สรุปภาวะการค้าระหว่างประเทศไทย - สเปน ปี 2553 (ม.ค.-ก.พ.)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 25, 2010 17:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-สเปน ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553

                            ก.พ. 2553                     ม.ค.-ก.พ. 2553
                    มูลค่า(Mil.US$)   เพิ่ม/ลด (%)     มูลค่า(Mil.US$)    เพิ่ม/ลด (%)
                                    จากเดือนก่อน                    ช่วงเดียวกันปีก่อน
          ส่งออก         82.37          +3.61          161.87           +36.25
          นำเข้า         39.26         +34.57           68.43           +32.88
          การค้ารวม     121.63         +11.93          230.31           +35.23
          ดุลการค้า      +43.11         -14.35          +93.44           +38.93
          ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสือสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ไทยกับสเปนมีมูลค่าการค้ารวม 121.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกไปสเปน 82.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.61 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาโดยมีหมวดสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+340.99%) เครื่องรับวิทยุ/โทรทัศน์และส่วนประกอบ (+8.61%) และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง(+158.54%) ขณะที่นำเข้าจากสเปนรวม 39.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึน( ร้อยละ 34.57 ทั้งนี้ไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก 43.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วงสองเดือนแรก ปี 2553 ไทย-สเปน มียอดการค้ารวม 230.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ่นร้อยละ 35.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยไทยมียอดส่งออกมาสเปนรวม 161.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.25 หมวดสินค้าหลักดังเดิมสามารถกลับมาขยายตัวในอัตราสูงได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+206.84%) ยางพารา (+275.39%) และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+391.85%) ขณะที่นำเข้าจากสเปน 68.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.88 ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากสเปนสะสม จำนวน 93.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่มขึ้นร้อยละ 38.93 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตารางแสดงโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังสเปน ช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2553

          หมวดสินค้า                  มูลค่า(Mil.US$)     เพิ่ม/ลด (%)จากปีก่อน       สัดส่วน (%)
สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม/ปศุสัตว์/ประมง)      33.0               +51.23              20.37
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร                    7.5               -17.10               4.61
สินค้าอุตสาหกรรม                          121.5               +37.99              75.03
สินค้าแร่และเชื้อเพลิง                         -                    -                   -
         รวม                           161.9               +36.25              100.0
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

จากโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังสเปน หมวดสินค้าอุตสาหกรรมยังครองส่วนแบ่งเป็นสินค้าส่งออกประมาณสามในสี่อันประกอบด้วยสินค้าหลักได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองลงมาได้แก่หมวดสินค้าเกษตรกรรมมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง โดยเฉพาะยางพารา และกุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง และลำดับสุดท้ายหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนัก และปรับตัวลดลงร้อยละ 17

ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังสเปน 10 อันดับแรก ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553

  ที่    สินค้า                          มูลค่า (Mil.USD)       สัดส่วน (%)        เปลี่ยนแปลง (%)
  1 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ            30.7              18.98              +206.84
  2 เสื้อผ้าสำเร็จรูป                         25.8              15.94               +17.91
  3 ยางพารา                              25.2              15.58              +275.39
  4 เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ          7.2               4.46              +279.20
  5 รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ              7.1               4.37              +391.85
  6 เลนส์                                  5.4               3.36               +23.31
  7 ผลิตภัณฑ์ยาง                             5.4               3.33               +14.14
  8 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป                    4.7               2.91               +34.01
  9 กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง                       4.3               2.64              +744.83
 10 เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ            3.9               2.43                -5.42
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่ผ่อนคลายลง ส่งผลให้สินค้าแทบทุกหมวดของไทยมีอัตราขยายตัวในอัตราเร่ง โดยเฉพาะสินค้าหลักดั้งเดิมของไทยในตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา และรถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ต่างมีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 200 จึงถือได้ว่าผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจและจับจ่ายใช้สอยแบบลดการรัดเข็มขัดลง ซึ่งสังเกตได้ชัดจากสินค้าประเภทคงทน อาทิเช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ฟ้า เป็นต้น เริ่มทำยอดขายได้ดีขึ้นหลังจากที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจระงับหรือเลื่อนเวลาการซื้อออกไปในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปนยังคงอยู่ในแดนลบ นอกจากนั้น ยังคงมีสภาพเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ยังไม่มีความแน่นอน

ในช่วงเดียวกันไทยนำเข้าสินค้าจากสเปน เป็นมูลค่า 68.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 32.88 โดยมีรายละเอียดการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุดดังนี้

ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปน 5 อันดับแรก ช่วง 2 เดือนแรก ปี 2553

    สินค้า                      มูลค่า (Mil.USD)       สัดส่วน (%)        เปลี่ยนแปลง (%)
เคมีภัณฑ์                           12.4               18.17             +98.17
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ            9.7               14.23              +1.87
ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม          7.1               10.36              +0.68
สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป         5.8                8.54           +5004.98
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์             3.5                5.13             +29.37
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสเปนได้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือผ่านจุดต่ำสุดของภาวะถดถอยและอยู่ระหว่างการฟื้นฟู แต่ทั้งนี้ ยังคงก้าวช้ากว่าประเทศเพื่อนร่วมกลุ่มอยู่หนึ่งก้าว เนื่องจากมีตัวชี้วัดบางตัวยังแตะไม่ถึงระดับต่ำสุดขณะที่ตัวชี้วัดส่วนใหญ่มีสภาพกระเตื้องขึ้นแล้วอย่างช้าๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่น การผลิตของอุตสาหกรรม อุปสงค์ของตลาด กำลังซื้อของผู้บริโภค และยอดค้าปลีก เป็นต้น นอกจากนั่น อัตราเงินเฟ้อทรี่เป็นตัววัดแนวโน้มความต้องการของตลาดก็แตะระดับต่ำสุดไปแล้ว เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ท่ามกลางข่าวดีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านตลาดแรงงานกลับไม่ดีไปด้วยอัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงก็ตาม ณ สิ้นปี 2552 มีคนว่างงานทั้งสิ้น 4.33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของแรงงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นถึง 1.2 ล้านคนภายใน 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะแตะระดับร้อยละ 20 ในปี 2553

อีกปัจจัยสำคัญของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองขณะนี้ คือ ดุลบัญชีใช้จ่ายของภาครัฐ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีทำได้ไม่ดีเนื่องจากทุกภาคส่วนมีรายได้ที่จะเสียภาษีลดต่ำลง ขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนที่ต้องจ่ายแก่ผู้ตกงานรวมทั้งเงินอัดฉีดตามมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้มีอัตราการขาดดุลงบประมาณสูงถึงร้อยละ 11.4 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้

แต่ในแง่ของตัวเลขหนี้สาธารณะ สเปน (ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP) ยังดูดีกว่าอีกหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐได้พยายามทุกวิถีทางที่จะพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติ โดยใช้มาตรการจำกัดค่าใช้จ่ายไปพร้อมๆ กับการขึ้นภาษี นอกจากนั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมารัฐบาลได้เสนอมาตรการรัดเข็มขัด รวมทั้งตัดค่าใช้จ่ายสาธารณะลง 5 หมื่นล้านยูโรภายใน 3 ปี และขยายเวลาอายุเกษียณของประชาชนออกไป ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะรักษาระดับการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกินร้อยละ 3 ภายในปี 2556 โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่กำลังฟื้นตัว

ในภาพรวมทางเศรษฐกิจแม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาความไม่สมดุลย์ที่ระบบเศรษฐกิจของสเปนสะสมมาอย่างยาวนานจนไม่สามารถจะกำจัดให้หมดสิ้นไปโดยง่าย แต่คาดหวังว่าอุปสงค์ในต่างประเทศที่ขยับสูงขึ้น ร่วมกับการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนที่ขยายตัว จะช่วยให้สเปนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ทั้งนี้จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยในปี 2553 คาดว่าสเปนจะยังคงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในแดนลบอีก -0.4

แนวโน้มการส่งออกของไทย

ในปี 2553 มูลค่าส่งออกสินค้าส่งหลักดั้งเดิมของไทยในตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยางพารา กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง ข้าว ยานพาหนะและส่วนประกอบ ในตลาดสเปนจะปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ผู้บริโภคยังคงยึดระดับราคาสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าต่อไป

สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหารและเครื่องนุ่งห่ม ก็ยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตลาดต่อไปได้ โดยเฉพาะกุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง รวมทั้งสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร แต่ทั้งนี้ต้องตระหนักถึงศักยภาพในการการแข่งขันท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงด้วย

ส่วนสินค้าที่มีลักษณะฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยทั่วไปยังคงขยายตัวได้ไม่ดีนัก แต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีแนวโน้มขยายตลาดได้ดี เนื่องจากผู้บริโภคหันมาหาความสุขจากการใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านมากขึ้นและเฝ้าติดตามการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร

หากไม่นับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเองด้วยกัน ในแง่ของสถานะคู่แข่งโดยทั่วไป จีนจะยังคงครองฐานะความเป็นหนึ$งของแหล่งการผลิตและการส่งออกต่อไป นอกจากข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตแล้วยังมีการพัฒนาระดับฝีมือและเทคโนโลยีขึ้นเป็นลำดับด้วย นอกจากนั้น อินเดีย เวียดนามอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และสามารถผลิตสินค้าประเภทเดียวกับไทยได้แทบทุกชนิด

โดย กิตตินันท์ ยิ่งเจริญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ