พาณิชย์ชิงรุกเยอรมนียึดฐานบุกตลาดยุโรปดึงตัวเลขส่งออกครึ่งปีหลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

พาณิชย์แก้เกมส่งออกลดเร่งทำตลาดช่วงปีหลัง หลังส่งออกรวมลดกว่าร้อยละ 26 เผยต้องชิงรุกตลาดสหภาพยุโรปในฐานะตลาดหลักอันดับต้นของไทยโดยใช้เยอรมนีเป็นฐาน หวังดึงส่งออกกระเตื้องช่วงครึ่งปีหลัง

นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการนำผู้ประอบการไทยเดินทางออกไปบุกตลาดเยอรมนีเพื่อผลักดันให้มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ส่งออกของประเทศโดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาโดยรวมมีมูลค่า 11,656.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.6 โดยหนึ่งในตลาดหลักที่สำคัญ คือสหภาพยุโรปมีมูลค่า 6,123 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 33.7 ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกลำดับ 2 ของไทย จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาตลาดและเพิ่มลู่ทางในการขยายตลาดให้กับภาคเอกชนไทย

ส่วนเยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทยในสหภาพยุโรปรองจากเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเยอรมนี 985.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 27.05 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2.ชิ้นส่วน ส่วนประกอบอิเลคทรอนิกส์ 3. เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 4. ผลิตภัณฑ์จากยางพารา 5. เครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายเชิงรุกโดยภาครัฐจะเร่งหาทางนำผู้ประกอบการออกไปบุกตลาด โดยเจรจากับผู้นำเข้ารายใหญ่และห้างสรรพสินค้าในตลาดต่างประเทศ เพื่อเป็นลู่ทางให้ภาคเอกชนส่งสินค้าเข้าไปขายได้มากขึ้น ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลง ได้แก่

1. ภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปถดถอย และมีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย

2. ผู้ซื้อในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจ ส่งผลให้การสั่งซื้อลดลงและผู้ซื้อหันไประบายสินค้าในสต๊อคแทนที่จะสั่งซื้อเพิ่ม

3. การแข่งขันทางการค้าที่มีความรุนแรงมากขึ้นจากประเทศคู่แข่งในตลาด เนื่องจากทุกประเทศต่างก็พยายามเร่งรัดผลักดันการส่งออกของประเทศตัวเอง เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

กรมส่งเสริมการส่งออก ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของตลาดเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงทั้งยังเป็นGate Way ที่สำคัญไปยังประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกอีกด้วย จึงได้จัดคณะผู้แทนภาคเอกชนเดินทางไปเพื่อบุกตลาดเชิงรุก นำโดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก นางสมจินต์ เปล่งขำ และภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ค้า พืช ผัก และผลไม้ไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายการส่งออกไปยังประเทศเยอรมนี โดยมีกำหนดการไปเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ ศูนย์กระจายสินค้า ผัก ผลไม้สด และผู้จัดงานแสดงสินค้าในเยอรมนี เพื่อผลักดันให้ผู้ส่งออกไทยได้พื้นที่ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนั้น คณะจะนำนักธุรกิจเดินทางไปพบผู้บริหารท่าเรือแฮมบูร์ก ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สินค้าต่างๆของไทยจะถูกนำเข้าประเทศเยอรมนี และกระจายสินค้าทางบกไปทั่วเยอรมนี รวมถึงประเทศต่างๆในยุโรปตะวันออก เพื่อหารือแนวทางในการประสานความร่วมมือต่อไป การนัดหมายกับภาคเอกชนที่สำคัญๆ มีดังนี้

  • ผู้บริหารสนามบินแฟรงก์เฟิร์ตและมิวนิค เพื่อผลักดันความร่วมมือด้าน Logistic อันจะเอื้อประโยชน์ในการกระจายสินค้าเกษตรของไทย เช่น ผักผลไม้สด ดอกไม้สด ไปยังจุดต่างๆทั่วยุโรป
  • ผู้บริหารศูนย์กระจายสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Centre) ณ สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต และสนามบินมิวนิค ซึ่งเป็นศูนย์เก็บและกระจายสินค้าที่สำคัญของประเทศเยอรมนี เป็นลู่ทางในการผลักดันสินค้าสด เช่น พืช ผัก ผลไม้ และดอกไม้สด
  • ผู้นำเข้ารายใหญ่ของประเทศเยอรมนี บริษัท KK ณ เมือง Oyten ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และกระจายไปยังผู้ซื้อทั่วเยอรมนี
  • หารือกับร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ในเยอรมนี ตามโครงการ
Kitchen to the World เพื่อหาลู่ทางที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าอาหารไทยผ่านเครือข่ายร้านอาหาร
  • ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า Metro สาขาแฟรงก์เฟิร์ต เพื่อเจรจาการจัดทำ In store Promotion ในห้าง Metro ซึ่งมีจำนวน 61 สาขา ในประเทศเยอรมนี และ 658 สาขาทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยที่จะนำสินค้าไทยไปร่วมกิจกรรมภายในห้างสรรพสินค้า

ภาคเอกชนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ในภาวะวิกฤตการส่งออกเช่นนี้ คงจะมานั่งรอคำสั่งซื้ออยู่ในบ้านไม่ได้แล้ว จะต้องช่วยกันลุยหาตลาดแบบเข้าถึงตัวผู้ซื้อ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมส่งเสริมการส่งออก ที่จะต้องจับมือกับผู้ส่งออกไปช่วยกันจัดกิจกรรม Hard Sale โดยเร่งด่วน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ