อาหารทะเลแช่แข็งในตลาดอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 17:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อิตาลีเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีฝั่งทะเลยาวทำให้จับสัตว์ทะเลได้มากอีกทั้งยังมีการเพาะเลี้ยงตามแหล่งน้ำทั้งทางธรรมชาติ และในบ่อเลี้ยง จึงทำให้มีอาหารทะเลเพียงพอกับความต้องการของตลาด แต่อาหารทะเลราคาโดยเฉลี่ยกลับแพงกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เนื่องจากต้องรักษาความสด ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจึงสูง ต้องขนส่งโดยใช้ตู้แช่ และสินค้าต้องถึงผู้บริโภคเร็วที่สุดปัจจุบันการนำมาแช่แข็งได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถรักษาคุณค่าทางอาหาร สีสันและรสชาติได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังหาซื้อได้ง่ายกว่าของสด เก็บไว้ได้นาน ความนิยมในการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ ราคามีแนวโน้มถูกลง และที่สำคัญอาหารทะเลแช่แข็งมีความปลอดภัยทางสุขอนามัยมากกว่าของสด ซึ่งหากขนส่งหรือจัดเก็บไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะที่วางขายตามตลาดสด อาจเจอสินค้าที่นำไปแช่แข็งเองแล้วนำออกมาจำหน่ายใหม่เหมือนเป็นของสดเพราะมีการละเมิดกฎหมายโดยใช้น้ำยากันบูดที่ทำให้ดูใหม่และสด

ตลาดอาหารทะเลแช่แข็งเป็นตลาดที่มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะอาหารฯสำเร็จรูป เริ่มนิยมก่อนในสังคมเมือง ที่ผู้บริโภคไม่มีเวลาไปเดินตลาดสดหรือทำอาหารเอง เลือกของสดไม่เป็น ทำอาหารไม่เก่งอาหารแช่แข็งจึงเป็นทางเลือกที่ดี ได้ความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และอร่อย โดยเฉพาะอาหารทะเล ซึ่งเป็นอาหารที่ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนคุ้นเคยมาก เพราะมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ และเป็นอาหารที่ถือว่าขาดไม่ได้

อาหารทะเลแช่แข็งที่นิยมทานส่วนใหญ่เป็นปลา ซึ่งเป็นอาหารประเภทที่นิยมทานมากที่สุดรองลงมาคือกุ้ง ปลาหมึก ปลาหมึกยักษ์ หอยแมงภู่ หอยลาย กุ้ง Lobster ปู และหอยทาก

ส่วนการนำเข้าจากไทย เป็นการนำเข้ากุ้งแช่แข็งและปลาหมึกแช่แข็ง ส่วนปลาแช่แข็งนำเข้าสำหรับผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลี อาหารทะเลแช่แข็งที่นำเข้าจากไทยมีทั้งที่ต้องนำไปประกอบอาหารอีกต่อหนึ่ง เช่น กุ้งและปลาหมึกสดแช่แข็ง และที่เป็นอาหารสำเร็จรูปอย่างกุ้งชุบแป้งทอดกรรเชียงปู ปลาหมึกชุบแป้งทอด

การนำเข้าอาหารทะเลของอิตาลี(Frozen fish and seafood)

การนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็ง

ในปี 2008 มีมูลค่า 4.141,367 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,91 เมื่อเทียบกับปี 2007

ประเทศคู่นำเข้าเรียงตามลำดับมูลค่าการนำเข้า ได้แก่ สเปน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค ฝรั่งเศส กรีก เวียตนาม อาเจนติน่า ไทย อังกฤษ โมรอคโค เอควอดอร์ สวีเดน อินเดีย ฯลฯ

  • การนำเข้ากุ้งแช่แข็ง (Frozen shrimp, prawn)

ในปี 2008 อิตาลีมีมูลค่านำเข้ารวมทั้งสิ้น 445,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,84 เมื่อเทียบกับปี 2007

ประเทศคู่นำเข้าเรียงตามลำดับมูลค่าการนำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่

  • เอควอดอร์ มูลค่า 134,752 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25,94 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 30,27
  • อาร์เจนติน่า มูลค่า 85,311 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,49 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19,16
  • สเปน มูลค่า 41,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 24,59 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9,28
  • อินเดีย มูลค่า 27,964 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15,49 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6,28
  • เดนมาร์ค มูลค่า 25,110 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15,41 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5,64
  • ตูนิเซีย มูลค่า 23,168 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,74 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5,20
  • เวียตนาม มูลค่า 11,011 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22,29 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2,47
  • ไทย มูลค่า 10,899 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 57,00 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ2,45
  • อินโดนีเซีย มูลค่า 10,159 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48,36 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2,28
  • เนเธอร์แลนด์มูลค่า 9,935 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14,58 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2,23
  • การนำเข้าปลาหมึกแช่แข็ง (Crustaceans)

ในปี 2008 อิตาลีมีมูลค่านำเข้ารวมทั้งสิ้น 163,442 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0,28 เมื่อเทียบกับปี 2007

ประเทศคู่นำเข้าเรียงตามลำดับมูลค่าการนำเข้า 10 อันดับแรก ได้แก่

  • อังกฤษ มูลค่า 43,356 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0,75 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26,53
  • สเปน มูลค่า 39,382 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31,81 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 24,10
  • เดนมาร์ค มูลค่า 39,115 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 17,33 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23,93
  • ไอร์แลนด์ มูลค่า 14,655 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 25,65 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8,97
  • เนเธอร์แลนด์ มูลค่า 12,357 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9,72 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7,56
  • ตูนิเซีย มูลค่า 4,435 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 337,86 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2,71
  • ฝรั่งเศส มูลค่า 2,017 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25,26 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1,23
  • กรีก มูลค่า 1,496 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50,11 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0,92
  • เยเมน มูลค่า 1,344 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 25,05 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0,82
  • มอลต้า มูลค่า 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 358,33 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0,81

การนำเข้าจากประเทศไทย อิตาลีนำเข้าเอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยเป็นมูลค่า 0,214 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 69,06 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0,13การนำเข้าจากไทยยังมีแนวโน้มดี โดยเฉพาะกุ้งแช่แข็ง ประเทศคู่แข่งสำคัญ ได้แก่สินค้ากุ้ง ประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ ประเทศเอควอดอร์ อาร์เจนติน่า อินเดีย เวียตนาม, สินค้าปลาหมึกประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ อินเดีย เกาหลีใต้ จีน ,สินค้าปลา ประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ โมรอคโค ตูนิเซีย สเปน เป็นต้น

ประเทศคู่แข่งไทยเหล่านี้ ราคาสินค้าถูกกว่าของไทย แต่ผู้นำเข้ายังเชื่อถือและความมั่นใจในมาตรฐานสินค้าไทยมากกว่า แต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำอย่างมากในปีปัจจุบัน ทำให้ราคาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกซื้อสินค้า และการแข่งขันจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ฉลากสินค้าหรือข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์

1. อาหารแช่แข็งต้องมีคำว่า FROZEN (ภาษาอิตาเลียน SURGELATO) ระบุชัดเจน

2. ระบุวิธีการนำอาหารแช่แข็งไปใช้อย่างถูกวิธี เช่น ควรนำออกมาละลายก่อนเป็นเวลานานเท่าใดก่อนนำไปใช้ปรุง หรือไม่จำเป็น

3. ระยะเวลาการเก็บอาหารแช่แข็ง (วันหมดอายุ) ไม่ควรเกินเมื่อใด สินค้าจึงยังคงคุณค่าเดิม

4. หลักการเก็บอาหารแช่แข็งที่ถูกต้อง ได้แก่ อุณหภูมิที่เหมาะสม และตู้แช่ รวมถึงอุปกรณ์การแช่ที่ได้มาตรฐานควรเป็นอย่างไร อุณหภูมิมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง และการแช่อาหารแช่แข็งคือ -18 องศาเซลเซียส ผ่อนผันได้ไม่เกิน 3 องศาเซลเซียส แต่อาจมีแตกต่างไปตามประเภทอาหาร ซึ่งผู้ผลิตต้องระบุให้ผู้บริโภคทราบอุณหภูมิที่เหมาะสมในการแช่อาหารนั้น

5. ต้องใส่คำเตือนแก่ผู้บริโภคว่า ห้ามนำอาหารแช่แข็งที่ละลายแล้ว นำกลับไปแช่แข็งในตู้แช่ใหม่

6. อาหารทะเลต้องใส่ชื่อทางการค้าสากลของสัตว์ทะเล ประเทศที่ส่งออก

7. ชื่อบริษัทผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้กระจายสินค้า

8. หมายเลขครั้งที่ผลิต (lot no.)

งานแสดงสินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง

งานแสดงสินค้า Mediterenean Seafood Exhibition (www.medseafood.com) ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2009 (ปี2010 ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์) จัดปีละครั้ง ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมือง Rimini ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของอิตาลี

ข้อเสนอแนะ

1. ควรศึกษาและปฎิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องของสุขอนามัยของอาหารและเชื้อโรค เนื่องจากมีกฎระเบียบและการตรวจสอบที่เข้มงวด หากตรวจพบเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อน สินค้าจะถูกยึดและทำลาย เกิดความเสียหายโดยตรงไม่เพียงต่อผู้ส่งออก แต่ยังทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของไทยขาดความน่าเชื่อถือไปด้วย และส่งผลให้อาหารทะเลจากไทยโดนเพ่งเล็งและตรวจสอบมากขึ้นกว่าเดิม และหากเกิดขึ้นบ่อย อาจถูกห้ามการนำเข้าจากไทย

2. ระมัดระวังการใช้สารสังเคราะห์สำหรับอาหารบางประเภท เช่น สารกันบูด สี เป็นต้น ในปริมาณที่ไม่เกินกำหนด

3. ฉลากบนผลิตภัณฑ์ต้องเป็นภาษาอิตาเลียน ฉะนั้น ผู้ส่งออกควรเตรียมพร้อมด้านข้อมูลส่วนผสมและบรรจุภัณฑ์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการออกแบบและพิมพ์ ระยะเวลา จำนวน ข้อมูลด้านการแปลข้อความ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้นำเข้าในการคำนวณค่าใช้จ่าย หรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ได้รวดเร็ว หรือเตรียมบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปเสนอให้เลือก ก็จะทำให้ผู้นำเข้าทำงานได้ง่ายขึ้น และเป็นงานบริการที่สามารถช่วยให้ขายสินค้าได้ด้วย

4. จำเป็นต้องรักษาระดับคุณภาพสินค้าและบริการต่างๆ ให้ต่อเนื่องและมั่นคงอยู่เสมอ เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันในตลาดมีความรุนแรง และสินค้าไทยราคาค่อนข้างสูงกว่าหลายประเทศ หากไม่สามารถสร้างความแตกต่างในด้านคุณภาพและบริการ จะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อจากประเทศอื่น และเพื่อความไม่ประมาท ผู้ส่งออกควรตรวจสอบราคาของประเทศคู่แข่ง เพื่อสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดและเตรียมพร้อมในการแข่งขันอยู่เสมอ

5. ระมัดระวังเรื่องข้อตกลงการชำระเงินค่าสินค้า โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่มักนำมาเป็นข้ออ้างในการขอเครดิตชำระเงินหลังรับสินค้า ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

หากผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยต้องการรายละเอียดหรือให้ประสานงานใดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม ได้ที่ Via Erminio Spalla 41, 00142 Rome โทรศัพท์ +39 06 5030804 โทรสาร +39 06 5030805 E-mail:thaitcrome@thaitcrome.it

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ