สรุปรายงานข่าวของเดนมาร์ก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2009 15:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกนขอสรุปรายงานข่าวของเดนมาร์กในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 ดังต่อไปนี้

1. มีรายงานข่าวว่าธุรกิจภาคเอกชนยังคงมีการปลดพนักงานออกทำให้อัตราการว่างงานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 ขณะที่ภาครัฐบาลมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาภาครัฐมีการจ้างงานมากกว่า 18,000 คน และในเดือนกันยายน 2552 มีการว่างงานจำนวน 9,200 คน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 มีการว่างงานจำนวน 180,000 คน คาดว่าปีหน้าจะมีการว่างงานประมาณ 160,000 คน

2. มีรายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเดนมาร์กลดลงจากเดือนสิงหาคม — กันยายน ร้อยละ 1.1 ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงต่ำสุดในช่วง 10 ปี ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานของเดนมาร์กอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และประสิทธิภาพการผลิตลดลงในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของเดนมาร์กในเดือนกันยายน ศกนี้ ลดลงจากเดือนสิงหาคมร้อยละ 16.5 และเทียบกับเดือนกันยายน 2551 ลดลงถึงร้อยละ 40.2

3. จำนวนธุรกิจที่ล้มละลายยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือนตุลคม 2552 มีธุรกิจล้มละลายจำนวน 537 ราย เทียบกับเดือนกันยายนที่มีจำนวนธุรกิจที่ล้มละลายจำนวน 490 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6

4. Statistics Denmark รายงานว่าในเดือนกันยายน 2552 ยอดขายปลีกของห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกต่างๆ ลดลงร้อยละ 1.7 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพราะยังไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

5. ยอดขายรถยนต์ใหม่ของเดนมาร์กในเดือนตุลาคม 2552 เพิ่มขึ้น โดยยอดขายรถยนต์ที่ใช้ในธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

6. ราคาบ้านพักอาศัยในเดนมาร์กยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีก เมื่อเทียบกับช่วงปี 2007 ที่บ้านพักอาศัยมีราคาค่อนข้างสูงมาก ลดลงถึงร้อยละ 42

7. เดือนตุลาคม 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคของเดนมาร์กเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่เดือนกันยายนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.8 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ แม้ว่าระดับราคาอาหารจะลดลงเล็กน้อยก็ตาม

8. ดัชนีความเชื่อมั่นของเดนมาร์กในเดือนพฤศจิกายน 2552 เท่ากับ -2.4 เทียบกับเดือนตุลาคม 2552 เท่ากับ -0.9

9. เดือนกันยายน 2552 การส่งออกของเดนมาร์กลดลงร้อยละ 4.4 คาดว่าในปี 2010 การส่งออกของเดนมาร์กจะเพิ่มขึ้น 30 พันล้านเดนิชโครน เนื่องจากคาดว่าจะสามารถส่งออกไปยังตลาดสำคัญๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น จีน สวีเดน นอร์เวย์ สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้น

10. จีนออกระเบียบการนำเข้าเนื้อสุกรว่าจะต้องผ่านการตรวจสอบไวรัส H1N1 ด้วย เพิ่มเติมจากใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นเนื้อสุกรที่มาจาก Supplier รายใด แม้ว่าเดนมาร์กจะคัดค้านว่าเป็นการขัดต่อองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ก็ตาม

11. เดือนกันยายน 2552 เดนมาร์กเกินดุลชำระเงิน 8.8 พันล้านเดนิชโครน ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วที่เกินดุลชำระเงิน 8.6 พันล้านเดนิชโครน

12. OECD ได้แนะนำให้เดนมาร์กลดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลในปีหน้าลง ซึ่งคาดว่าอาจจะขาดดุลมากถึง 100 พันล้านเดนิชโครน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.4 ของ GDP และเป็นขาดขาดดุลงบประมาณสูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา โดยเห็นว่าเดนมาร์กควรจะจัดทำแผนการลดการขาดดุลงบประมาณอย่างเร่งด่วน

13. ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านมาทำให้ Council of the Labour Movement เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อไปอีกในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยหวังว่าการลงทุนของภาครัฐจะก่อให้เกิดการจ้างงานในปีหน้าเพิ่มขึ้น 20,000 คน

14. รัฐบาลมีแผนการที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกเพื่อช่วยเหลือธุรกิจภาคเอกชนไม่ให้ล้มละลายเพิ่มขึ้น โดยจะมีการยืดอายุการผ่อนชำระภาษีออกไป และจะจัดหาสภาพคล่องให้กับภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

15. รายงานของ EU Commission ระบุว่าเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีราคาอาหารสูงที่สุดในยุโรป โดยผลการสำรวจราคาอาหารตามซุบเปอร์มาร์เก็ตในเดนมาร์กเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปพบว่าราคาอาหารในเดนมาร์กสูงกว่าราคาอาหารเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 42 และสูงกว่าประเทศบัลแกเรียที่มีราคาอาหารต่ำสุดในสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 230

16. Transparency International’s 2009 Corruption Perceptions Index เปิดเผยผลการสำรวจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 180 ประเทศ ปรากฎว่าเดนมาร์กติดอันดับที่ 2 รองจากนิวซีแลนด์ที่มีการคอร์รับชั่นน้อยที่สุด โดยประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนอร์ดิกต่างก็ติดอันดับต้นๆ ได้แก่ สวีเดน อันดับ 4 ฟินแลนด์ อันดับ 6 ไอซ์แลนด์ อันดับ 10 และนอร์เวย์ อันดับ 11

17. นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้ประกาศแผนระยะ 10 ปี เพื่อทำให้เดนมาร์กติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศชั้นนำของโลก โดยตั้งเป้าหมายสำคัญๆ ว่าจะทำให้เดนมาร์กเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ร่ำรวยของโลก ซึ่งพิจารณาจาก GDP ต่อหัว (ปัจจุบันเดนมาร์กเป็นอันดับที่ 11) ทำให้เดนมาร์กติดอันดับที่ 3 ของประเทศผู้ประกอบการชั้นนำของโลกภายในปี 2020 ทำให้นักเรียนของเดนมาร์กติดอันดับ 1 ใน 5 ในระดับสากล โดยพิจารณาจากการอ่านหนังสือ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป (ปัจจุบัน Copenhagen University อันดับที่ 15) ทำให้เดนมาร์กติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (ปัจจุบันอันดับ 4) มีอัตราการเกิดอาชญากรรมอยู่ในระดับต่ำสุดในยุโรป และทำให้เดนมาร์กติดอันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่องของโลก โดยพิจารณาจากอัตราการว่างงาน การขาดดุลภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพของเงินเฟ้อและการขาดดุลการชำระเงิน ทั้งนี้ เพื่อต้องการยกระดับประเทศเดนมาร์กให้ติดอันดับประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่อย่างน้อย 300,000 คนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

18. มีแนวโน้มว่าการประชุม COP15 Climate Summit ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคม ศกนี้ จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลง Global Climate Agreement ได้ ทั้งๆ ที่บรรดาผู้นำจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวม 27 ประเทศต่างพยายามผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็ตาม ซึ่งคาดว่าอาจจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในการประชุม Mexico Summit ในปีหน้า เดนมาร์กถือเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ขณะนี้คาดว่าจะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมประชุมมากกว่า 90 ประเทศ โดยผู้นำประเทศสำคัญๆ ที่ตอบรับแล้ว เช่น ออสเตรเลีย บราซิล เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เป็นต้น

ข้อคิดเห็น

1. ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งนี้ถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของเดนมาร์ก แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายรายต่างก็เห็นว่าเศรษฐกิจได้ตกต่ำถึงขีดสุดแล้วและกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้น

2. ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 การส่งออกของไทยไปยังตลาดสแกนดิเนเวียลดลงทุกประเทศ แต่ก็คาดว่าหากเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องและฟื้นตัวขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ก็น่าจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าและการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นบ้าง

3. ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้น แนวโน้มสำคัญของตลาดแถบนี้ที่ผู้ผลิตและส่งออกของไทยควรคำนึงถึง ได้แก่ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental friendly products) สินค้าออร์แกนนิก (Organic products) รวมทั้ง Health conscious consumers, Fair trade, และ Corporate Social Responsibility (CSR)

4. การประชุม COP15 Climate Summit ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 — 18 ธันวาคม 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งหลายฝ่ายวิตกว่าคงจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลง Global Climate Agreement ได้นั้น คงจะต้องติดตามความคืบหน้าผลการประชุมครั้งนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

--------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ