วิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลียในด้านต่างๆ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดผลผลิตโดยรวม นักวิชาการมากมายได้คาดคะเนถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจออสเตรเลียในปีหน้าว่า อาจจะชะลอตัวลง และอาจจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยดั่งประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ อีกทั้งอาจจะเกิดปัญหาการว่างงานขึ้นในอนาคต เพราะในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราการว่างงานในออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้น0.2%ทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมเป็น4.5% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ธนาคารANZได้ออกมาคาดการณ์ว่าอัตราการจ้างงานของออสเตรเลียจะพุ่งขึ้นถึง 6.5% ในกลางปี2553 โดยธนาคาร ANZ เองได้ประกาศปลดพนักงานถึง 800 ตำแหน่ง ส่วนธนาคาร Macquarie ซึ่งเป็น investment banking ของออสเตรเลียประกาศปลดพนักงานทั่วเอเชีย 10-15%
อย่างไรก็ดี องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( OECD) ได้คาดการณ์ว่าออสเตรเลียจะเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาที่สามารถหนีสภาวะถดถอย โดยในปีนี้คาดว่า อัตราการขยายตัวของ GDP จะสูงถึง 1.7% โดยในส่วนของตลาดหุ้น ออสเตรเลีย ผลกระทบของวิกฤตการณ์ซับไพรม์ทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นออสเตรเลีย ตกลงไปถึง 25% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับตลาดผลผลิตนั้น ผลกระทบของวิกฤตการณ์ซับไพรม์สามารถแบ่งได้ดังนี้
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของโลกและออสเตรเลียนั้นอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสั่นคลอน ทำให้ความมั่นใจและกำลังในการซื้อของผู้บริโภคลดลง ผู้บริโภคต้องการที่จะเก็บเงินเป็นเงินสดมากกว่าจับจ่ายใช้สอยเพื่อสำรองไว้สำหรับอนาคต ทำให้ยอดบริโภคลดลง โดยภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นคือ ภาคธุรกิจค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ อาทิเช่น ห้างเดวิด โจนส์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงยอดขายที่ตกลงถึง6.3% ของไตรมาสที่3 ของปี2551 และอธิบายว่าเป็นผลของสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอยลง นอกจากนี้ บริษัท ฮาร์วีย์ นอร์แมน บริษัทจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ขนาดใหญ่ของออสเตรเลียได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการที่จะปิดสาขาลงถึง 10 สาขา และทบทวนแผนการขยายกิจการไปต่างประเทสใหม่ในช่วงปีหน้าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ในภาคธุรกิจเครื่องแต่งกาย บริษัทเฮอร์ริงโบน ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าHi-endได้ออกมาเปิดเผยถึงยอดการขายที่ตกลงถึง 23% จากปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าHi-endได้ลดการบริโภคลง
การลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นนอกจากจะทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบแล้วอาจทำให้ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานด้วย อันเนื่องมาจากการลดขนาดและปิดสาขาของธุรกิจต่างๆ ซึ่งสถานการณ์คาดว่าจะเลวร้ายลงในปีหน้า หลังจากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสและปีใหม่ผ่านพ้นไปแล้ว
วิกฤตการณ์ซับไพรม์นั้นมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของออสเตรเลียอย่างสูง ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียจะสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกแร่ธรรมชาติและวัตถุดิบไปต่างประเทศได้มาก แต่เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะ 3 ประเทศ คู่ค้าสำคัญของออสเตรเลีย คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ทำให้ราคาของแร่ธรรมชาติและวัตถุดิบปรับตัวลดลงถึง 35% อีกทั้งการที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังของ 2551 ทำให้ผู้ส่งออกแร่ธรรมชาติและวัตถุดิบมีรายได้น้อยลง นอกจากนี้ การส่งออกในด้านต่างๆ ของออสเตรเลียนั้นคาดว่าจะลดลงด้วย อันเนื่องมาจากการลดลงในอุปสงค์ของผู้บริโภคทั่วโลก
รัฐบาลออสเตรเลีย นำโดยนายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ ได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจหลายอย่างเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวของออสเตรเลีย อันเป็นผลมากจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ที่สำคัญได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ถึง 3 ครั้งภายใน 2 เดือน โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เหลือเพียง 4.25% การใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลชั่วคราวเพื่ออัดฉีดเงิน $10.4 พันล้านเหรียญออสเตรเลียเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการปล่อยให้ค่าเงินออสเตรเลียอ่อนค่าลงเพื่อสนับสนุนการส่งออก อย่างไรก็ตามผลของนโยบายเศรษฐกิจเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาอันสั้น และยังคลุมเครือเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะงักงันของโลกในปัจจุบัน
ผลกระทบของวิกฤตการณ์ซับไพรม์ซึ่งมีผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียได้ส่งผลต่อกำลังซื้อของคนออสเตรเลียอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ รถยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ซึ่งล้วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมายังตลาดออสเตรเลีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้สูงถึงเกือบร้อยละ 65 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยมาออสเตรเลีย จึงคาดว่า การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง จากเดิมที่คาดจะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15 อาจลดเหลือเพียงร้อยละ 8 โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ซิดนีย์
ที่มา: http://www.depthai.go.th