ต้าเหลียน (Dalian) ประตูการค้าสู่อีสานจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 11, 2009 15:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผมถือโอกาสพาไปเที่ยวตอนเหนือของจีนกันอีกสักครั้ง หลังจากที่ผมเขียนเรื่องเกี่ยจวกับเมืองนี้ไปเมื่อปีก่อน ก็มีผู้อ่านหลายคนแสดงความสนใจกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของเมืองนี้กันมามาก ทั้งที่ผมคิดว่า คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรู้จักเมืองนี้ หรือหากรู้จัก หรือพอได้ยินชื่อเสียงมาบ้าง ก็คงไม่ค่อยมีโอกาสจะได้ไปกันมากนัก เมืองนั้นก็คือ “ต้าเหลียน” (Dalian) เมืองเศรษฐกิจสำคัญของมณฑลเหลียวหนิง (Liaoning)

พรรคพวกหลายคนที่ได้ไปเยือนเมืองนี้แล้ว ล้วนแต่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมือนกับได้ไปท่องเที่ยวยุโรปน้อยในราคาประหยัดเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง สวนสาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งดูเป็นตะวันตกเสียจริง ๆ จนบางครั้ง ขณะเพลิดเพลินกับการชมเมืองไปจะนึกไม่ถึงว่าจุดที่ยืนอยู่นั้นอยู่ในประเทศจีน ยิ่งถ้าหากได้ไปเที่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะ ๆ แล้ว รับรองจะรู้สึกและเข้าใจถึงคำว่า “อากาศดี” ที่เราถวิลหาได้อย่างแท้จริง เอาล่ะเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ก็ไปรู้จักกับเมืองต้าเหลียนกันเลยดีกว่า

ต้าเหลียน...เมืองใหญ่สมชื่อ

เมือง “ต้าเหลียน” (Dalian) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลิวต้า” (Luda) นับเป็นเมืองธุรกิจและเมืองท่าที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของภูมิภาคอีสานจีน แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าใหญ่ (ต้า) และในความเป็นจริงก็จัดได้ว่าใหญ่สมชื่อจริงๆ เพราะเมื่อพิจารณาจากในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองของจีนแล้วเมืองต้าเหลียนมีบทบาทและความแข็งแกร่งจัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจีนเลยทีเดียว

ในด้านภูมิศาสตร์ เมืองต้าเหลียนมีพื้นที่ประมาณ 13,800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่าเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ของจีน หากดูจากแผนที่แล้ว จะพบว่าเมืองต้าเหลียนตั้งอยู่ด้านขวา(ตะวันออก) ของกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนและไม่ห่างกันมากนัก แต่ถ้าเลือกเดินทางระหว่างสองเมืองดังกล่าวโดยรถไฟก็พบว่าจะต้องใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว เพราะต้องแล่นขึ้นตอนเหนือเพื่ออ้อมบริเวณอ่าวโป๋วไฮ่ (Gulf of Bo Hai) เมืองต้าเหลียนตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเหลียวหนิง บริเวณใต้สุดของคาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong) ในทะเลเหลือง และโอบล้อม “อ่าวโป๋วไฮ่” เอาไว้ ทำให้เมืองนี้มีชายฝั่งทะเลล้อมรอบ 3 ด้านที่ยาวเกือบ 2,000 กิโลเมตร แถมยังรายรอบด้วยหมู่เกาะรวมกว่า 700 เกาะ

ด้วยลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ของเมืองต้าเหลียน มีเรื่องเล่ากันว่า แต่เดิมย่านนี้มีเสือดุอยู่ 9 ตัวที่คอยมาลอบกินสัตว์เลี้ยงและทำร้ายผู้คน และมีนายพรานมือดีอาสาจะตามล่าเสือทั้ง 9 แต่ก็ไม่สำเร็จเสียที จนกระทั่งลูกสาวของเทวดาองค์หนึ่งเห็นใจในความพยายาม จึงปลอมตัวลงมาบนโลกมนุษย์และแต่งงานกับนายพราน พร้อมมอบดาบวิเศษเพื่อใช้ฆ่าเสือดังกล่าวนายพรานได้ดาบดีไปก็ตามล่าและฆ่าเสือได้เกือบหมด เหลือเพียงตัวสุดท้ายที่เก่งสุด ตามล่าอย่างไรก็ไม่สำเร็จเสียที ต่อมาในระหว่างที่ภรรยาของนายพรานกลับไปเยี่ยมครอบครัวบนสวรรค์ นายพรานก็พลาดท่าเสียทีเสือร้าย ถูกฆ่าตาย ภรรยากลับลงมาจากสวรรค์ทราบเรื่องก็ต้องออกโรงแทน ตามล่าอยู่ 7 วัน 7 คืน จนในที่สุดก็ฆ่าเสือล้างแค้นได้สำเร็จ อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของเสือก็กลับกลายมาเป็นผืนแผ่นดินของเมืองต้าเหลียนและผู้คนก็อาศัยอยู่ในเมืองนี้ด้วยความสงบสุขจนปัจจุบัน ดังนั้น ถ้าไปเมืองต้าเหลียน ท่านอาจแวะไปเยือน “หาดเสือ” (Tiger Beach) เพื่อถ่ายรูปกับรูปปั้นเสือแกะสลักขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าขุนเขา เยี่ยมชมบ้านสไตล์ยุโรปริมชายทะเล เดินดูสินค้าแปลกตก หรือดูเด็กเล็กเล่นเครื่องเล่นในบริเวณลานกว้าง บริเวณด้านหน้าของรูปปั้นเสือทั้งเก้าก็ได้

ปัจจุบัน เมืองต้าเหลียนมีประชากรใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ของเราคือ ประมาณ 6 ล้านคนโดยประมาณ 4 ล้านคนอาศัยอยู่ในตัวเมือง และด้วยทำเลที่ตั้งและปัจจัยอื่นที่ดี เมืองนี้จึงเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การค้า และการขนถ่ายสินค้าทางทะเลที่สำคัญของภูมิภาคอีสานจีน

ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ...คุ้มค่าหยาดเหงื่อ

นับแต่ก้าวแรกของการพัฒนาเมื่อเดือนสิงหาคม 2488 เมืองต้าเหลียนแห่งนี้ก็ค่อย ๆ เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2527 ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ในเขตการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน 14 เมืองชายฝั่งทะเลของจีนที่เปิดรองรับการค้าและการลงทุนของต่างชาติดังคำสั่งจากรัฐบาลกลางตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “Building the Grand Dalian...turning Dalian much stronger, bigger, richer, and brighter”

ปัจจุบัน เมืองนี้มีกิจการข้ามชาติชั้นนำเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ ยา กล้องถ่ายรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือที่ได้เข้ามาลงทุนในเมืองนี้ อาทิ GE, Goodyear, Pfizer, Wal-Mart, Canon,Toshiba, Mabuchi, Sanyo, Matsushita, Hitachi, LG Industry, Hyundai, Carrefour, Total, Nokia และEricsson รวมทั้งล่าสุด รัฐบาลเมืองต้าเหลียนก็หันมามุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการหลายราย โดยเฉพาะ Microsoft, IBM, SAP, Dell, Oracle, และ Accenture หลายฝ่ายถึงกับยกย่องว่าต้าเหลียนเป็น “เมืองหลวงด้านซอร์ฟแวร์ของจีน” (Software Capital of China) และรัฐบาลเมืองต้าเหลียนได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาต้าเหลียนให้เป็น “ศูนย์กลางการผลิตซอฟท์แวร์แห่งเอเชียตะวันออก” กันเลย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของต้าเหลียนได้ขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ นับแต่ปี 2535 เศรษฐกิจของต้าเหลียนเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 10 มาอย่างต่อเนื่อง เมืองต้าเหลียนขยายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของเมือง (GDP) จาก 111,000 ล้านหยวนในปี 2543 เป็น 385,820 ล้านหยวนในปี 2551 ขนาดว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจของเมืองต้าเหลียนก็ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา จนถือเป็นหนึ่งในเมืองดาวรุ่งของจีนและไล่ตามหลังเมืองเซินเจิ้นมาติด ๆ

ขณะเดียวกัน ต้าเหลียนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 9,340 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 อย่างแน่นอน ขณะที่ในปี 2551 การค้าระหว่างประเทศของเมืองต้าเหลียนก็ขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีมูลค่าถึง 44,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกของต้าเหลียนกระจายออกไปยังกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

ความรุ่งโรจน์ของต้าเหลียนยังสะท้อนผ่านคำกล่าวของท่านประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ในงานฉลองครบรอบ 100 ปีของเมืองในปี 2542 ซึ่งได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า "หลังจากผ่านความยากลำบากในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าไข่มุกแห่งตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจะยิ่งสุกสกาวมากขึ้น” (...going through the hardships in the past 100 years, the pearl of Northern China looks even brighter.)

เมืองต้าเหลียนประกอบด้วย 10 เขตการปกครองและ 5 เขตการลงทุนของต่างชาติ ด้วยสภาพภูมิประเทศและทำเลที่เหมาะสมแก่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศจึงทำให้เมืองต้าเหลียนเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอาหารทะเล ผลไม้ ผัก ปศุสัตว์ และดอกไม้

ต้าเหลียนเป็นศูนย์กลางการประมง (Base of Aquatic Products) โดยประมาณร้อยละ 90 ของสินค้าประมงส่งออกมาจากในพื้นที่นี้ (ประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี) และยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอีกด้วย โดยในปีหนึ่ง ๆ สามารถผลิตผักและผลไม้ได้รวมกว่า 3 ล้านตัน ผลไม้ที่ขึ้นชื่อได้แก่ เชอรรี่ พีช และองุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปเปิ้ล เวลาขับรถยนต์ออกไปชมวิวทิวทัศน์นอกเมือง ก็จะเห็นสวนแอปเปิ้ลกระจายอยู่ทั่วบริเวณ จนเมืองต้าเหลียนได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า "บ้านเกิดของแอปเปิ้ล” (Homeland of Apples)

นอกจากนี้ เมืองต้าเหลียนยังเป็นฐานการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์สำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดของจีน อุตสาหกรรมที่สำคัญที่มีการลงทุนในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ ปิโตรเคมี เครื่องจักรเครื่องมือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กล่าวคืออุตสาหกรรมอู่ต่อเรือมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี โดยเป็น หนึ่งในเมืองที่ต่อเรือส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของจีน อู่ต่อเรือที่ใหญ่และทันสมัยมากที่สุดเห่งหนึ่งของจีนได้แก่ “Dalian New Shipyard” โดยสามารถต่อเรือขนาด 300,000 เดดเวทตันได้อย่างสบาย ซึ่งภายหลังการปรับโครงสร้างเมื่อปี 2543 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Dalian New Vessel and Heavy Industry Co., Ltd.” ท่านเจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็เดินทางมาเยี่ยมชมอู่เรือแห่งนี้ถึง 3 ครั้งด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ต้าเหลียนยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนโดยมีบริษัทใหญ่อย่าง “Dalian Locomotive and Rolling Stock Works” ผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ และส่งออกมากกว่า ร้อยละ 80 ของการส่งออกเครื่องยนต์ดีเซลของจีนโดยรวม นอกจากนี้ ยังมี Dalian Zhonggong Elevating Machinery Co., Ltd. ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตลิฟท์รายใหญ่และเก่าแก่ที่สุดรายหนึ่งของจีน

เมืองต้าเหลียนยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น หินปูน และเพชรดิบ ผมเชื่อว่าหลายท่านจะแปลกใจเมื่อทราบว่า ต้าเหลียนเป็นแหล่งเพชรคุณภาพดีและมีปริมาณสำรองมากที่สุดของจีนจึงมีเหมืองเพชรกระจายอยู่ในหลายแห่ง

โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจ...ทันสมัย

นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ เมืองต้าเหลียนนับเป็นเมืองหนึ่งที่เปิดสำหรับต่างชาติมากที่สุดในแถบอีสานจีน โดยในเชิงสังคม ต้าเหลียนได้พัฒนาความสัมพันธ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับนครสำคัญของกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา เกาหลีใต้ รัสเซีย คองโก ออสเตรเลีย มาเซโดเนีย อิตาลี คิวบา และยูเครน รวมทั้งยังเป็นสถานที่จัดการประชุมด้านเศรษฐกิจโลก “Summer Davos Forum” เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้าเหลียนยังมีวิธีการดึงดูดนักธุรกิจได้น่าประทับใจมาก โดยอาศัยความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมดีเลิศที่สุดในประเทศจีน รวมทั้งความสะดวกสบายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางและรถไฟลอยฟ้าเป็นจุดขาย

ในเชิงเศรษฐกิจ เมืองต้าเหลียนเป็นแหล่งที่กิจการต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยนับแต่เปิดเมืองต้อนรับการลงทุนของต่างชาติมีกิจการจำนวน 13,000 แห่งจากกว่า 70 ประเทศหลั่งไหลเข้ามาลงทุน ในปี 2551 ต่างชาติเข้ามาลงทุนถึงกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีของค่ายยุโรปและสหรัฐฯ ทั้งสองกลุ่มประเทศนี้ได้ให้ความสนใจในการลงทุนที่เมืองต้าเหลียนเป็นอย่างมาก และในช่วงหลังก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นกัน และประมาณ 1 ใน 6 ของกิจการรายใหญ่ในรายชื่อของ Fortune 500 เข้ามาลงทุนและจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้ง 186 บริษัทในต้าเหลียนแล้ว

ในปัจจุบัน มีธนาคารและสถาบันการเงินต่างชาติกว่า20 รายเข้ามาเปิดสาขาและสำนักงานตัวแทนเพื่อให้บริการลูกค้าในเมืองนี้ เมื่อผนวกกับสถาบันการเงินท้องถิ่น ทำให้เมืองต้าเหลียนมีโครงข่ายการดำเนินธุรกรรมทางการเงินกับ 150 ประเทศทั่วโลก จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “ศูนย์กลางการชำระเงินทางอิเล็คทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีน”

อุตสาหกรรมประกันภัยก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในปัจจุบัน ธุรกิจประกันภัยในเมืองต้าเหลียนมีการเอาประกันในมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ ยังมี “ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” (Dalian Commodity Exchange: DCE) ซึ่งมีธุรกรรมการซื้อขายประมาณ 3 ล้านล้านหยวนต่อปีคิดเป็นกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ารวมของจีน โดยเฉพาะสินค้าถั่วเหลืองมีธุรกรรมการซื้อขายล่วงหน้ามากที่สุดของจีนและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

อุตสาหกรรมการจัดงานนิทรรศการและงานแสดงสินค้า (Exposition Industry) นับเป็นธุรกิจหนึ่งของบรรดาอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่เมืองต้าเหลียนเป็นอย่างมากในแต่ละปี โดยศูนย์แสดงสินค้านานาชาติที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์แสดงสินค้าซิงไห่ (Xinghai Convention and Exhibition Center) และศูนย์นิทรรศการโลกแห่งเมืองต้าเหลียน (Dalian World Expo Center) เมื่อปี 2539 และก่อสร้างเพิ่มเติมหลายครั้ง

จนถึงปัจจุบัน ต้าเหลียนได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าที่ดีที่สุดของจีน โดยภายในอาคารติดตั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทันสมัย เฉกเช่นเดียวกับศูนย์แสดงสินค้าชั้นนำของโลกตะวันตก และเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าสำคัญมากมาย โดยเฉพาะ China Dalian Import & Export Commodities Fair and Dalian International Industrial Expo, China (Dalian) International Garment and Textile Fair และ China International Software & Information Service Fair

นับแต่ปี 2534 รัฐบาลกลางของจีนได้กำหนดพื้นที่พิเศษให้เมืองต้าเหลียนเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ

  • “Dalian High-grade Technology Industrial Park” เปิดบริการเมื่อเดือนมีนาคม 2534 ปัจจุบันมีพื้นที่ 8.2 ตารางกิโลเมตร
  • “Liaoning Dalian Export Processing Zone” เปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2543 และจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ครอบคลุมอาณาบริเวณเกือบ 3 ตารางกิโลเมตร
  • Dalian Free Trade Zone และ Economic and Technical Development Zone แห่งแรกของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เมืองสาธิตในอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ระดับนานาชาติแห่งแรกของจีน (Demonstrative City in Internationalization of the Software Industry) ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการนับแต่เดือนพฤษภาคม 2544
  • Dalian International Logistics Park

ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและเส้นทางคมนาคม นอกจากการกำหนดพื้นที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงแล้ว เมืองต้าเหลียนยังได้รับการพัฒนาจนมีโครงข่ายสื่อสารและโทรคมนาคมที่ทันสมัย ภายในเมืองจะมีโทรศัพท์สาธารณะอย่างทั่วถึง แต่ถึงกระนั้นก็ยังเห็นวัยรุ่นชาวต้าเหลียนมีโทรศัพท์มือถือใช้กันเต็มไปหมด นอกจากนี้ เมืองต้าเหลียนยังเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ

ในด้านการขนส่งทางบก ต้าเหลียนเป็นหนึ่งในโครงข่ายระบบการขนส่งทางรถไฟและทางถนนในทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ภายในตัวเมืองต้าเหลียนยังมีบริการสาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางถนนและระบบควบคุมสัญญาณจราจรที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองต้าเหลียนได้ลงทุนในโครงข่ายรถไฟในเมืองเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถขยายเขตเมืองออกไปยังเขตเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างกว้างขวาง

โครงสร้างการขนส่งทางน้ำนับเป็นจุดเด่นของเมืองต้าเหลียนทีเดียว เพราะมีท่าเรือพาณิชย์ใหญ่ที่เป็นเสมือนประตูการค้าสำคัญของภูมิภาคนี้ ต้าเหลียนมีท่าเรือหลายแห่ง และเป็นที่ตั้งของท่าเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน และท่าเรือต้าเหลียน (Dalian Port) ซึ่งเป็นท่าเรือใหม่ สามารถขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของจีนและมีโครงข่ายเชื่อมต่อไปยังท่าเรือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศถึง 300 แห่งใน 160 ประเทศ จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ในปี 2551 ท่าเรือให้บริการร้อยละ 70 ของปริมาณสินค้า และร้อยละ 90 ของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ของภูมิภาคอีสานจีน รองรับสินค้าคอนเทนเนอร์ผ่านท่า 4.53 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา และรองรับสินค้ารวม 250 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีท่าเทียบเรือที่สามารถให้บริการเรือขนส่งสินค้าเกษตร สินค้าเหลว และเรือขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 70 ท่าเทียบเรือ โดยในจำนวนนี้เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตันจำนวน 40 ท่า

ในอดีต ท่าเรือหลักในกลางเมืองต้าเหลียนมีสภาพเป็นเพียงท่าเรือประมงและพัฒนาเป็นท่าเรือพาณิชย์เพื่อขนส่งสินค้าทั่วไป ในสมัยที่รัสเซียเข้ายึดครองต้าเหลียน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นภาษารัสเซียว่า “ดาลนี” (Dalny) ปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้อาจดูทรุดโทรมไปบ้างเพราะผ่านร้อนผ่านหนาวมากเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ก็ยังถูกใช้เป็นเสมือนประตูการค้าที่สำคัญรองรับความต้องการของพื้นที่หลังท่า (Hinterland)ในพื้นที่ตอนเหนือของจีนในอดีต อันได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลแถบอีสานจีน ตลอดจนมองโกเลีย พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นฐานการเพาะปลูกสินค้าเกษตร และผลิตสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งสินค้าปิโตรเลียมและสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศในบริเวณอ่าวโป๋วไฮ่ที่มีทะเลล้อมรอบไม่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง (Ice-free) เรือสามารถเดินทางเข้าออกเพื่อขนถ่ายสินค้าได้ตลอดปี จึง ทำให้ท่าเรือแห่งนี้คงความสำคัญมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ในบริเวณปลายสุดของคาบสมุทรยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือหลิ่วซุน (Lushun) ซึ่งเป็นฐานทัพเรือสำคัญของจีนนับแต่ทศวรรษ 1880 จนถึงปัจจุบัน ด้วยทำเลที่ตั้งที่ดีจึงทำให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นที่ต้องการของนานาประเทศในแง่ความมั่นคง ประเทศมหาอำนาจในแต่ละยุคสมัย จึงต่างผลัดกันเข้ามายึดครองพื้นที่แห่งนี้เป็นฐานทัพเรือของตนอยู่ตลอดนับแต่ศตวรรษที่ 6 ไล่ตั้งแต่อังกฤษ (ปี 1858) ญี่ปุ่น (ปี 1895) รัสเซีย (ในช่วงปี 1898-1905) ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าเรืออาร์เธอร์” (Port Arthur) รัสเซียชื่นชมท่าเรือแห่งนี้มาก เพราะมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและช่วยให้รัสเซียสามารถส่งกองกำลังเรือรบเข้าออกมหาสมุทรแปซิฟิกได้ตลอดปี

ในด้านการขนส่งทางอากาศ เมืองต้าเหลียนมีสนามบินนานาชาติที่ชื่อเต็มว่า “Dalian Zhoushuizi International Airport” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Dalian International Airport” ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองห่างไปเพียงสิบกว่ากิโลเมตร สนามบินแห่งนี้เพิ่งฉลองอายุครบ 35 ปีไปเมื่อไม่นาน โดยแต่เดิมมีสถานะเป็นเพียงสนามบินภายในประเทศและได้รับการยกระดับขึ้นเป็นสนามบินระหว่างประเทศในโอกาสที่อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมินไปเยือนเมืองต้าเหลียนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2536

ในปี 2551 สนามบินแห่งนี้มีเส้นทางการบินเชื่อมต่อกับสนามบินในและต่างประเทศจำนวนประมาณ 100 เส้นทาง รองรับผู้โดยสารถึง 8.2 ล้านคน และสินค้า 130,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ สนามบินแห่งนี้นับว่าเป็นสนามบินที่รองรับผู้โดยสารได้มากที่สุดในแถบอีสานจีนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของสนามบินแห่งนี้ก็คือสภาพอากาศ โดยเฉพาะในฤดูร้อน ที่มีหมอกลงหนาจัดมากจนเครื่องบินไม่สามารถลงได้ บางครั้งผู้โดยสารต้องรออากาศเปิดอยู่นับวันเลยทีเดียว หากในอนาคต มีสายการบินใจถึงเปิดเส้นทางบินเชื่อมกรุงเทพฯ - เมืองต้าเหลียนก็คาดว่าจะช่วยให้การท่องเที่ยวและการค้าการขายระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน

สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งชอปปิ้ง...เดินจนเมื่อยก็ไม่ทั่ว

สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองต้าเหลียนมีทั้งส่วนที่เป็นธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลของเมืองนี้ได้ทุ่มงบประมาณพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวไว้มากมาย ซึ่งต้องชมเชยในความสามารถของผู้บริหารของเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่นายโปว ซี ไหล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมื่อครั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนี้ ที่สามารถผสมผสานสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายชนิดได้อย่างกลมกลืน แถมยังอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากกันมากนัก เรียกว่าทุก ๆ 10-15 นาทีก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ได้ชมกันแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มาก

เมืองต้าเหลียนมีสวนสาธารณะที่ตกแต่งอย่างสวยงามมากมายกว่า 80 แห่ง อาทิ People’s Square, Labour Park และ Xinghai Square ผู้คนที่อาศัยและไปเที่ยวเมืองนี้จึงรู้สึกสดชื่นมาก ในบริเวณใจกลางเมืองมีสภาพแวดล้อมที่สะอาด ต้นไม้และสวนหย่อมถูกปลูกสร้างขึ้นทั่วไปหมดโดยเฉพาะตามริมชายหาด วง เวียน ริมถนนทางเท้า และสี่แยกใหญ่

ในปัจจุบัน เมืองต้าเหลียนมีพื้นที่สีเขียวสูงถึงร้อยละ 44 ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่สีเขียวสาธารณะอยู่ในระดับ 11.6 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งสูงกว่าของมาตรฐานสากลอยู่ที่ระดับ 10 ตารางเมตรต่อคนขณะที่กรุงเทพฯ แดนสวรรค์ของคนไทยเราอยู่ที่ระดับเพียงแค่ 1 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ดังนั้น หากท่านผู้อ่านไปเยือนเมืองนี้จะรู้สึกสบายในอารมณ์มาก เพราะผ่านไปที่ไหนก็ดูเขียวชอุ่มชุ่มชื้นทั่วไปหมด ด้วยเหตุนี้ เมืองนี้จึงได้รับรางวัลมากมายจากองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรางวัล "Habitant of Scroll of Honour Award" ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในปี 2542 และ “Global 500 in Environment” ของ UNEP ในปี 2544 และรางวัลอื่น ๆ ในด้านภูมิทัศน์ และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมสุขอนามัยและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นเมืองชั้นนำในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค

ใครไปเยือนเมืองต้าเหลียนคงไม่พลาดที่จะได้ยล People’s Square ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริเวณหน้าเทศบาลเมืองต้าเหลียน จัตุรัสแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “จตุรัสสตาลิน” (Stanlin Square) ต่อมาเมื่อกลางปี 2542 รัฐบาลต้าเหลียนได้ปรับปรุงสวนแห่งนี้พร้อมให้ชื่อใหม่ People’s Square แห่งนี้นับเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจที่เชิดหน้าชูตาเมืองนี้มาก เพราะขนาบอยู่ทั้งสองฝั่งถนนเส้นหลักยาวเหยียดหลายร้อยเมตรนัยว่าเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน สวนสาธารณะแห่งนี้ตกแต่งด้วยสวนดอกไม้และสนามหญ้าอย่างเรียบง่าย ในอีกฝากหนึ่งของถนนยังมีสวนน้ำพุเพื่อให้คนมาเดินพักผ่อนหย่อนใจกัน ผมผ่านไปบริเวณนั้นหลายรอบก็เห็นคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมาเดินเล่นและถ่ายรูปกันเต็มไปหมด

Zhongshan Music Circle นับเป็นสวนสาธารณะใจกลางสี่แยกขนาดใหญ่ (22,000 ตารางเมตร)ที่มีวิวทิวทัศน์งดงามเช่นกัน โดยเฉพาะยามค่ำคืน เพราะสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นวงเวียนกลางถนนที่ห้อมล้อมไปด้วยอาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปที่ตกแต่งด้วยแสงไฟ

นอกจากนี้ บริเวณใจกลางเมืองยังมี Labour Park และจัตุรัสโอลิมปิค (Olympic Square) จัตุรัสแห่งนี้มีพื้นที่กว่า60,000 ตารางเมตร มีสนามฟุตบอล 4 สนาม สนามเทนนิส 12 สนาม และชั้นใต้ดินยังมีลานสเก็ตขนาดใหญ่ จัตุรัสฯ ตั้งอยู่ย่านถนนคนเดินที่ใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งมีสถานที่จับจ่ายใช้สอยและเดินเล่นทั้งบนดินและใต้ดิน แถมมีชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ให้ขึ้นไปชมทัศนียภาพของเมืองอีกด้วย เมื่อกลางปีที่ผ่านมานั้น ย่านนั้นถูกตกแต่งและสร้างบรรยากาศรองรับกีฬาฟุตบอลโลกหญิงที่จีนเป็นเจ้าภาพ คนท้องถิ่นเล่าให้ผมฟังว่า ชาวต้าเหลียนบ้าฟุตบอลเหมือนคนไทยเช่นกัน ทีมฟุตบอลต้าเหลียนเคยเป็นแชมป์ฟุตบอลลีกของจีนและผู้เล่นหลายคนก็ถูกซื้อตัวไปเล่นในยุโรปและประเทศเพื่อนบ้านมาก ถ้าวันไหนทีมฟุตบอลต้าเหลียนลงแข่งลีกหรือมีทีมฟุตบอลต่างชาติชั้นนำมาแข่งที่เมืองนี้ ผู้คนจะแห่แหนไปเชียร์กันแน่นสนามทีเดียว

วิวทิวทัศน์ด้านริมทะเลก็สวยงามสบายตายิ่งนักโดยรัฐบาลได้ลงทุนตัดถนนลัดเลาะริมชายหาดที่เชื่อมต่อกันถึง35 กิโลเมตร ท่านที่ชอบวิวริมทะเลก็สามารถจ้างคนขับรถหรือให้เพื่อนขับพาชมวิวทะเลกันได้ โดยเฉพาะด้านตอนใต้ของเมืองนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ จตุรัสซิงไฮ่(Xinghai Square) และสวนสาธารณะซิงไฮ่ (Xinghai Park) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ตกแต่งด้วยต้นไม้และหญ้าอย่างวิจิตรบรรจงบนพื้นที่นับร้อยไร่ ปลายสุดจัตุรัสบริเวณริมทะเลก็เป็นประดิษฐกรรมรูปหนังสือเปิดชิ้นเขื่องตั้งอยู่ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า ในอดีตบริเวณแถบนั้นเดิมเป็นพื้นที่กองขยะของเมือง ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นและสร้างความไม่เจริญตาแก่ผู้พบเห็น แต่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยที่ท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โปว ซีไหลเช่นกัน จนทำให้ชาวเมืองต้าเหลียนประทับใจในวิสัยทัศน์และความสามารถมาจนทุกวันนี้

พิพิธภัณฑ์หอย (Navigation and Shell Museum) ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ท่านควรหาเวลาไปเยี่ยมชมกัน ลำพังแค่เห็นตัวอาคารที่มีลักษณะปราสาทใหญ่สไตล์ยุโรปตั้งตระหง่านบนเนินเขารับรองว่าท่านจะต้องตะลึงกันแล้ว แต่ข่าวว่าพิพิธภัณฑ์กำลังจะถูกย้ายไปอยู่บริเวณจัตุรัสซิงไฮ่ และเปลี่ยนเป็นโรงแรมห้าดาวในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ชมโลกใต้ท้องทะเลที่ชื่อ “Sun Asia Ocean World” ที่ท่านจะได้ชมสัตว์ทะเลได้อย่างใกล้ชิด อันที่จริง หากท่านต้องการท่องเที่ยวทางน้ำก็ต้องมาขึ้นลงเรือในบริเวณนี้เช่นกัน รับรองไม่ผิดหวังในทิวทัศน์และเกาะแก่งในบริเวณนั้น

ด้านซีกตะวันออกของเมือง มีถนนที่คดเคี้ยวที่สุดของเมืองเรียกว่า “Shiba Winding Path” ถนนเส้นนี้อาจไม่คดเคี้ยวมากเท่าที่แคลิฟอร์เนีย แต่ระยะทางยาวและมีทัศนียภาพที่สวยงามกว่ามาก เพราะถนนเส้นนี้ลัดเลาะระหว่างภูเขา ในวันที่อากาศดีผมแนะนำให้เปิดหน้าต่างรถยนต์เพื่อจะได้สูดโอโซนฟอกปอดเสียหน่อย สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีกีฬากอล์ฟอยู่ในหัวใจ ก็ต้องไม่พลาดการออกรอบที่ Golden Pebble Golf Course ซึ่งได้รับการจัดชั้นว่าเจ๋งในอันดับ 6 เมื่อปี 2542 และเป็นสนามที่ท้าทายมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก แถมยังเป็นสนามกอล์ฟที่มีวิวทิวทัศน์ริมทะเล Golden Pebble Beach ที่ยอดเยี่ยมที่สุดมุมหนึ่งของต้าเหลียน แต่อาจต้องนั่งรถออกไปนอกเมืองสักหน่อย แต่ผมรับรองว่าคุ้มค่ากับการหอบชุดกอล์ฟไปถึงสนามแห่งนี้แน่

นอกจากนี้ เมืองต้าเหลียนยังเป็นมีการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองสารพัด และเป็นแหล่งรวบรวมสินค้านานาชนิดผ่านห้างสรรพสินค้าและช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้เมืองนี้เป็นสถานที่พักผ่อนและด้านการท่องเที่ยวในฤดูร้อนที่ได้รับความนิยมทั้งในหมู่คนจีนและชาวต่างประเทศโดยมีรางวัลอันทรงคุณค่าอย่าง "Outstanding Cities of Tourist Attraction Award" เป็นเครื่องรับประกัน ซึ่งนับเป็นเมืองแรกของจีนที่ได้รับรางวัลนี้ ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวประมาณ 20 ล้านคนแวะมาเยือนเมืองนี้ในแต่ละปี ในจำนวนนี้ เป็นชาวต่างชาติกว่า 500,000 คนต่อปี ทำให้เมืองนี้ถูกจัดว่าเป็น 1 ใน 10 เมืองท่องเที่ยวดีเด่นของจีน และในปี 2552 ต้าเหลียนยังได้รับรางวัลที่ 2 เมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของจีน(Chinese Most Eye-Catching Cities)

สภาพอากาศดี....แต่ต้องวางแผนล่วงหน้า

ต้าเหลียนมีสภาพอากาศอบอุ่นถึงเย็น และเนื่องจากมีชายฝั่งทะเลล้อมรอบ จึงมีลมพัดผ่านให้เย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 10.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจถือว่าหนาวเกินไปสำหรับคนไทย แต่สำหรับคนจีนเขาจะถือว่าต้าเหลียนเป็นเมืองตากอากาศที่ดีเยี่ยม ราคาที่ดินในเมืองนี้จึงสูงกว่าของอีกหลายเมืองในย่านนี้

เมืองต้าเหลียนมีฝนตกมากพอควร คือระหว่าง 550-950 มิลลิเมตรต่อปีและมีภูมิทัศน์ที่ยอดเยี่ยม โดยด้านหลังเป็นภูเขาและด้านหน้าเปิดรับสู่ทะเล จนหลายคนเรียกว่าเป็น “City of Romance” และด้วยความที่เมืองต้าเหลียนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางแฟชั่นของจีน จึงเห็นวัยรุ่นสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใสอย่างมีสไตล์ บ่อยครั้งที่ไปเยือนเมืองนี้ในช่วงอากาศดี ผมสังเกตเห็นตำรวจจราจรสาวหน้าตาจิ้มลิ้มใส่เสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้นยืนให้สัญญาณจราจรกลางสี่แยกใหญ่ในใจกลางเมืองต้าเหลียน ยิ่งทำให้บรรยากาศในเมืองยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น

ในฤดูร้อน คือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมมีอากาศที่อบอุ่น มีแดดประมาณ 2,500-2,800 ชั่วโมงต่อปี ในบางวันที่มีอากาศอุ่นอาจมีหมอกลงหนาจัดมากจนไม่สามารถมองออกไปได้ไกลเกินกว่า 50 เมตรได้ เวลาเงยหน้าขึ้นมองอาคารสูงก็ไม่เห็นยอด และสภาพอากาศเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะช่วงเช้าตรู่หรือพลบค่ำเท่านั้น แต่แม้กระทั่งในช่วงกลางวันก็ยังมีหมอกหนาอยู่มาก จะเรียกว่ามีหมอกปกคลุมเมืองตลอดทั้งวันเลย ต้าเหลียนจึงเป็นประหนึ่ง “เมืองในหมอก” อีกแห่งหนึ่งของจีน

หากท่านผู้อ่านต้องการไปทำธุรกิจหรือเที่ยวเมืองนี้ ผมแนะนำให้ไปในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม ซึ่งจะมีสภาพอากาศที่เย็นสบาย เหมาะกับการเดินดูนกชมไม้ สภาพบ้านเมือง และช๊อปปิ้งได้อย่างไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย แต่เนื่องจากนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย ล้วนแต่นิยมไปเยือนและพักผ่อนตากอากาศที่เมืองนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสิ้นการท่องเที่ยวและการค้าปลีกจึงเป็นอีกสาขาอุตสาหกรรมใหญ่ที่สร้างรายได้ให้แก่เมืองนี้ แต่ผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจ ควรวางแผนการเดินทางล่วงหน้าสักหน่อย จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องที่พัก ตั๋วเครื่องบินและอื่น ๆ

โดยสรุป ต้าเหลียนเป็นเมืองที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีน ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยทิศทางการพัฒนาดังกล่าว เมืองต้าเหลียนจะทวีความสำคัญทางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และขนส่งของภูมิภาคอีสานจีนมากขึ้นในอนาคต ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านจะได้รู้จักเมืองต้าเหลียนมากขึ้นอีกไม่มากก็น้อย มีโอกาสไปเยือนตอนเหนือของจีนเมื่อไหร่ ก็อย่าลืมไปยลเมืองแห่งนี้ด้วยตาตนเองนะครับ

โดย ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผอ. สคต. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ