ญี่ปุ่นปรับกลยุทธ์ ใช้การการลงทุนเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการค้า และใช้เอเชียเป็นศูนย์กลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2009 11:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กระทรวงการคลัง ญี่ปุ่น ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2009 (เมษายน 2552-มีนาคม 2533 ) จากเดิมที่คาดว่า GDP จะขยายตัว 0% (ศูนย์) เป็นติดลบ 3.3 % เนื่องมากจากการส่งออกที่ลดต่ำลงอย่างมาก การบริโภคของครัวเรือนอ่อนตัว และภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำลงเร็วเกินกว่าที่คาดคิด ยิ่งกว่านั้น ปัญหาหนี้เสียในตลาดหลักๆ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและซ้ำเติม ความมั่นใจของตลาด ดัชนีสำคัญๆ ต่างมีทิศทางเป็นลบ เช่น การส่งออกของญี่ปุ่นลดต่ำลง 27.6 % ในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ราคาขายส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคลดลง 5.5% อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 % (จากเดิมอยู่ที่ 4.1 % ในปี 2551)

การแพร่ระบาดของ Swine Flu ที่เกิดขึ้นในเม็กซิโก และหลายประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า อาจทำให้เศรษฐกิจเลวร้ายลงไปอีก โดยคาดว่า GDP จะหดตัวลงอย่างน้อย 0.12 % ในปีนี้ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อการซื้อสินค้า การ นำเข้า ตลาดหุ้นและตลาดเงิน ผลทางลบจะสูงเพียงไหน ขึ้นกับว่า Swine flu ได้แพร่กระจายวงออกไปกว้างขวางเพียงใด

ในปีงบประมาณ 2551 (เมษายน 2551-มีนาคม 2552) ญี่ปุ่นเริ่มประสบกับภาวะขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2523 ทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต้องทบทวนเพราะสินค้าหลักที่ญี่ปุ่นส่งออก เช่น รถยนต์ โทรทัศน์จอแบนและสินค้าอุปโภคประเภทอิเลคทรอนิกส์ ที่เคยมีผลกำไรสูง เมื่อกำลังซื้อของตลาดหลักในสหรัฐฯ ตกต่ำ ลูกค้าหดหาย ผู้ผลิตจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและนำไปสู่การปรับกลยุทธการค้าระหว่างประเทศใหม่ มีการตั้งเป้าหมายในระยะยาวว่า ภายในปี 2573 (คศ. 2030) รายได้หลักของประเทศจะมาจากการลงทุนในต่างประเทศ (overseas investment) มากกว่าการส่งออก (export)

เศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นหันมาวางทิศทางในอนาคตที่ชัดเจนขึ้นโดยมองว่าหลายประเทศในเอเชียมีเงินออมส่วนเกิน (excess saving)จำนวนมาก โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งต่างก็นำเงินไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นๆในต่างประเทศ รวมทั้งพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันและอาจต้องทบทวนเสียใหม่ โดยยอมรับความจริง ว่า เพื่อสร้างเสถียรภาพของการเจริญเติบโต ควบคู่ไปกับการปรับความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ประเทศในเอเชียต้องหันมาเน้นการขยายความต้องการซื้อภายในเอเชียด้วยกัน ควรนำเงินออมที่มีอยู่มาลงทุนในภูมิภาค เพื่อยุติการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ

รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนไหวมาทิศทางนี้ โดยได้จัดสรรเงินให้กู้จำนวน 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์) ผ่านโครงการความช่วยเหลือแก่ประเทศในเอเชีย (Official Development Assistance : ODA) สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และเพิ่มการบริโภค แต่ก็ยังเห็นว่า การลงทุนและการใช้จ่ายในโครงการของรัฐเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องทำให้ภูมิภาคสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วย และเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ต้องทำให้การเคลื่อนย้ายของแรงงาน สินค้า และเงินทุนภายในภูมิภาคเป็นไปอย่างเสรีด้วย

ด้วยมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นที่มุ่งสู่การลดพึ่งพาสหรัฐ และหันมาร่วมสร้างเอเชียให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน East Asia FTA หรือ ASEAN+6 ให้เกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นหลายสำนักมองว่า ญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องปฎิรูปตัวเอง และเปิดตลาดสินค้าเกษตร และธุรกิจบริการ เช่น การรักษาพยาบาลและผู้ดูแลคนป่วย และพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่สินค้าที่ใช้เทคโนดลยีสูง เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประหยัดพลังงาน หรืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ