ข้อมูลสินค้ามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสารในตลาดสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 9, 2009 16:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สิงคโปร์นำเข้ามันสำปะหลังตามประเภทและรหัสศุลกากร ดังนี้
          1) HS 07141011 : Manioc (Cassava) Dried Chips
          2) HS 07141019 : Manioc (Cassava) Fresh Chilled Frozen or Dried Sliced in Pellets
          3) HS 0714 1090 : Manioc (Cassava) in Other Forms
          4) HS 11062010 : Flour Meal and Powder of Manioc (Cassava)
          5) HS 11081400 : Manioc (Cassava) Starch
          มูลค่าการนำเข้ามันสำปะหลังตามข้อ 1) — 5) ข้างต้นมีรายละเอียดตามเอกสารแนบ 1

2. การนำเข้าจากไทย
          โดยส่วนใหญ่นำเข้า Flour Meal and Powder และ Starch  ซึ่งในปี 2551 นำเข้าอันดับ 1 จากไทย มูลค่า 1.0  และ 25.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ตามลำดับ (จากมูลค่าการค้ารวม  1.2 และ 26.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ตามลำดับ) ประเทศคู่ค้าสำคัญรองจากไทยได้แก่ เวียดนาม  มาเลเซีย  จีน  ไต้หวัน  อินโดนีเซีย  แคนาดา  สหรัฐฯ และ นิวซีแลนด์

3. นโยบายและมาตรการนำเข้า
          สิงคโปร์มีนโยบายและระบบการค้าเสรี ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า ภาษีที่จัดเก็บคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods & Services Tax : GST) ร้อยละ 7 โดยทั่วไปการนำเข้ามันสำปะหลังจะเป็นไปในรูปหัวมันสำปะหลังและแป้งมัน และส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูป ซึ่งโรงงานแปรรูปส่งต่อไปยังผู้ค้าส่งหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต และส่งต่อไปยังผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคต่อไป ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นจะขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ในอีกทางหนึ่ง ผู้นำเข้าจะส่งแป้ง/แป้งมันสำปะหลังให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยไม่ผ่านโรงงานแปรรูป ซึ่งซุปเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้จะขายตรงให้แก่ผู้บริโภค

          มาตรการนำเข้า
          1) สินค้าหัวมันสด/แห้ง จะต้องไม่มีสารยาฆ่าแมลงตกค้างและไม่มีโรคติดต่อ และในการนำเข้าสิงคโปร์ ผู้นำเข้าต้องติดต่อหน่วยงานสิงคโปร์ ดังนี้
          - Import Permit จากหน่วยงานสิงคโปร์คือ Phytosanitary and Plant quarantine Section, Lorong Chencharu, 17 Km. Sembawang Road, S’pore 769194 (ยื่นขอฯล่วงหน้าก่อนที่จะนำเข้าสินค้า)
          - ใบอนุญาตนำเข้า จาก Agri-food and Veterinary Authority (AVA), No 5 Maxwell Road, #02-00, Tower Block, MND Complex, S’pore 069110 โดยผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับหน่วยงาน International Enterprise Singapore (IE Singapore) และ AVA ซึ่งจะได้ Password สำหรับเข้าไปขออนุญาตนำเข้าโดยผ่านระบบ Tradenet System ซึ่งสะดวก ประหยัดและรวดเร็วกว่าการเดินทางไปยื่นเอกสาร ซึ่งผู้นำเข้าจะใช้วิธียื่นเอกสารแบบเดิม หรือผ่านอินเตอร์เน็ทก็ได้
          - Cargo Clearance Permit (CCP) ซึ่ง AVA อนุญาตโดย AVA ส่งตรงไปยังผู้นำเข้าเพื่อผู้นำเข้าสามารถนำสินค้าฯออกสู่ตลาดได้
          - ต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ ขณะที่ขออนุญาตนำเข้าสินค้าฯทาง Tradenet System : Import Permit issued by AVA, Phytosanitary Certificate from the country of origin, Consignment Invoice และ Airway Bill
          2) สินค้าแป้งและแป้งมันสำปะหลัง ต้องปฏิบัติตาม Food Regulations
           - Cap. 283,  Rg 1  :  “Tapioca flour shall be the starch powder derived from the root of the cassava plant (Manihot uitlissima).  It shall not yield more than 0.2 % ash.”
           - Labeling การติดฉลากแสดงรายละเอียดของสินค้านับว่าเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของสิงคโปร์ว่า ผู้ผลิตจะต้องติดฉลากบรรจุภัณฑ์แสดง ชื่อบริษัท ลักษณะของสินค้า  น้ำหนักของสินค้า  ที่อยู่ของผู้นำเข้า/โรงงานหรือบริษัทผู้ทำการบรรจุภัณฑ์   ตัวบ่งบอกคุณภาพ   และวันที่ผลิตและวันหมดอายุ
          ตัวอย่างของการบอกวันหมดอายุ เช่น
          (a)   “USE BY  01/07/2009”
          (b)   “SELL BY 01/07/2009”
          (c)  “EXPIRY DATE 01/07/2009”

4. การบริโภคมันสำปะหลังในสิงคโปร์
          การบริโภคส่วนใหญ่ใช้ในการทำอาหารและขนม โดยใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนมอบกรอบ French Fries, เส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น การบริโภคแบ่งออกเป็น (1) หัวมันสำปะหลัง ประมาณ 2,000 ตัน/ปี (2) แป้งมันสำปะหลัง ประมาณ 5,000 ตัน/ปี  (3) แป้งมัน(สตาร์ช) ประมาณ 33,000 ตัน/ปี  นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมันสำปะหลัง คือ การผลิตสินค้าแปรรูปจากมันสำปะหลังที่โรงงานในสิงคโปร์ผลิต โดยบรรจุห่อพลาสติกและ/หรือบรรจุกระป๋อง เช่น Tapioca Crisps/Sticks/Chips & Crackers, Tapioca Pearl in Coconut Milk, Pearl Tapioca Dessert, Tapioca Dough Ball Filled with Grated Sugar และเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น  อีกทั้ง อุตสาหกรรมที่ใช้มันสำปะหลังเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบ ได้แก่ Confectionery, Dessert Manufacturer  และ  Food Manufacturer

5. บรรจุและราคาขายปลีก
          1) หัวมัน สด/แห้ง  ราคาขายปลีก กก.ละ 2.50-3.50 เหรียญสิงคโปร์
          2) แป้ง/แป้งมัน บรรจุถุงพลาสติกใส น้ำหนัก 500 กรัม ราคาขายปลีก  0.90-1.50 เหรียญสิงคโปร์
          ทั้งนี้ สินค้าฯมีจำหน่ายทั่วไปตามร้านในตลาดสด ร้านค้าตามหมู่บ้าน Mini-mart และซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
          --------------------------

1. สิงคโปร์นำเข้าข้าวโพดตามประเภทและรหัสศุลกากร ดังนี้
          1) HS 10059010 : Maize Unmilled Used for Popcorn
          2) HS 10059090 : Maize Unmilled Exclude used for Popcorn
          3) HS 11022000 : Maize (Corn) Flour
          4) HS 11031300 : Milled Maize (Corn)
มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดตามข้อ 1) — 4) ข้างต้นมีรายละเอียดตามเอกสารแนบ 2

2. การนำเข้าจากไทย
          นำเข้ามูลค่าน้อยมาก ปีละประมาณ 12,000 เหรียญสิงคโปร์ (การนำเข้ารวมมูลค่า 4,932,000 เหรียญสิงคโปร์) ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.24 ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 คือ พม่า  รองลงมาได้แก่  อินเดีย มาเลเซีย สหรัฐฯ  และจีน

3. นโยบายและมาตรการนำเข้า
          สิงคโปร์มีนโยบายและระบบการค้าเสรี ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า  ภาษีที่จัดเก็บคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods & Services Tax : GST) ร้อยละ 7
          สิงคโปร์ไม่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์  แต่มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์สำหรับโชว์นักท่องเที่ยว และฟาร์มเลี้ยงไก่  ดังนั้น อาหารสัตว์ที่สิงคโปร์นำเข้าจะอยู่ในรูป การนำเข้าข้าว  ข้าวโพด และ rice flour  เพื่อเป็นส่วนผสมอาหารไก่  นอกจากนี้ มีการนำเข้าอาหารสัตว์สำเร็จรูป  เช่น Poultry Complete Feeds, Animal complete Feeds, Feed Supplements, Feed not Containing Meat และอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food)
          มาตรการนำเข้า
          สิงคโปร์ไม่มีการนำเข้าข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ สินค้าที่นำเข้าเป็นข้าวโพดสด(ฝัก) เม็ดข้าวโพด(สำหรับ popcorn)  และแป้งข้าวโพด
          การนำเข้า ต้องปฏิบัติตาม Food Regulations โดยเฉพาะแป้งข้าวโพด ให้เป็นไปตาม Cap. 283,  Rg 1  :  “Corn Flour or Cornstarch shall be the starch powder derived from any variety of corn.  It shall not yield more than 0.8% of ash.”  และ Labeling การติดฉลากแสดงรายละเอียดของสินค้านับว่าเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของสิงคโปร์ว่า ผู้ผลิตจะต้องติดฉลากบรรจุภัณฑ์แสดง ชื่อบริษัท ลักษณะของสินค้า  น้ำหนักของสินค้า  ที่อยู่ของผู้นำเข้า/โรงงานหรือบริษัทผู้ทำการบรรจุภัณฑ์   ตัวบ่งบอกคุณภาพ   และวันที่ผลิตและวันหมดอายุ
          ตัวอย่างของการบอกวันหมดอายุ เช่น
          (a) “USE BY  01/07/2009”
          (b) “SELL BY 01/07/2009”
          (c) “EXPIRY DATE 01/07/2009”
          --------------------------

1. สิงคโปร์นำเข้าข้าวตามประเภทและรหัสศุลกากร ดังนี้
          1) HS 10062010 : Thai Hom Mali Rice (Husked)
          2) HS 10062090 : Other Husked (Brown) Rice
          3) HS 10063015 : Thai Hom Mali Rice Semi Milled or Wholly Milled
          4) HS 10063019 : Other Fragrant Rice Semi Milled or Wholly Milled
          5) HS 10063020 : Parboiled Rice Semi Milled or Wholly Milled
          6) HS 10063030 : Glutinous Rice Semi Milled or Wholly Milled
          7) HS 10063090 : Other Rice Semi Milled or Wholly Milled
          8) HS 10064000 : Other, Broken Rice
          มูลค่าการนำเข้าข้าวตามข้อ 1) — 8) ข้างต้นมีรายละเอียดตามเอกสารแนบ 3

2. การนำเข้าจากไทย
          ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอม ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคมาก จากจำนวนประชากรกว่า 4.8 ล้านคน ร้อยละ 84 บริโภคข้าวชนิด 100%, Fragrant Rice, Hom Mali Rice หรือ Jasmine Long Grain Rice   เนื่องจากคุ้นเคยในรสชาติ  ถือว่ามีคุณภาพดีและบริโภคกันมาแต่ดั้งเดิม  ขณะที่ข้าวนึ่ง ข้าวกล้อง และข้าวบาสมาติ นำเข้าเพื่อบริโภคสำหรับชาวอินเดีย ปากีสถาน และชาวมุสลิม ทั้งนี้ สิงคโปร์บริโภคข้าวหอม และข้าวหอมมะลิ ประมาณ 15,000 ตันต่อเดือน ถ้ารวมข้าวเกรดอื่นๆ เช่นข้าว หัก  ข้าวเหนียว และปลายข้าว รวมกันแล้วบริโภคประมาณ 20,000 ตันต่อเดือน

3. นโยบายและมาตรการนำเข้า
          สิงคโปร์มีนโยบายและระบบการค้าเสรี  ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า  ภาษีที่จัดเก็บคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods & Services Tax : GST) ร้อยละ 7  และมีการจัดระเบียบการนำเข้า โดยผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตการนำเข้า (Import License) จากหน่วยงาน International Enterprise Singapore (IE Singapore) ซึ่งมีลักษณะเป็น Statutory Board
          มาตรการนำเข้า
          (1) ผู้นำเข้าข้าวสารต้องทำการสำรอง (ระบบ Stockpile) ข้าวสารไว้ในปริมาณ 2 เท่าของปริมาณที่นำเข้าแต่ละเดือน และข้าวที่สำรองต้องเก็บไว้ในโกดังสินค้าของรัฐบาล Singapore Storage & Warehouse Pte. Ltd. (SSW) ข้าวที่ต้องสำรอง คือ Fragrant Rice, Hom Mali Rice, White Rice และ Broken Rice ข้าวที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสำรองคือ ข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียวและข้าวบาสมาติ
          (2) IE  Singapore  เป็นผู้อนุมัติปริมาณการนำเข้า เช่นกรณีผู้นำเข้าประสงค์จะนำเข้าข้าว 500 ตันในเดือนมีนาคม จะต้องมี Stock 1000 ตัน  และในเดือนเมษายน หากต้องการนำเข้า 550 ตัน จะต้องทำหนังสือขออนุมัติจาก IE Singapore ก่อน สำหรับกรณีต้องการนำเข้าลดลง เช่น จาก 500 ตันเป็น 450 ตัน จะต้องขออนุมัติ IE Singapore ล่วงหน้า 3 เดือนก่อน

4. การค้าปลีกในประเทศ
          ผู้ค้าปลีกในประเทศที่สำคัญ คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต NTUC FairPrice เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตมี 82 สาขาทั่วสิงคโปร์ (นำเข้าข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมจากไทย มีส่วนแบ่งตลาดในตลาดสิงคโปร์ร้อยละประมาณ 20), ซุปเปอร์มาร์เก็ต Cold Storage มี 30 สาขา นอกนั้น ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Carrefour (2 สาขา), ซุปเปอร์มาร์เก็ต Giant Hypermarket  (7 สาขา),  Cheers Convenience Store, ร้านเพื่อนไทย,  Mini-mart และร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศ

5. ผู้นำเข้าสำคัญ
          1) สมาคมผู้นำเข้าข้าวทั่วไปของสิงคโปร์ (Singapore General Rice Importers Association) นำเข้าข้าวโดยผู้นำเข้าที่เป็นสมาชิกของสมาคม มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันร้อยละ 65  ผู้นำเข้าเหล่านี้จะเป็นทั้งผู้ส่งออก  หรือ ขายต่อให้ Wholesaler/Distributor
          2) NTUC FairPrice Co-operative  รายเดียวมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 20 นับว่าเป็นผู้นำเข้าและค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ การดำเนินการมีลักษณะเป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจแบบมีกำไร มีเครือข่ายสาขาซุปเปอร์มาร์เก็ต ถึง 82 แห่งทั่วสิงคโปร์
          3)  ผู้นำเข้าเอกชนรายอื่นๆ ร้อยละ 15
          4)  ผู้นำเข้าสิงคโปร์ นำเข้าข้าวจากทั่วโลก นอกจากไทย แล้ว ยังนำเข้าจาก ออสเตรเลีย อินเดีย
พม่า และเวียดนาม  อีกทั้งมีแผนการจัดหาข้าวจากแหล่งผลิตอื่นๆ ด้วย เช่น จีน แต่คงเป็นปริมาณน้อย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมข้าวไทย
          5)  ทั้งนี้ ปัจจุบัน สิงคโปร์หันไปนำเข้าข้าวขาวจากพม่าเพิ่มขึ้น เพื่อส่งโรงงานผลิตเส้นหมี่ (ประมาณ 80 ตันต่อวัน) ซึ่งข้าวขาวจากพม่ามีราคาถูกว่าของไทยประมาณ 50 เหรียญสิงคโปร์ต่อกระสอบ 50 กิโลกรัม

6. การบรรจุหีบห่อ/ราคาขายปลีก
          ข้าวที่วางจำหน่ายปลีกในตลาดสิงคโปร์ นิยมบรรจุถุงพลาสติกใสถุงละ 2.5 กก., 5 กก. และ 10 กก. โดยผู้นำเข้าต้องแสดงรายละเอียดบนภาชนะบรรจุคือ ชนิดของข้าว ส่วนผสม แหล่งผลิต น้ำหนักบรรจุ  ชื่อและสถานที่ติดต่อของผู้นำเข้า
          สถานที่วางจำหน่ายและสามารถหาซื้อได้สะดวก คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีสาขาตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในสิงคโปร์ ได้แก่ NTUC FairPrice, Cold Storage, Carrefour, Giant, Shop N Save, Mini-mart  และร้านค้ารายย่อยทั่วไปตามตลาดสด เป็นต้นราคาขายปลีก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552
          - ข้าวหอมมะลิ
            -บรรจุ 10 กิโลกรัม/Sack  ราคา 22.50  เหรียญสิงคโปร์ (Brand: Song He Brand)
            -บรรจุ 5 กิโลกรัม/Sack ราคา  10.80 เหรียญสิงคโปร์  (Brand: Royal Umbrella)
          - ข้าวขาว 100%
            -บรรจุ 5 กิโลกรัม ราคา 5.30 เหรียญสิงคโปร์ (Brand : Fairprice)


          ที่มา : Ministry of Trade and Industry, International Enterprise Singapore
          สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ