แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจเขตคันไซปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 11:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์ เศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหาเงินฝืด หลังจาก ดัชนีผู้บริโภค (Consumer Price Index :CPI) ตกลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน ประกอบกับปัญหาค่าเงินเยนที่แข็งตัวต่อค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่ 84 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าแข็งค่าที่สุดในรอบ 14 ปี ด้วย 2 ปัจจัยนี้ จะยังฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในปี 2553

จากรายงานการสำรวจของสำนักงานรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ยังคงกังวลในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่แม้ว่าจะมีความหวังว่าสภาพการณ์ทั่วไปใน 6 เดือนข้างหน้าของปี 2553 เศรษฐกิจจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย อนึ่ง อัตราผู้ว่างงานของญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ขณะที่อัตราผู้ว่างงานในเขตคันไซปรับตัวขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบแรงงานในประเทศโดยรวม

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2553 ปัญหาเงินฝืดและเงินเยนแข็งยังเป็นปัญหาหลัก ซึ่งรัฐบาลต้องกำหนดมาตรการมาแก้ไขโดยเร็ว หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงก่อเป็นปัญหาซับซ้อนขึ้นอีก ปัจจัยทั้ง 2 ยังเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นตั้งความหวังไปที่ อุปสงค์ของประเทศกลุ่ม BRICs (Brazil Russia India China) ว่าจะสามารถชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่น้อยลง ซึ่งในเรื่องนี้นักวิชาการหลายคนได้แสดงความไม่สบายใจที่นายกรัฐมนตรีฮาชิโมโต จากพรรค DPJ ที่ห่วงแต่การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากเกินไปโดยการสร้างอุปสงค์ผู้บริโภค โดยละเลยไม่แก้ไขปัญหาเงินฝืดและการว่างงานเท่าที่ควร นอกจากนี้ ปลายปี 2552 รัฐบาลได้สั่งระงับโครงการที่ใช้เงินจำนวนมากของรัฐ ทำให้บริษัทก่อสร้างและผู้รับเหมารายย่อยจะได้รับผลกระทบในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเขตคันไซแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆของญี่ปุ่นแต่ ในปี 2553 บริษัทชาร์ป และพานาโซนิกส์ มีกำหนดจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่เน้นการผลิต TV Panel ในเขตคันไซ ซึ่งจะบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงานในภูมิภาคนี้ได้บ้าง

แนวโน้มของตลาด การที่สหรัฐฯเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจการเงินมาเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ความสำคัญของตลาดปรับตัวลดลง ตรงข้ามกับประเทศจีนซึ่งขนาดเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ทำให้ประเทศญี่ปุ่นหันมาสนใจตลาดจีนมากขึ้น นโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันจึงส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

ประธานสมาพันธ์ธุรกิจในเขตคันไซ Kankeiren ผลักดันให้ภาครัฐให้การสนับสนุน ท่าอากาศยานคันไซที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน และจำนวนผู้ใช้สนามบิน ซึ่งประธานสมาพันธ์ธุรกิจได้เปรียบเทียบกับท่าอากาศยานอินชอน (Incheon) ของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการต่างๆ ถูกกว่าท่าอากาศยานคันไซมาก เป็นการดึงดูดสายการบินต่างๆและบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติให้ไปลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ หากภาครัฐจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆให้กับท่าอากาศยานคันไซได้ ก็นับว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของท่าอากาศยานในตลาดภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น จึงคาดว่าในปี 2553 ท่าอากาศยานคันไซน่าจะมีจำนวนผู้โดยสารใช้งานมากขึ้นตามการผลักดันของ Kankeiren

นอกจากนั้นในปี 2553 รัฐบาลท้องถิ่นในเขตคันไซยังคงมีนโยบายผลักดันและให้การสนับสนุนธุรกิจกลุ่ม SMEs ในเขตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนแรงงานกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเขต โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งนอกจากจะเป็นฐานการผลิตยังเป็นตลาดใหม่ที่มีการเติบโตเร็วอีกด้วย

สถานการณ์การนำเข้าของสินค้าไทย การส่งออกสินค้าจากไทยมายังญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากการลงทุนในโครงการต่างๆของญี่ปุ่นในประเทศไทยเริ่มเดินสายการผลิตมากขึ้น และใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาค สคร.คาดการณ์ว่า สินค้าจากประเทศไทยน่าจะฟื้นตัวจากปี 2552 โดยเฉพาะสินค้าอาหารและอัญมณี

เหตุการณ์สำคัญอื่น ในปี 2553

ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2010 นี้ โดยเขตคันไซจะได้มีโอกาสจัดการประชุมในด้านพลังงานที่เมืองฟุกุอิ ด้านการท่องเที่ยวที่เมืองนารา ด้านการเงินที่เมืองเกียวโต

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ