“พาณิชย์”เผยส่งออกเดือน พ.ย. ขยายตัว 17.2% “เอกชน” มั่นใจปีหน้าส่งออกได้ตามเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 14:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

"พาณิชย์" ระบุส่งออกเดือน พ.ย.ขยายตัว 17.2% เผยฐานส่งออกปีก่อนต่ำดันยอดส่งออกปีนี้เพิ่มสูง ตลาดส่งออกกระเตื้องเว้นญี่ปุ่นทรุดต่อเนื่องเหตุเยนแข็ง "พรทิวา" คาดไตรมาส 4 ขยายตัว 7% ทั้งปีนี้ ติดลบ 15% ประเมินปีหน้าส่งออกพุ่ง 14% "เอกชน" ชี้ส่งออกขยายตัวจากปีก่อน มั่นใจปีหน้าส่งออกได้ตามเป้า จี้รัฐดูแลค่าเงินหวั่นกระทบขีดความสามารถแข่งขัน

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนพ.ย.2552 มีมูลค่า13,840 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.2%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2551 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 12,782 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.2% ทำให้เกินดุลการค้า1,058 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดส่งออกรวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มูลค่า137,954 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.0%การนำเข้ารวมมูลค่า 119,376 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28.9% และเกินดุลการค้ารวม 18,578 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้นเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 28.6% ทั้งข้าว มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลขณะที่ยางพารา ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ก็เป็นบวกเดือนแรกในรอบปี หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม13.2% โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สิ่งพิมพ์ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มสินค้าที่กลับเป็นบวกเดือนแรก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุปกรณ์ส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง เลนส์ ส่วนสินค้าที่ติดลบ ได้แก่เครื่องเดินทาง เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ตกแต่ง และของเล่น

สำหรับการนำเข้าเป็นยอดติดลบต่ำสุดในรอบปี โดยกลุ่มเชื้อเพลิงเพิ่ม0.7% สินค้าทุนลดลง 4.1% วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 9.0% อุปโภคบริโภคเพิ่ม18.8% ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเพิ่ม 29.9% หลังจากภาคการผลิตมีการสั่งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตมากขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์รวมถึงผู้บริโภคได้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้นรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ รวมถึงยานยนต์มีการนำเข้าเพื่อจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์

ส่วนตลาดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดหลัก และตลาดใหม่ โดยตลาดหลักเพิ่ม 5.9% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 4.6%สหภาพยุโรป 3.2% อาเซียน 16.4% แต่ญี่ปุ่นยังลบ 2.9% ตลาดรองและใหม่เพิ่ม29.9% โดยที่ปรับเพิ่มชัดเจน ได้แก่ ฮ่องกง44.2% ไต้หวัน 14.1% ออสเตรเลีย 58.4%แคนาดา 47.7% อินโดจีน 38.8% แอฟริกา23% อินเดีย 27.1% และจีน 77.1%

นางพรทิวากล่าวว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.และต.ค.ที่ผ่านมา ลดลงนั้นเป็นเพราะปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ปีก่อนอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้แข็งค่าเหลือ 33 บาท ประกอบกับสต๊อก วัตถุดิบผลิตสินค้าเหลือน้อย ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตรองรับการส่งออกได้มาก ส่วนการลดค่าเงินด่งของเวียดนามส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทยบ้าง โดยคู่ค้าชะลอสั่งซื้อเพื่อรอดูราคาสินค้าของเวียดนามหากถูกกว่าไทยก็อาจเปลี่ยนไปซื้อ แต่ถ้าราคาไม่แตกต่างกันก็น่าจะซื้อของไทยเหมือนเดิม

"ยอดส่งออก พ.ย.สะท้อนว่าการส่งออกอยู่ช่วงขาขึ้น และคาดว่าจะบวกเพิ่มขึ้นได้อีก โดยหากเดือน ธ.ค.ส่งออกได้ประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 4 จะบวก 7% ทำให้ยอดส่งออกทั้งปี 2552 ทำได้ตามเป้าหมาย คือติดลบ 15%ขณะที่การส่งออกปีหน้ามั่นใจว่าบวก 14%มีมูลค่าส่งออกที่ 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 13,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มาบตาพุดและปัจจัยการเมืองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการค้า" นางพรทิวากล่าว

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 ว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี ขยายตัวร้อยละ 17.21 ด้วยมูลค่าการส่งออก 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฝันเฟื่องเดือนธันวาคมจะพาตัวเลขติดบวก 7% ส่วนสินค้าชายแดนจะเติบโต 1 ล้านล้านบาท นางพรทิวา สินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้นทุกหมวด อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และน้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องสำอาง ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบนอกจากนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญทั้งในตลาดหลักกลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ร้อยละ 5.9 และตลาดใหม่ ขยายตัวถึงร้อยละ 29.9 อาทิ จีนออสเตรเลีย ฮ่องกง พม่า อินเดีย และไต้หวันอย่างไรก็ตาม การส่งออกในระยะ 11 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 137,954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 17

ด้านตัวเลขการนำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2552 มีมูลค่า 12,782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 2.2 ซึ่งสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 และกลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ส่วนตัวเลขการนำเข้า 11 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 119,376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.9 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน 2552 เกินดุลการค้า1,058 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 11 เดือนของปีเกินดุล 18,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคมจะมีมูลค่าเกินกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีเป็นไปตามคาดหมายที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ว่าจะติดลบประมาณร้อยละ 13-15 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากว่า18,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากดูตัวเลขการส่งออกในรายไตรมาส สามไตรมาสแรกตัวเลขการส่งออกติดลบ แต่ไตรมาสสุดท้ายของปีตัวเลขส่งออกจะกลับมาเป็นบวกร้อยละ 7

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจากแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกในปี 2553 น่าจะมีอัตราขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10-15 หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายรายการของไทยยังเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้าแต่สิ่งที่ผู้ส่งออกหลายกลุ่มเป็นห่วงว่าอาจจะเป็นปัจจัยกระทบต่อภาคการส่งออก ได้แก่ ความไม่ชัดเจนและนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการลงทุนในมาบตาพุด ปัญหาการเมือง ซึ่งหากการเมืองไม่เกิดความวุ่นวายจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกมากนัก รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน โดยผู้ส่งออกไม่อยากให้ค่าเงินบาทสูงกว่าค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉลี่ยอยากให้อยู่ในระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และในปีหน้าภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน กรมส่งเสริมการส่งออกประเมินว่า การส่งออกในตลาดอาเซียนจะขยายตัวระหว่างร้อยละ 15-20 โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่จะเติบโตถึง 1 ล้านล้านบาท

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ