ตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ของประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 9, 2009 13:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดหนังสือภาษาเยอรมันจัดเป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่งของโลก จากข้อมูลของ German Publisher and Bookseller Association (Bosenverein des Deustschen Buchhandels) ในปี 2008 ตลาดหนังสือของประเทศเยอรมนีมีมูลค่าประมาณ 9.6 พันล้านเหรียญยูโร เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ประมาณร้อยละ 0.4 (ในปี 2007 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เทียบกับปี 2006) จากอัตราการขยายตัวของตลาดที่เล็กน้อยนี้ แสดงให้เห็นได้ว่าตลาดหนังสือในประเทศเยอรมนีได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีด้วยเช่นเดียวกัน

ในปี 2008 ช่องทางการจัดจำหน่ายหนังสือที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นร้านหนังสือ (Retail book store) โดยมียอดจำหน่ายหนังสือ 5.1 พันล้านเหรียญยูโร คิดเป็นร้อยละ 52.6 รองลงมาได้แก่ การจัดจำหน่ายตรงโดยผู้ผลิต มียอดจำหน่าย 1.8 พันล้านเหรียญยูโร (ร้อยละ 18.2) ยอดจำหน่ายทางไปรษณีย์รวมทั้ง Internet มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญยูโร (ร้อยละ 14.8) ยอดจำหน่ายจาก Warenhaus 0.29 พันล้านเหรียญยูโร (ร้อยละ 3) และยอดขายจากการขายประเภทอื่นๆ ประมาณ 0.89 พันล้านเหรียญยูโร (ร้อยละ 9.2)

เมื่อพิจารณายอดขายสินค้าแบ่งตามประเภทของช่องทางการจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ เทียบกับปี 2007 พบว่าการจัดจำหน่ายหนังสือทาง Internet (Online Shopping) เป็นช่องทางการจำหน่ายเดียวที่มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดโดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 (เทียบกับยอดการจำหน่ายทาง internet ปี 2007) มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญยูโร (ร้อยละ 10.7 ของยอดจำหน่ายหนังสือตลอดปี) ทางด้านการจัดจำหน่ายทางร้านหนังสือ (Retail Book Store) นั้น มียอดจำหน่ายลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปี 2007

เมื่อพิจารณายอดขายหนังสือในแต่ละเดือนตลอดปี 2008 พบว่าเดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มียอดจำหน่ายหนังสือสูงที่สุดของปี โดยร้อยละ 20 ของยอดจำหน่ายหนังสือตลอดปีเป็นยอดจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในเดือนธันวาคม โดยยอดจำหน่ายในเดือนธันวาคมของหนังสือทุกประเภทมียอดจำหน่ายสูงขึ้น โดยหนังสือประเภท Hard-/ Softcover มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 หนังสือประเทเภท Pocket Book เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และ Audio book เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบยอดจำหน่ายเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าชาวเยอรมันยังคงนิยมให้หนังสือเป็นของขวัญในช่วงเทศการคริสต์มาส

ในส่วนข้อมูลการจำหน่ายหนังสือโดยแบ่งตามประเภทหนังสือและวรรณกรรมนั้น จากข้อมูลของ German Publisher and Bookseller Association เมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2008 พบว่า หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมียอดขายเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 รองลงมาได้แก่หนังสือประเภท Non-fiction (ร้อยละ 8.9) หนังสือประเภทนวนิยาย (Fiction) (ร้อยละ 7) หนังสือทางด้านมนุษยศาสตร์ ศิลป ดนตรี (ร้อยละ 2.7) หนังสือทางด้านวิทยาศาสน์ การแพทย์ เทคโนโลยี เทคนิค (ร้อยละ 2.6) ทั้งนี้ประเภทหนังสือที่มียอดจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนคือหนังสือทางด้านสังคมศาสตร์ กฏหมาย และ ธุรกิจ (ลดลงร้อยละ 2.8) และ หนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว (ลดลงร้อยละ 0.7)

ลักษณะนิสัยการอ่านและซื้อหนังสือของชาวเยอรมัน

จากข้อมูลของ German Publisher and Bookseller Association ทำการเก็บข้อมูลผลการตอบแบบสอบถามของชาวเยอรมันจำนวน 10,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 57 ของชาวเยอรมันซื้อหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มต่อปี ร้อยละ 43 ไม่เคยซื้อหนังสือเลย

เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อหนังสือ (ร้อยละ 57 ของชาวเยอรมัน) พบว่าร้อยละ 37 ซื้อหนังสือประมาณ ปีละ 1-7 เล่ม ร้อยละ 10 ซื้อหนังสือปีละ 11 เล่ม และร้อยละ 9 ซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 14 เล่ม

ทางด้านลักษณะนิสัยการอ่านของชาวเยอรมันนั้น พบว่า 9 ใน 10 คนอ่านหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ที่อ่านหนังสือนี้ พบว่าร้อยละ 43 อ่านหนังสือประมาณ 9 เล่ม ร้อยละ 23 ประมาณ 9-18 เล่ม และร้อยละ 25 อ่านหนังสือมมากกว่า 18 เล่มต่อปี

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศเยอรมนี

จากข้อมูลของ The German Printing and Media Industries Federation อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศเยอรมนีเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศเยอรมนี จัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ร้อยละ 95 มีจำนวนพนักงานน้อยกว่า 100 คน บริษัทส่วนใหญ่เจ้าของกิจการยังคงบริหารจัดการบริษัทด้วยตนเอง ผลประกอบการของอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าประมาณร้อยละ 2.3 และ มีการจ้างงานเพียงร้อยละ 2.8 ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ (รายละเอียดข้อมูลผลประกอบการของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศเยอรมนี จาก The German Printing and Media Industries Federation ตามเอกสารแนบ 1 )

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ