ดูไบจ่ายหนี้ก่อนกำหนด ..สร้างความเชื่อมั่นใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2010 15:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดการเงินโลกต้องสั่นคลอนและปั่นป่วนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 หลังจากที่รัฐบาลดูไบประกาศขอเลื่อนการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนของรัฐบาลดูไบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 แห่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ออกไป 6 เดือนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 และบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท Nakheel ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผู้สร้างโครงการ The Palm ที่มีพันธบัตรอิสลาม Sukuk มูลค่าประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธันวาคม และหนี้สินมูลค่า 980 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ขณะที่บริษัท Limitless บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครืออีกรายหนึ่งมีพันธบัตรมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 31 มีนาคม 2553

โดยหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากหนี้สินของ Dubai World รวมทั้งสิ้น 59,000 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นมูลค่าที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมดของรัฐดูไบรวม 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ เจ้าหนี้รายใหญ่ของมูลหนี้ดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารแห่งรัฐอาบูดาบี (National Bank of Abu Dhabi) และธนาคารกลางยูเออี (UAE Central Bank) Royal Bank of Scotland Group และ HSBC เป็นต้น เบ็ดเสร็จแล้วดูไบได้กู้เงินจากแหล่งเงินหลากหลายมากกว่า 70 แหล่ง มาเพื่อใช้ในการดำเนินการและพัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐ

ได้มีการประเมินคร่าวๆว่า หนี้สินทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชนในดูไบรวมแล้วมีประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ยากที่จะทำให้รัฐดูไบกลายเป็นประเทศที่ประชากรมีหนี้สินต่อหัวสูงที่สุดในโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจไม่เกิดอะไรขึ้นกับพัฒนาการของดูไบ หากไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในประเทศสหรัฐฯก่อนในช่วงปีที่ผ่านมา

เมื่อฟองสบู่ในสหรัฐฯแตกและลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้สภาพคล่องตกลงอย่างรวดเร็ว ดูไบเองมีน้ำมันเพียงเล็กน้อย จึงหาทางพยายามพัฒนาภาคธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมัน เช่น การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่ง GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศพึ่งพิงภาคบริการและการก่อสร้างมากกว่า 95% ซึ่งการพัฒนาภาคธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จดียิ่งในช่วงแรกๆ ต่อมาทำให้เกิดการ "พองตัว" ของความสำเร็จแต่ก็ทำให้เกิดหนี้ขนาดใหญ่ และการเพิ่มทุนสำหรับการพัฒนาฯอยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังหดตัว พอดี

ซึ่งหากเมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นลักษณะพิเศษที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤตดูไบนี้ก็คือ ภาวะตกต่ำของราคาอสังหาริมทรัพย์ และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามมาจนลุกลามกลายเป็นวิกฤตไปทั่วโลก คือ ภาวะวิกฤตสินเชื่อ ทั้งสองอย่างกระทบเข้าตรงใจกลางสิ่งที่ดูไบเป็นอยู่พอดิบพอดี แหล่งเงินกู้ของดูไบหายากเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ของตนลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และขายไม่ออก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นสิ่งที่สร้างความตระหนกตกใจแก่ตลาดโลก และทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินของดูไบ ซึ่งเป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุดรัฐหนึ่งของยูเออี และเป็นศูนย์กลางการค้าและธุรกิจที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของตะวันออกกลางแห่งนี้ต้องถดถอยลง จนทำให้ Moody’s Investors Service ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทของดูไบบางแห่งลงสู่สถานะต่ำกว่าระดับการลงทุน (Investment Grade) ส่วน Standard & Poor’s (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในดูไบบางแห่งลงอยู่เหนือสถานะ “ขยะ” (Junk) เพียงหนึ่งอันดับ

ผลกระทบนั้นลามไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตราสารหนี้ของรัฐบาลอื่นในประเทศข้างเคียง ทำให้ต้นทุนในการค้ำประกันการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ของรัฐบาลในประเทศแถบตะวันออกกลางเพิ่มสูงขึ้น นอกจาก Credit Default Swaps ของตราสารหนี้ของรัฐบาลดูไบ อายุ 5 ปี ได้ปรับเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวหรือจากระดับ 318 มาอยู่ที่ 688 ส่วนราคาพันธบัตรของ Nakheel ปรับต้องตัวลงมา ส่งผลทำให้ Credit Default Swaps ของรัฐอาบูดาบี ซาอุดิอาระเบีย และกาตาร์ สูงขึ้นเช่นกัน แต่ขนาดรุนแรงน้อยกว่าที่สำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยังได้สร้างความวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดกระแสผิดนัดชำระหนี้ลุกลามไปสู่ระบบการเงินโลก โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

กรณีวิกฤตหนี้และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของดูไบที่เกิดขึ้น หลายประเทศสามารถใช้เป็นกรณีศึกษา เพราะหนี้ของ Dubai World คือจุดเริ่มต้นของความกังวลแม้จะเป็นกรณีเล็กๆ แต่ได้เริ่มสะท้อนถึงอาการไข้ไม่หายขาดในตลาดการเงินของโลก ซึ่งอาจยังคงมีซุกซ่อนอยู่ในหลายๆประเทศ และการคาดเดานั้นก็เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น นับแต่กรณีประเทศกรีซที่เดินรอยตามการเกิดปัญหาหลังกรณีดูไบ รายต่อมาที่แสดงอาการคือประเทศสเปนที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจวิกฤติที่นับวันรุนแรงมากขึ้นและมีโอกาสที่จะลุกลามต่อเนื่อง

รัฐดูไบนั้นเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดของยูเออีและภูมิภาคตะวันออกกลาง รัฐดูไบมีมูลค่าจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 32 ของจีดีพีของทั้งประเทศ นับว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากรัฐอาบูดาบี ที่มีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 57 ของจีดีพี และเศรษฐกิจของทั้งสองรัฐรวมกันมีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐอาบูดาบีมีน้ำมันดิบเป็นทรัพยากรสร้างความร่ำรวยมั่งคั่ง ในขณะที่มียุทธศาสตร์การลงทุนที่ค่อนข้างเป็นแบบอนุรักษ์นิยมกว่าดูไบ ความเสี่ยงของผลกระทบจากฟองสบู่แตกของภาคอสังหาริมทรัพย์ของดูไบ จะลุกลามไปกระทบกับเศรษฐกิจทั้งประเทศจึงน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด อย่างไรก็ดี การที่อาบูดาบี เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินที่สำคัญของดูไบ ย่อมจะส่งผลให้สถาบันการเงินของอาบูดาบีได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2553 รัฐอาบูดาบีเมืองหลวงที่ร่ำรวยน้ำมันเอง ก็ให้ความช่วยเหลือดูไบแบบ "จำกัด " โดยตัดสินใจอัดฉีดเงินจำนวน 10 Billion หรือ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ เพื่อช่วยเหลือบริษัทดูไบเวิลด์แก้ไขปัญหาในระยะแรกไปก่อน อีกทั้งต่อเวลาให้บริษัทดูไบเวิลด์สามารถปรับโครงสร้างทางการเงิน และเป็นสัญญานที่แสดงให้เห็นว่าทางการของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะไม่ปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างดูไบเวิลด์ล้มละลาย เพราะในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อรัฐอาบูดาบีด้วย อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการณ์นักลงทุนท้องถิ่นและจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ถึงกระนั้นความเห็นของนักวิเคราะห์ตลาดส่วนใหญ่เชื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐดูไบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างคงยังชลอตัวไปก่อนจนถึงปี 2554

หลังจากนั้น เชค โมฮัมหมัด บิน ราชิต อัล มัคตูม (Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) รองประธานาธิบดี/นายกรัฐมนตรีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และผู้ครองรัฐดูไบ ได้ประกาศอนุมัติงบประมาณ 9.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับปีงบประมาณ 2553 ถือเป็นงบประมาณขาดดุลร?อยละ 2 เพื่อภาครัฐต้องการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องของเศรษฐกิจในปี 2553 ให้ขับเคลื่อนได้ต่อไป โดยหวังว่าในปี 2553 นี้ รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม(ภาษี)ประมาณ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มีรายจ่าย 9.66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การขาดดุลทางการคลังของแผ่นดินเป็นมูลค่า 1.6 พันล้านเหรีญสหรัฐ แต่ยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่กำหนดไว้ว่าไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP หรือที่มีงบประมาณแบบขาดดุลอยู่เพียงร้อยละ 2 ของ GDP เท่านั้น

แผนแก้ปัญหาหนี้สินดูไบเวิลด์

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2553 Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum, the chairman of the Dubai Supreme Fiscal Committee : DFSF ประธานคณะกรรมการคลังสูงสุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แถลงข่าวว่ารัฐบาลดูไบจะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ดูไบ เวิลด์ และบริษัทในเครือด้วยการอัดฉีดงบให้ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะหารือรายละเอียดของข้อเสนอนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ ส่วนกระบวนการปรับโครงสร้างนั้น คาดว่าจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่จะดำเนินการได้ ขณะที่กระบวนการทางศาลก็ยังคงมีอยู่เพื่อคุ้มครองบริษัท เจ้าหนี้ และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ

กลุ่มดูไบเวิลด์ได้ออกมาแจ้งกับเจ้าหนี้ที่บริษัทค้างชำระอยู่รวมประมาณ 14,200 ล้านดอลลาร์ จะได้รับชำระเงินต้นคืนเต็มจำนวน โดยขอจ่ายเป็นตราสารหนี้ก้อนใหม่ 2 ก้อนที่จะมีอายุไถ่ถอน 5 ปี และ 8 ปี ตามลำดับ ส่วนบริษัทนาคีล รัฐบาลดูไบก็จะอัดฉีดเงินทุนใหม่ 8,000 ล้านดอลลาร์ และจะแปลงสิทธิที่มีอยู่ในบริษัทนาคีลให้เป็นหุ้น ส่งผลให้รัฐบาลเข้าเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างแห่งนี้อย่างสมบูรณ์แทนที่ดูไบเวิลด์ แล้วจะรับภาระจ่ายคืนพันธบัตรอิสลาม SUKOK ที่ครบกำหนดในปีนี้และปีหน้า ขณะธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ ก็จะจ่ายคืนเงินต้นให้เต็มพร้อมดอกเบี้ย สำหรับเจ้าหนี้รายย่อยอาจจะได้รับเงินสดประมาณ หนึ่งแสนห้าหมื่นเหรียญ

เป้าหมายที่ให้การสนับสนุนทางการเงินครั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่า ดูไบเวิลด์ และบริษัทนาคีล ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งในอนาคต

มีการวิพากษ์วิจารณ์กับเงินที่ดูไบได้รับการอัดฉีดจากอาบูดาบีว่า นอกจากที่ดูไบต้องขายตึกสูงที่สุดในโลก และได้ประกาศเปลี่ยนชื่อจาก Burj Dubai เป็น Burj Khalifa (ชื่อของ Sheikh Khalifa เจ้าครองกรุงอาบูดาบีและประนาธิบดียูเออี /Burj หมายถึงตึก) ในวันที่เปิดตึกอย่างเป็นทางการให้กับอาบูดาบีแล้ว สายการบินเอมิเรตส์ เกาะปาล์ม อาจจะเป็นสินค้าต่อไปที่จะถูกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ที่บางส่วนยังคาดว่ายังซุกซ่อนไว้และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง $100 Billion US

เศรษฐกิจปี 2553

นักเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคตะวันออกกลางได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจยูเออีของปี 2553 ว่าจะไม่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ซึ่งก่อนเหตุการดูไบเวิร์ดนั้นเดิมได้คาดการณ์ไว้จะขยายตัว 3.5% โดยคาดการณ์ไว้ว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกประมาณวันละ 1 ล้านบาเรล ประมาณไว้บนฐานของราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปี 2553 อยู่ที่ราคาบาเรลละ 75 เหรียญสหรัฐฯ

ความสนใจของยูเออีในปี 2553 นี้ น่าจะมุ่งไปที่ความเปราะบางอื่นๆ ของการฟื้นตัวในระบบการเงิน จนนักเศรษฐศาสตร์บางรายถึงกับกล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเงินของโลกกำลังจะถูกทดสอบอีกครั้ง ถึงแม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2553 จะอยู่ที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆยุติลง โดยเอเชียจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้าและค่อนข้างต่ำกว่าระดับก่อนหน้าเกิดสถานการณ์วิกฤติ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและภูมิภาคสกุลเงินยุโรปอาจจะมีการเติบโตอยู่ในระดับ 1.5 เปอร์เซ็นต์ 1.7 เปอร์เซ็นต์ และ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนในภูมิภาคเอเชียคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะเติบโต 9 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจอินเดียอาจจะเติบโต 6.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553

  • การเงิน

จากที่ตลาดหุ้นของยูเออีตกหนักจะทำให้ UAE Dirham เสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจึงทำให้ค่าเงิน UAE Dirham จะแข็งกว่าความเป็นจริง ยูเออีจะสามารถปกป้องพยุงค่าเงิน UAE Dirham อยู่ได้แค่ไหน รวมทั้งจากที่ค่าเงิน US$ และ Dirham ทั้ง 2 สกุลนี้ยังผูกค่าไว้ด้วยกัน เมื่อ US$ แข็งหรืออ่อนค่า Dirham ก็จะแข็งและอ่อนค่าในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกิดกับ UAE ขณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามว่ายูเออีจะปกป้องค่าเงิน UAE Dirham ได้แค่ไหน และกลุ่มประเทศอ่าวความร่วมมืออาหรับหรือ GCC เองก็พยายามผลักดันการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบเงินสกุลเดียวกัน การใช้นโยบายการเงินและการคลังในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการแลกเปลี่ยน (Transaction cost) และสามารถเกื้อหนุนให้ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินการคลังของมีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

  • ภาคอสังหาริมทรัพย์

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีภาพลบในด้านราคาลดลงมาโดยตลอด แต่ก็มีข่าวดีสวนกระแสอยู่ข่าวหนึ่ง ก็คือ ผลสรุปของการศึกษาโดยความร่วมมือกับหน่วยงานด้านอสังหาริมทรัพย์นานาชาติพบว่า ภาคที่อยู่อาศัยโดยรวมในดูไบ มีราคาเพิ่มขึ้น 0.7% ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2552 แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์อื่นยังมีราคาตกต่ำลงเป็นอย่างมาก ทำให้ดัชนีราคาโดยรวมยังตกต่ำลงอีก 17% และเชื่อว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะยังตกต่ำต่อไปจนถึงจุดต่ำสุดในกลางปี 2553 นี้ และสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในปี 2554 อย่างไรก็ตามสำหรับกรุงอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมีสำนักที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์อีกแห่งหนึ่งคาดการณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2555

ผลการศึกษาทั้งสองอาจค้านกันบ้างเพราะดูไบนั้นมีการพัฒนาขนาดใหญ่กว่า มีความเสียหายมากกว่า จึงไม่น่าจะฟื้นตัวได้ก่อน อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสำคัญของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในดูไบก็คือราคาตกต่ำลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โครงการซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างก็หยุดสร้างหรือสร้างช้าลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนโครงการที่คาดว่าจะเปิดตัวใหม่เพื่อจะมาเสริมทัพในตลาด ก็แทบจะหมดสิทธิ์เกิดขึ้นในขณะนี้

ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองในแง่ดีว่า ยังจะมีผู้มาซื้อต่อในราคาถูกอย่างต่อเนื่อง เช่นในขณะนี้ มีข่าวว่ามีนักลงทุนรายใหญ่ๆ จากประเทศจีนหวังมาซื้อของถูกกันเป็นจำนวนมาก เพราะคิดว่าอย่างไรก็ตามรัฐดูไบจะยังคงจะเติบโตต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นระบบสาธารณูปโภคในดูไบได้รับการพัฒนาไว้อย่างดี จะเป็นเสมือนกระดูกสันหลังสำคัญที่ทำให้การลงทุนของต่างชาติที่หวังมาซื้อของถูกในขณะนี้ ได้ลงทุนได้อย่างมั่นใจ แต่ถ้าหากว่าสาธารณูปโภคในโครงการบ้านเดี่ยว หรืออาคารชุดที่มีผู้เข้าอยู่อาศ้ยไม่เพียงพอนั้นไม่สามารถเก็บค่าบำรุงรักษาส่วนกลางได้เพียงพอแล้วและไม่ได้รับการบำรุงรักษาที่ดีก็จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินหดหายไป

  • ความเชื่อมันของผู้บริโภคในประเทศ

การแถลงข่าวชำระหนี้ก่อนกำหนดของบรษัท Dubai World และจ่ายหนี้ของบริษัท Nakheel กับ SUKOK นั้น ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจนักลงทุนในดูไบได้ในระดับหนึ่ง สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมีเงินสะพัดหมุนเวียนในตลาด ผู้ซื้อบ้านที่อยู่อาศัยจะจ่ายงวดสุดท้ายเพื่อรับบ้าน บริษัทก่อสร้างจะได้รับเงินใช้หมุนเวียนดำเนินธุรกิจ

หลังจากที่ข่าวพักชำระหนี้หรือวิกฤตดูไบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาส่งผลให้คนงานต่างชาติจำนวนมาก เกือบทั้งหมดมาจากเอเชียใต้ จากฟิลิปปินส์ อยู่ในสภาวะลำบาก เพราะบริษัทจำนวนมากพากันปิดกิจการ หรือไม่ก็ลดรายจ่าย ส่วนนักลงทุนและคนต่างชาติจำนวนมากที่หวังจะมีบ้านที่สองในดูไบก็กำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโดฯ ฯลฯ เช่นกัน ธนาคารงดให้สินเชื่อนักธุรกิจ ผู้คนลดการใช้จ่ายลง

สรุป

หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะขยายตัวได้ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ถือได้ว่าเศรษฐกิจยังตกอยู่ในความเสี่ยง ที่รัฐบาลทั่วโลกจะวางใจไม่ได้ การค้าค้าระหว่างไทยกับยูเออีปี 2553 สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ ประมาณไว้ที่มูลค่า 2,402 ล้านเหรียญหรือขยายตัวลดลง -14% กลุ่มสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบคู่แข่ง ได้แก่ อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์

โอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยในยูเออี

1. หลังจากที่รัฐบาลดูไบประกาศช่วยบริษัท Dubai World เพื่อชำระหนี้บางส่วนก่อนกำหนด สามารสร้างความน่าเชื่อถือของดูไบเพิ่มขึ้น คาดว่าต่อไปนี้ธุรกิจการค้าของดูไบจะกลับไปแบบอนุรักษ์ โดยกลับมาเน้นการค้าที่ดูไบมีจุดแข็งในเรื่องการเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การท่องเที่ยว การเงิน/การธนาคาร ดังจะเห็นได้ว่านักธุรกิจส่วนใหญ่ นั้นกลับมานำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกต่อมากขึ้น แทนการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทย ประเภทของใช้ที่จำเป็นสำหรับปัจจัย 4 อาทิ อาหาร เสื้อผ้าเครื่องหนัง การรักษาพยาบาล ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบอยู่แล้ว

2. จากเหตุการณ์ดูไบเวิล์ดทำให้นักลงทุน/นักธุรกิจที่ดูไบยูเออีส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจต่ออนาคตของธุรกิจตนเอง โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างครบกำหนด ส่งผลทางจิตวิทยาให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อาทิ รถยนต์ Toyoto, Honda, Nissan ลดกำลังการส่งออกไปยังตลาดยูเออี ซึ่งรวมถึงอะไหล่ยานยนต์ด้วย ในจุดนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของสินค้าไทย ทั้งสามารถเจาะตลาดด้วยการแทรกส่วนแบ่งตลาดได้ นอกจากสินค้าอะไหล่รถยนต์แล้ว ก็มีสินค้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเลคโทรนิส์เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ