ทิศทางการบริโภคสินค้าอาหารในแคนาดาปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2010 15:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า Wal-Mart และห้าง Shopper Drug Mart ได้ศึกษาพบว่ายอดจำหน่ายสินค้าหมวดอาหารสูงเป็น 3 เท่าของยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าชาวแคนาดาได้ลดการจับจ่ายซื้อสินค้าทั่วไป แต่ไม่ได้ลดการจับจ่ายซื้อสินค้าอาหาร ทำให้ห้างเหล่านี้ต่างพากันเพิ่มรายการสินค้าอาหารในห้างและมีแผนที่จะขยายหรือเพิ่มแผนกสินค้าอาหารในห้างเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยมายังแคนาดา จะพบว่า ไทยส่งออกสินค้าอาหารมาแคนาดาในปี 2552 เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิคส์และสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไปแคนาดาจำนวนเงิน 408.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดแคนาดาร้อยละ5.80 เป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ (ครองตลาดร้อยละ62.39) และบราซิล (ครองตลาดร้อยละ 6.39) สินค้าอาหารที่ไทยส่งออกมายังแคนาดาได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป ดังนั้น เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยมองภาพตลาดสินค้าอาหารของแคนาดาและสามารถจับทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารให้ตรงกับพฤติกรรมและรสนิยมของชาวแคนาดา เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้าอาหารในแคนาดา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโตรอนโต จึงได้จัดทำทิศทางการบริโภคสินค้าอาหารของชาวแคนาดาในปี 2553 ดังนี้

1.อาหารที่มีความเรียบง่าย (Simple foods)

นอกจากบรรจุภัณฑ์ ฉลากสินค้าที่แสดงถึงส่วนประกอบของอาหารและตราสินค้าอาหารแล้วผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับอาหารที่ปรุงอย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และส่วนประกอบของวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารนั้นต้องโปร่งใสและเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เนื่องจาก ชาวแคนาดาเป็นผู้บริโภคที่มีการศึกษาสูงและคำนึงถึงการบริโภคอาหารที่ไม่มีผลกระทบต่อร่างกายของตนเอง

สินค้าอาหารไทย จึงควรจะปรับภาพลักษณ์เน้นความเรียบง่าย สามารถปรุงให้สำเร็จได้ง่ายจากเตาไมโครเวฟ หรือมีขั้นตอนและกรรมวิธีไม่ซับซ้อนในการปรุง แสดงส่วนประกอบอาหารที่โปร่งใส ตรงกับความเป็นจริง และเข้าใจง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแคนาดา

2. อาหารที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบธรรมชาติจากท้องถิ่น (Local ingredients)

ในแคนาดา การรับประทาน/บริโภคสินค้าที่ผลิตได้ในท้องถิ่นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น (สินค้าอาหารที่ผลิตในแคนาดาส่วนใหญ่มีคุณภาพที่ดีและราคาสูง) แต่การใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมีความหมายรวมไปถึงการสนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตในท้องถิ่นด้วย อาทิ การช่วยเหลือชาวไร่ ชาวนา ในการปลูกผักผลไม้แต่ละพื้นที่ ทุกวันนี้ห้าง Chain Store ส่วนใหญ่จะได้มีแผนกสินค้าที่ผลิตหรือปลูกได้ในท้องถิ่น อาทิ มันฝรั่งที่ปลูกในมณฑล Ontario เนื้อสัตว์จากมณฑลอัลเบอร์ต้า เนื้อปลาจากมณฑลนิวฟันแลนด์

สินค้าอาหารจากไทย อาจจะความเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบท้องถิ่น สินค้าที่สนับสนุนแหล่ง Supply Chain ที่เป็นชาวไร่ ชาวนา แรงงานอย่างเป็นธรรม โดยการใช้เครื่องหมาย Fair Trade หรือการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงการสนับสนุนกิจกรรมของผู้ผลิตสินค้าไทยที่คืนกำไรให้กับสังคมในท้องถิ่นรวมทั้งเป็นสินค้าอาหารที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่แคนาดายอมรับ

3. อาหารธรรมดาที่มีคุณภาพสูง (Gourmet comfort foods)

ตามปรกติ ในแคนาดา ถ้าพูดถึงแฮมเบอเกอร์ มักกะโรนีและชีส หรือ Hotdog คงมีความหมายแค่สินค้าอาหารที่สุดแสนจะธรรมดา ที่ใครๆ ก็หาซื้อได้ง่ายทั่วไปทุกมุมถนน แต่ทุกวันนี้ สังคมของแคนาดากลายเป็นสังคมที่ปะปนหลายเชื้อชาติ (Multicultural Society) จากนโยบายการรับชาวต่างชาติไปตั้งถิ่นฐานในแคนาดาทำให้ผู้ผลิตได้มีการปรับเปลี่ยนสินค้าอาหารโดยนำสินค้าคุณภาพสูงของแต่ละเชื้อชาติมาผสมกลมกลืนกลายเป็นสินค้าอาหารธรรมดาที่มีคุณภาพสูงและสามารถหาได้ง่าย อาทิ แฮมเบอเกอร์เนื้อโกเบ ไก่งวงย่างแบบเทอริยากิ มักกะโรนีที่ใช้ชีส Cheddar และ pancetta หรือ Hotdog ที่มีการใส่ซอสวาซาบิ (Wasabi) หัวหอมและราดคาราเมล

สินค้าอาหารไทยควรมีการปรับเปลี่ยนในเจาะตลาดสินค้าใหม่ อาทิ สินค้า Ready To Eat ที่หลายเชื้อชาติสามารถรับประทานได้ ผัดไทยที่มีใส่เครื่องปรุงหรือส่วนผสมของชาติอื่น พิซซ่าหน้ากุ้งไทยผัดกระเพรา

4. อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Focus on health benefits)

ชาวแคนาดาจะนิยมสินค้าอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและความสวยงาม อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรและดอกไม้ที่กินได้ (edible flowers) ที่จะมีส่วนทำให้เกิดความผ่อนคลายและเสริมกลไกการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย อาหารที่มีส่วนเสริมผิวพรรณและเส้นผมที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุเหล็ก วิตามินซี แม็กนีเซียม น้ำมันจากอะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา

ผู้ผลิตสินค้าอาหารไทย อาจจะเน้นภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยที่มีคุณค่าของสารอาหารตามธรรมชาติที่จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพและความงาม หรือเพิ่มเติมสารอาหารธรรมชาติในสินค้าอาหารของไทยให้สอดคล้องกับความนิยมของชาวแคนาดา

5. อาหาร Ready to Eat ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น

ด้วยความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ทำให้อาหารประเภทที่ปรุงง่ายและรวดเร็วได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อาหาร Ready To Eat ในอดีตถูกมองว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ และ รสชาดไม่ดี ได้มีการพัฒนาและเพิ่มสารอาหารเพื่อให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น อาทิ ซุปไก่ข้นสำเร็จรูปที่มีการลดการใช้โซเดียม (เกลือ) และไม่มีผงชูรส ข้าวกล้องที่มีผักและปรุงสุกโดยใช้เตาไมโครเวฟ มันฝรั่งทอดแช่แข็งที่สดใหม่พร้อมรับประทาน ผักสลัดในกล่องอาหารสำเร็จรูป

6. อาหารที่ค้นหาได้จาก Social Media

ที่ผ่านมา บทความของนักเขียนด้านอาหารจะเป็นผู้จุดประกายในเรื่องการปรุงอาหารและการรับประทานอาหารของชาวแคนาดา แต่เมื่อสื่อสังคม (Social Media ) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวแคนาดามากขึ้นและมีอิทธิพลต่อการบริโภคสินค้าอาหารตามไปด้วย โดยชาวแคนาดาเริ่มนิยมการค้นหาข้อมูลจากสื่อสังคมเช่น blogs, Facebook, Twitter เพื่อมาประกอบการตัดสินใจในซื้อสินค้าอาหาร โดยจะค้นหาข้อมูลต่าง ๆ อาทิ แนวคิดเกี่ยวกับอาหารในแต่ละมื้อ ตำรับและวิธีปรุงอาหาร สารอาหารที่ควรจะรับประทาน ความคิดเห็นต่อสินค้า (Product Review) จากคนเคยใช้สินค้ามาก่อน

ผู้ส่งออกไทย น่าจะพิจารณาใช้ช่องทางของสื่อสังคมในการสื่อสารกับชาวแคนาดา เพื่อให้เข้าใจและรับรู้ว่า สินค้าอาหารไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ มีผลต่อความสวยงาม มีสารอาหารธรรมชาติปรุงง่าย เพื่อ Lead ผู้เข้าเยี่ยมชมเวบไซด์ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายการส่งออกสินค้าอาหารของไทย

7.อาหารที่มีรสชาดแปลกใหม่ (Unusual flavour pairings)

กระแสการนำเสนอรสชาดที่แปลกใหม่ๆ กำลังมาแรงในแคนาดา โดยการปรุงอาหารจะมีการใช้วัตถุดิบที่แตกต่างจากวัตถุดิบเดิม มีการใช้ ขิง ขมิ้น สมุนไพร ในการปรุงอาหารฝรั่งเพื่อให้ได้รสชาดอาหารที่แปลกใหม่ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีการใช้มาก่อน

สินค้าอาหารไทยควรมีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ การคิดค้นสูตรอาหารรสชาดใหม่ ๆ อาทิ อาหารที่มีกลิ่นของสมุนไพร การใช้สมุนไพรไทยหรือวัตถุดิบของไทยที่ผสมผสานกับสมุนไพรของชาวแคนาดาในสินค้าอาหารของไทย ซึ่งคงจะต้องมีการทดสอบตลาดเพื่อให้ได้สินค้าอาหารไทยรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแคนาดา

8. อาหารรูปแบบผสมผสานระหว่างมื้อ (Brunch)

การรับประทานอาหารที่ผสมผสานมื้อเช้ากับมื้อกลางวันที่เรียกว่า Brunch (อาหารมื้อก่อนอาหารกลางวัน) เริ่มเป็นที่นิยมในแคนาดา เนื่องจากวิถิชีวิตที่รีบเร่งและผู้คนห่วงในสุขภาพ รักสวยรักงาม ไม่อยากทานอาหารมื้อหนัก ๆ ซึ่งอาหารดังกล่าวจะเป็นอาหารประเภท Cocktail, แพนเค้กผลไม้ราดกระทิ, ปลาแซลมอนรมควัน ไข่ที่รับประทานกับพริก หรืออาหารที่ง่ายต่อการเตรียมปรุง

ผู้ส่งออกไทยควรหันให้ความสนใจกับสินค้าอาหาร Brunch ดังได้กล่าวมาแล้ว โดยอาจจะเป็นอาหารประเภทกึ่งพร้อมรับประทาน ที่ง่ายและสะดวกต่อการเตรียมปรุง อาทิ ไก่ปรุงสุกพร้อมรับประทานกับผักสลัดหรือ กุ้ง Cocktail เป็นต้น

9. อาหารว่างระหว่างวัน (Tapas)

อาหารประเภท Tapas เป็นอาหารว่างได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศสเปน โดยนิยมเสริฟ อาหารว่างระหว่างวัน ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือมื้อระหว่างการประชุม ซึ่งเหมือนกับ Finger food ที่ใช้มือรับประทานและมีการเตรียมเสริฟเป็นคำๆ อาทิ แฮมเบอเกอร์ขนาดเล็ก (mini-burger) สะเต๊ะ (Satay) ปอเปี๊ยะ (Spring Roll) เกี้ยว(dumplings)

สินค้าไทยที่จะตรงในกลุ่มตลาดนี้ได้แก่ อาหาร Ready to Eat ประเภทแช่เย็น/แช่แข็ง อาทิ ปอเปี้ยะแช่แข็งที่พร้อมนำไปทอด หรือ ไก่สะเต๊ะแช่แข็ง (ไก่ปรุงสุกแล้วพร้อมทาน โดยการอบหรือไมโครเวฟ) เป็นต้น

10.อาหารที่สามารถปรุงได้ที่บ้าน( Restaurant-quality kitchens)

ชาวแคนาดานิยมปรับปรุงตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนยกระดับเครื่องครัวในบ้าน อาทิ เตาแก๊ซ เตาอบ เครื่องอุปกรณ์ปรุงอาหาร ที่มีคุณภาพสมรรถภาพสูงเทียบเท่าอุปกรณ์ห้องครัวในภัตตาคาร(Restaurant Grade Appliance) หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแสดงว่าชาวแคนาดามีความ สนใจในการปรุงอาหารที่บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องมีการอบ ย่าง หรือ อาหารทอดน้ำมัน (ชาวแคนาดาส่วนใหญ่จะนิยมใช้เครื่อง Deep Fryer ในการทอดอาหาร อาทิ มันฝรั่งทอด หรือ ไก่ทอดเพื่อให้ได้อาหารที่มีสีสวย สุกทั่วกันมากกว่าการทอดในเตากะทะทั่วไป

ผู้ส่งออกไทยควรมีนำเสนอสินค้าอาหาร ประเภทที่พร้อมการปรุงอาหารที่บ้าน (Ready to Cook) โดยเป็นอาหารที่มีการจัดเตรียมวัตถุดิบไว้ครบถ้วนใน package เดียวกัน อาทิ สินค้า Ready to Cook ผัดไท ที่มีการเตรียมเส้นผัดไท ซอสผัดไท กุ้งแห้ง ฯลฯ ไว้ในถุงเดียวกัน ที่มีการระบุวิธีการปรุงอย่างชัดเจน และเข้าใจง่ายซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในแคนาดาเพิ่มขึ้น

นอกจากการจับทิศทางการบริโภคสินค้าอาหาร ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ส่งออกไทยยังจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของแคนาดา ที่บังคับใช้สำหรับสินค้าอาหารนำเข้า อาทิ มาตรฐานสินค้า การปิดฉลากสินค้า บรรจุภัณฑ์ สารต้องห้าม ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จาก หน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency (www.inspetion.gc.ca) และ Health Canada (www.hc-sc.gc.ca) รวมทั้งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้มีสินค้าใหม่ๆ ที่หลากหลาย การบริหารราคาและต้นทุนสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ การสร้างแบรนด์เนมสินค้า และชูภาพลักษณ์ของธุรกิจในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม (Corporate Social Responsibility)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ