาค รวมถึงเรื่องเสถียรภาพในพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรรอบประเทศ

4. หากสหรัฐฯ และจีนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง สหรัฐฯ อาจเอื้อให้จีนมีบทบาททางการทหารในภูมิภาคมากขึ้นทั้งโดยตนเองหรือโดยร่วมกับกำลังทางการทหารของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปรับนโยบายต่างประเทศ โดยน้นกระชับความสัมพันธ์กับจีน ให้สอดรับต่อทิศทางดังกล่าว เพื่อคงไว้ซึ่งบทบาททางความมั่นคงและการเมืองในภูมิภาคต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ