การดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศมาเลเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2009 11:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

  • รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายแบ่งแยกชัดเจนระหว่าง กิจการจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตามแนวพิจารณา กล่าวคือ เฉพาะกิจการจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่จึงจะเปิดรับพิจารณาอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการได้ แต่ห้ามคนต่างชาติเด็ดขาดสำหรับประกอบกิจการจัดจำหน่ายสินค้าขนาดเล็ก ร้านจำหน่ายสินค้าขนาดเล็กในมาเลเซียจึงเรียกได้ว่าไม่มีร้านที่เป็นของคนต่างชาติเลย
  • ประเด็นการกำกับดูแลจึงเป็นไปเพื่อกำกับการประกอบกิจการของคนต่างชาติในกิจการจัดจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งแนวพิจารณาได้แบ่งแยกออกเป็น 7 ประเภทกิจการได้แก่

(1) Hypermarket

(2) Departmental Store

(3) Superstore

(4) Specialty Store

(5) Various Other Distribution Formats

(6) Direct Seller

(7) Franchisor and Franchisee

  • ที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตแก่คนต่างชาติไปแล้ว 99 แห่งซึ่งทั้งหมดเป็นการขออนุญาตของผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่ทั้ง 3 รายในประเทศมาเลเซียได้แก่ Giant, Carrefour และ Tesco ในจำนวนนี้มี 62 แห่งที่มีการประกอบกิจการจริง
  • ในขณะที่มีกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ตของคนท้องถิ่นเองเพียง 9 แห่งซึ่งก็มีศักยภาพในระดับที่พอดำเนินกิจการได้เท่านั้น ภายใต้กฎระเบียบอีกชุดหนึ่งซึ่งไม่เป็นทางการและไม่เข้มงวดเท่ากรณีของคนต่างชาติ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกฎระเบียบของหน่วยงานท้องถิ่น
  • ข้อกำหนดในแนวพิจารณาก็ไม่เข้มข้นเพียงพอที่จะจัดระเบียบไฮเปอร์มาร็เก็ตได้มากนัก ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดเรื่องระยะห่างจากตัวเมือง 3.5 กิโลเมตร หรือจำนวนประชากร 350,000 คนต่อไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 แห่ง หรือภูมิปุตรา (Bumiputera) ที่เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีหุ้นส่วนของคนในท้องถิ่น 30% ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศเติบโตและแข่งขันได้ ในทางตรงข้ามแล้วกลับจะส่งเสริมให้คนท้องถิ่นที่เป็นภูมิปุตราแสวงหาโอกาสเข้าเป็นหุ้นส่วนในจำนวน 30% นั้นมากกว่าที่จะประกอบกิจการเอง
  • นอกจากมาตรการเพื่อจำกัดการประกอบกิจการของคนต่างชาติแล้ว มาเลเซียยังมีมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันและช่วงเทศกาลตามความเชื่อทางศาสนา ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการการควบคุมราคา (Control Price Act 1946) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมปริมาณสินค้า (Control Supply Act 1961) และมาตรการที่กำหนดให้ต้องมีแจ้งรายการสินค้าที่จะลดราคาเกินกว่าที่กำหนดล่วงหน้า (Cheap Sales Notice)
  • ตลาดสดตามความหมายของการศึกษานี้จึงอยู่ในขอบเขตการคุ้มครองที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการ แต่เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียเองก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาและได้รับการร้องเรียนเรื่องผลกระทบกับกิจการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นอยู่เสมอจนปัจจุบัน

รายละเอียดโดยสังเขปของแนวพิจารณา (Guideline for Foreign Participation in the Distributive Trade Services) มีดังนี้

1) บทนิยาม

  • การจัดจำหน่าย (Distributive Trade) หมายถึง กิจการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อสินค้าและบริการไปตามสายการจัดจำหน่ายจนถึงผู้จำหน่ายสินค้าปลีกหรือจนถึงผู้บริโภค ดังนั้นการจัดจำหน่ายจะรวมถึง ผู้ค้าส่ง (Wholesalers) ผู้ค้าปลีก (Retailers) ผู้ค้าแฟรนไชส์ (Franchise Pratitioners) ผู้ค้าตรง (Direct Salers) ผู้ผลิต (Manufacturers) ผู้จัดส่งสินค้า (Suppliers) หรือผู้ประกอบกิจการในลักษณะอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อสินค้าและบริการในตลาดภายในประเทศ ไม่ว่าจะโดยการผ่านตัวแทนนายหน้า (Commission Agents) หรือตัวแทนในลักษณะอื่นๆ
  • การค้าส่ง (Wholesale Trade) หมายถึง การขายหรือการขายต่อสินค้าใหม่หรือสินค้าใช้แล้วและบริการแก่ผู้จัดจำหน่ายรายอื่นที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกิจการของตน
  • การค้าปลีก (Retail Trade) หมายถึง การขายหรือการขายต่อสินค้าใหม่หรือสินค้าใช้แล้วและบริการแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อการบริโภคในขั้นสุดท้าย

2) เงื่อนไขการประกอบกิจการของคนต่างชาติ

  • ต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นภูมิปุตราเป็นจำนวนร้อยละ 30 ในโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท
  • ต้องตั้งภูมิปุตราเป็นกรรมการ/หรือคณะกรรมการของบริษัท
  • ต้องจ้างพนักงานในทุกระดับรวมถึงระดับบริหารที่สะท้อนส่วนประกอบทางเชื้อชาติของประชากรมาเลเซีย
  • มีการเพิ่มการใช้งานท่าอากาศยานและท่าเรือภายในประเทศสำหรับการนำเข้า/ส่งออกสินค้า
  • มีการใช้บริการทางวิชาชีพกฎหมายและวิชาชีพอื่นๆจากบริษัทท้องถิ่นของมาเลเซีย
  • จัดส่งรายงานงบการเงินประจำปีให้แก่กระทรวงฯ และ
  • ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับระดับท้องถิ่นทุกประการ

3) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket)

  • นิยาม

ไฮเปอร์มาร์เก็ต หมายถึง การจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ ในรูปแบบการให้บริการตัวเอง โดยมีพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นอาหารและไม่เป็นอาหาร โดยจัดจำหน่ายตามขนาดของการซื้อขายหรือปริมาณ ในรูปแบบการบรรจุหีบห่อที่แตกต่างกันไป

  • เงื่อนไขการจัดตั้งเป็นบริษัท

ต้องจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยบริษัท 1965 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 50 ล้านริงกิต (ทบทวนทุก 3 ปี) และมีทุนชำระแล้วสำหรับไฮเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่งไม่น้อยกว่า 10 ล้านริงกิต โครงสร้างการลงทุนของบริษัทจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นภูมิปุตร (Bumiputeras) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามหลักเกณฑ์ของ FIC

  • เงื่อนไขการประกอบกิจการ

พื้นที่จัดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร การลดหรือเพิ่มพื้นที่จัดจำหน่าย หรือการขยายสาขาต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ โดยมีจุดชำระเงินค่าสินค้าหนึ่งจุดต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ลักษณะการประกอบกิจการจำกัดเฉพาะในรูปแบบกิจการเดี่ยวในพื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานในย่านชานเมือง โดยไม่เปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง วางขายและจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยภูมิปุตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้จะต้องมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับผู้จัดส่งสินค้าในการวางขายสินค้าและทำการตลาดในไฮเปอร์มาร์เก็ต

  • เงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะ

จัดให้มีพี้นที่สำหรับจอดรถอย่างน้อย 50 คันต่อพื้นที่ประกอบการ 1,000 ตารางเมตร จัดให้มีพื้นที่สำหรับธุรกิจรายย่อยโดยกำหนดค่าเช่าที่สมเหตุสมผล โดยจะต้องไม่เป็นกิจการที่ดำเนินการภายในรัศมี 3.5 กิโลเมตรจากพื้นที่พักอาศัยและใจกลางเมืองต่อประชากร 350,000 คน และจะต้องมีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบก่อนมีการเปิดกิจการ นอกจากนี้จะต้องจัดให้มีสภาวะแวดล้อมสถานประกอบการที่ปลอดภัยและสะอาด

4) ห้างสรรพสินค้า (Departmental Store)

  • นิยาม

ห้างสรรพสินค้า หมายถึง ร้านจำหน่ายสินค้าบนพื้นที่ขายขนาดต่างๆซึ่งโดยทั่วไปเป็นการค้าปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภคหลายหลายประเภทที่จัดกลุ่มตามเพศ อายุ การใช้งาน ในรูปแบบการบริการตัวเองหรือบริการด้วยพนักงานขายซึ่งโดยทั่วไปอยู่ภายใต้การบริหารงานหนึ่งเดียวของห้าง ห้างสรรพสินค้าอาจรวมเอาซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีพื้นที่ขายไม่เกิน 2,000 ตารางเมตรเข้าไว้ด้วยก็ได้

  • เงื่อนไขการจัดตั้งเป็นบริษัท

ต้องจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยบริษัท 1965 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 20 ล้านริงกิต (ทบทวนทุก 3 ปี) และมีทุนชำระแล้วสำหรับห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งไม่น้อยกว่า 10 ล้านริงกิต โครงสร้างการลงทุนของบริษัทจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นภูมิปุตร (Bumiputeras) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามหลักเกณฑ์ของ FIC

  • เงื่อนไขการประกอบกิจการ

การลดหรือเพิ่มพื้นที่จัดจำหน่าย หรือการขยายสาขาต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ ห้างสรรพสินค้าที่มีซูเปอร์มาร์เก็ตไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ 24 ชั่วโมง ต้องจัดวางขายและจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยภูมิปุตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้จะต้องมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับผู้จัดส่งสินค้าในการวางขายสินค้าและทำการตลาดในไฮเปอร์มาร์เก็ต

  • เงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะ

จัดให้มีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของกิจการในกรณีที่กิจการดังกล่าวดำเนินการอยู่ก่อนแล้วในลักษณะอาคารเดี่ยวของกิจการหรือมีพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร ห้างสรรพสินค้าจะต้องจัดให้มีสภาวะแวดล้อมสถานประกอบการที่ปลอดภัยและสะอาด

5) ซูเปอร์สโตร์ (Superstore)

  • นิยาม

ซูเปอร์สโตร์ หมายถึง ร้านจัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบการให้บริการตัวเอง โดยมีพื้นที่ขายระหว่าง 2,000 - 4,500 ตารางเมตร ประกอบด้วยการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นอาหารและไม่เป็นอาหาร

  • เงื่อนไขการจัดตั้งเป็นบริษัท

ต้องจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยบริษัท 1965 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 25 ล้านริงกิต (ทบทวนทุก 3 ปี) และมีทุนชำระแล้วสำหรับซูเปอร์สโตร์แต่ละแห่งไม่น้อยกว่า 5 ล้านริงกิต โครงสร้างการลงทุนของบริษัทจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นภูมิปุตรา (Bumiputeras) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามหลักเกณฑ์ของ FIC

  • เงื่อนไขการประกอบกิจการ

พื้นที่จัดจำหน่ายระหว่าง 2,000 — 4,500 ตารางเมตร การลดหรือเพิ่มพื้นที่จัดจำหน่าย หรือการขยายสาขาต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ โดยมีจุดชำระเงินค่าสินค้าหนึ่งจุดต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร โดยไม่เปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง วางขายและจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยภูมิปุตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้จะต้องมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับผู้จัดส่งสินค้าในการวางขายสินค้าและทำการตลาดในไฮเปอร์มาร์เก็ต

  • เงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะ

จัดให้มีพี้นที่สำหรับจอดรถตามข้อกำหนดของหน่วยงานท้องถิ่นที่กำหนดเกี่ยวกับพื้นที่ย่านธุรกิจ โดยไม่น้อยกว่า 50 คันต่อพื้นที่ประกอบการ 1,000 ตารางเมตรหรือตามข้อกำหนดอื่นที่สูงกว่า จัดให้มีพื้นที่สำหรับธุรกิจรายย่อยโดยกำหนดค่าเช่าที่สมเหตุสมผล โดยจะต้องไม่เป็นกิจการที่ดำเนินการภายในรัศมี 3.5 กิโลเมตรจากพื้นที่พักอาศัยและใจกลางเมืองต่อประชากร 250,000 คน และจะต้องมีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบก่อนมีการเปิดกิจการ นอกจากนี้จะต้องจัดให้มีสภาวะแวดล้อมสถานประกอบการที่ปลอดภัยและสะอาด รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าที่เพียงพอ

6) ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store)

  • นิยาม

ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง หมายถึง ร้านจัดจำหน่ายสินค้าที่จัดจำหน่ายสินค้ามีชื่อเสียงเพียงยี่ห้อเดียว / สินค้าชนิดเดียว / กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าชนิดในชนิดหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่างดังต่อไปนี้

ก) บริการจัดอาหารหรือจัดร้านอาหารนอกสถานที่

ข) อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ

ค) ของใช้ในบ้าน / ของใช้ส่วนตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเพื่อสุขภาพ แว่นตา รองเท้า เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา หนังสือ เครื่องประดับ เครื่องเทศ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น

ง) รถยนต์ — รถจักรยานยนต์

จ) เครื่องจักรขนาดเล็ก เช่น เครื่องจักรทางการเกษตร เป็นต้น

ฉ) ยา

ช) ผู้ค้าส่งและค้าปลีกออนไลน์ (ผ่านเวปไซต์) และ

ซ) อื่นๆ

  • เงื่อนไขการจัดตั้งเป็นบริษัท

ต้องจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยบริษัท 1965 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านริงกิต (ทบทวนทุก 3 ปี) โครงสร้างการลงทุนของบริษัทจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นภูมิปุตรา (Bumiputeras) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามหลักเกณฑ์ของ FIC

  • เงื่อนไขการประกอบกิจการ

การลดหรือเพิ่มพื้นที่จัดจำหน่าย หรือการขยายสาขาต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ

  • เงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะ

จัดให้มีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของกิจการในกรณีที่กิจการดังกล่าวดำเนินการอยู่ก่อนแล้วในลักษณะอาคารเดี่ยวของกิจการหรือมีพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร ห้างสรรพสินค้าจะต้องจัดให้มีสภาวะแวดล้อมสถานประกอบการที่ปลอดภัยและสะอาด รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าที่เพียงพอ

7) รูปแบบการจัดจำหน่ายแบบอื่นๆ (Various Other Distribution Formats)

  • นิยาม

รูปแบบธุรกิจอื่นๆที่ไม่ได้กำหนดจะได้รับการพิจารณาตามแต่กรณีโดยคำนึงถึงผลกระทบในพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมแก่ประเทศมาเลเซีย

  • เงื่อนไขการจัดตั้งเป็นบริษัท

ต้องจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยบริษัท 1965 โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านริงกิต (ทบทวนทุก 3 ปี) โครงสร้างการลงทุนของบริษัทจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นภูมิปุตรา (Bumiputeras) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามหลักเกณฑ์ของ FIC

  • เงื่อนไขการประกอบกิจการ

การเพิ่มสาขาต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ

  • เงื่อนไขเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและประโยชน์สาธารณะ

จัดให้มีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของกิจการในกรณีที่กิจการดังกล่าวดำเนินการอยู่ก่อนแล้วในลักษณะอาคารเดี่ยวของกิจการหรือมีพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร ห้างสรรพสินค้าจะต้องจัดให้มีสภาวะแวดล้อมสถานประกอบการที่ปลอดภัยและสะอาด รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าที่เพียงพอ

8) รูปแบบการจัดจำหน่ายสินค้าที่ไม่อนุญาตให้มีการประกอบกิจการของคนต่างชาติ

ก) ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีพื้นที่ระหว่าง 400 — 2,000 ตารางเมตร

ข) มินิมาร์เก็ต ที่มีพื้นที่น้อยกว่า 400 ตารางเมตร

ค) ร้านขายของชำ

ง) ร้านสะดวกซื้อ

จ) ร้านขายหนังสือพิมพ์และสินค้าอื่นๆ

ฉ) ร้านขายยาแบบดั้งเดิม ที่รวมถึงผลิตภัณฑ์ตากแห้ง

ช) สถานีบริการน้ำมันที่มีร้านสะดวกซื้อ

ซ) สถานีบริการน้ำมันที่ไม่มีร้านสะดวกซื้อ

ฌ) ร้านในตลาดเปียกที่มีลักษณะถาวร

ญ) ร้านบนทางเท้าที่มีลักษณะถาวร

ฎ) อื่นๆ

9) การดำเนินการธุรกิจขายตรง

มาเลเซียได้ตราพระราชบัญญัติธุรกิจขายตรง ค.ศ 1993 (Direct Sales Act 1993 ได้กำหนดให้การดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องขออนุญาต(License) โดยบริษัทที่เป็นของคนท้องถิ่น(Local) ของภูมิบุตร(Bumiputra) หรือของชาวต่างชาติ(Foreign-owned companies) ก็ได้ หากกรณีดำเนินธุรกิจโดยชาวต่างชาติ จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านริงกิต โดยในจำนวนนี้จะต้องกันหุ้นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ให้แก่ผู้ร่วมทุนที่เป็นภูมิบุตร

สินค้าที่อนุญาตให้ดำเนินธุรกิจขายตรง ได้แก่

  • สินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น ISO, GMP, เครื่องหมายรับรอง Halal
  • สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ(Health Food) อาหารเสริม(Food Supplement) ยาแผนโบราณ(Traditional Medicine) ที่ผ่านการรับรองจาก Drugs Control Authority, Ministry of Health และจะต้องติดฉลากแสดงเลขที่ที่ได้รับอนุญาตจาก Drugs Advertisement Board, Ministry of Health บนโบรชัวร์และเอกสารเผยแพร่
  • สินค้าเครื่องสำอางจะต้องขึ้นทะเบียนกับ Pharmaceutical Service Division, Ministry of Health
  • บริการด้านสุขภาพ (Health care program) ต้องจดทะเบียนกับ Ministry of Health

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก มาเลเซีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ