ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศกรีซ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2010 13:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่ภาวะเศรษฐกิจในยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีซ ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานฯ ณ นครอิสตันบูล เกิดวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ สำนักงานฯ อิสตันบูล จึงใคร่นำเรียนสถานการณ์ ดังนี้

1. วิกฤตการณ์ที่เป็นอยู่

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของกรีซ เกิดจากการขาดดุลภาครัฐ โดยประเทศมีหนี้สิน ประมาณ 2.94 แสนล้านยูโร หรือ 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ยอดขาดดุลการคลังนปี 2009 สูงถึง 12% ของGDP และ หนี้สาธารณะสูงถึง 112.6% ของ GDP จึงถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดเรตติ้งลงสู่ BBB+

2.ข้อมูลการค้าไทย-กรีซ

ในปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-กรีซ มีมูลค่า 240.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 34.7 อย่างไรก็ตามไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า

2.1 การส่งออกของไทยไปกรีซ มูลค่า 217.1 ล้านเหรียญฯ สินค้าศักยภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ อาหาร ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป เส้นด้ายและผ้าผืน เป็นต้น

2.2 การนำเข้าของไทยจากกรีซ มูลค่า 23.4 ล้านเหรียญฯ

3.ความเห็นของสำนักงานฯ

3.1 ผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดว่ามีผลค่อนข้างน้อยต่อไทยในกรณีความรุนแรงของวิกฤตการคลังจำกัดอยู่เพียงประเทศกรีซ มิได้ลุกลามไปยังประเทศยุโรปอื่น ๆ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปกรีซ มีสัดส่วนเพียง 0.1-0.2% ต่อการส่งออกรวมของไทย

3.2 จุดแข็งของประเทศกรีซ

  • ภูมิศาสตร์ประเทศสามารถพัฒนาเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศบอลข่านและทะเลดำได้ในอนาคต
  • หากเศรษฐกิจประเทศกระเตื้องขึ้น จะนำไปสู่การนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
  • มีความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ที่ดีกับไทยมาตลอด
  • กรีซมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และเดินเรือ สามารถประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันได้

3.3 ปัญหา/อุสรรค

  • จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กรีซต้องเผชิญอยู่ อาจใช้เวลาอีกหลายปีในการที่จะฟื้นตัวจากปัญหาดังกล่าว
  • กรีซเป็นแหล่งผลิตโดยได้รับแหล่งเงินทุนจากยุโรปตะวันตกจึงเป็นคู่แข่งไทย เนื่องจากมีโครงสร้างส่งออกคล้ายไทย เช่น สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเบา เช่น ใบยาสูบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นด้าย/ผ้าผืน เป็นต้น
  • ขาดคู่ค้าที่เหมาะสม ส่วนมากเป็นการตกลงธุรกิจรายย่อย ซึ่งมักมีปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างกัน
  • ความล่าช้าในระบบราชการของกรีซ
  • ตั้งอยู่ห่างจากตลาดหลักของ EU และแวดล้อมด้วยประเทศที่ยากจน

3.4 กิจกรรมที่ควรส่งเสริม เห็นควรเน้นยุทธศาสตร์เคาะประตูเพื่อนบ้าน

  • Out going mission สินค้าไลฟ์สไตล์, อาหาร, ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
  • เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่ง สำนักงานฯ จะได้ประสาน สอท.กรุงเอเธนส์ เพื่อขอทราบรายละเอียดของงานฯที่น่าสนใจต่อไป
  • เชิญชวนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่กรมฯ จัด โดยจะให้ความสำคัญเป็นแขก Ex2

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ