กฎระเบียบสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2010 16:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎระเบียบการนำเข้า

การนำเข้ารองเท้าและเครื่องหนัง ต้องอยู่ภายใต้ Customs Tariff Law ที่ห้ามการนำเข้าสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า สิทธิด้านการออกแบบ และสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการลอกเลียนตามแบบสินค้าที่มียี่ห้อ (Brand-name goods) และต้องไม่ขัดต่อข้อตกลง The Washington Convention (CITES : Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่าบางชนิด

ในส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าในญี่ปุ่นได้รับการปกปอ้ งมายาวนาน มีการกำหนดโควตานำเข้า หลังจากความตกลง WTO มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2538 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนโควตานำเข้ามาเป็นระบบโควตาภาษี (Tariff Quota )

ภาษีนำเข้ารองเท้าและเครื่องหนังของญี่ปุ่น

ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2550 ญี่ปุ่นจะทยอยลดภาษีรองเท้าและเครื่องหนังให้แก่ไทย จากอัตราภาษีระหว่างร้อยละ 2.7-30 โดยจะทยอยลดภาษีรองเท้าและเครื่องหนังแก่ไทยภายใน 7-10 ปี และได้ยกเลิกโควตาภาษีสำหรับรองเท้าหนังให้แก่ไทยด้วย โดยญี่ปุ่นได้ลดภาษีนำเข้าให้แก่ไทย ดังนี้

รองเท้า

  • รองเท้ากันน้ำที่มีพื้นรองเท้าด้านนอกและส่วนบนของรองเท้า ทำด้วยยาง/พลาสติก(HS6401) มีอัตราภาษีระหว่าง 3.4-4% ในปีปัจจุบัน (ปีงบประมาณ เมษายน 2553—มีนาคม 2554) และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • รองเท้าอื่นๆที่มีพื้นรองเท้าด้านนอกและส่วนบนของรองเท้า ทำด้วยยาง/พลาสติก (HS6402) มีอัตราภาษีระหว่าง 3.4-4% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • รองเท้าที่พื้นรองเท้าด้านนอกทำด้วยยาง/พลาสติก/หนังฟอก/หนังอัด และส่วนบนของรองเท้าทำด้วยหนังฟอก (HS6403) มีอัตราภาษีระหว่าง 13.7-15.3% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560
  • รองเท้าที่พื้นรองเท้าด้านนอกทำด้วยยาง/พลาสติก/หนังฟอก/หนังอัด และส่วนบนของรองเท้าทำด้วยวัตถุทอ (HS6404) มีอัตราภาษีระหว่าง 3.4-15.3% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 และเดือนเมษายน 2560
  • รองเท้าอื่นๆ (HS6405) มีอัตราภาษีระหว่าง 1.7-15.3% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 และเดือนเมษายน 2560
  • ส่วนประกอบของรองเท้า พื้นด้านในที่ถอดออกได้ เบาะรองส้นและของที่คล้ายกัน รวมทั้งสนับแข้ง เครื่องหุ้มขาและของที่คล้ายกัน และส่วนประกอบของของดังกล่าว (HS6406) มีอัตราภาษี 1.7% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • สินค้าที่ไม่นำมาลดภาษี ได้แก่
  • รองเท้าสกี มีอัตราภาษีสำหรับประเทศสมาชิก WTO 27%
  • รองเท้ายิมนาสติก มีอัตราภาษีสำหรับประเทศสมาชิก WTO ระหว่าง 27-30%
  • รองเท้าที่ใช้ในบ้าน (slipper) มีอัตราภาษีสำหรับประเทศสมาชิก WTO 30%
  • รองเท้าอื่นๆบางส่วน มีอัตราภาษีสำหรับประเทศสมาชิก WTO ระหว่าง 10-30%
  • ส่วนประกอบของรองเท้าบางชนิด มีอัตราภาษีสำหรับประเทศสมาชิก WTO 25%
  • สินค้าที่ยกเลิกโควตา ได้แก่ รองเท้าหนัง ที่พื้นรองเท้าด้านนอกทำด้วยยาง/พลาสติก/หนังฟอก/หนังอัด และส่วนบนเป็นวัตถุทอบางส่วน และรองเท้าอื่นๆบางส่วน

เครื่องหนัง

  • เครื่องอานและเครื่องเทียมลากสำหรับสัตว์ทุกชนิด ที่ทำด้วยหนัง (HS4201) มีอัตราภาษี 0.5% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าสำหรับใส่สิ่งของต่างๆ และภาชนะชนิดอื่นๆที่คล้ายกันที่ทำด้วยหนัง (HS4202) มีอัตราภาษีระหว่าง 0.3-6.4% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย ที่ทำด้วยหนังฟอก/หนังอัด(HS4203) มีอัตราภาษีระหว่าง 5-8% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • ของที่ทำด้วยหนังฟอก/หนังอัด ชนิดที่ใช้ในเครื่องจักรหรือในเครื่องกล หรือเพื่อใช้ทางเทคนิคอย่างอื่น (HS4204) มีอัตราภาษีระหว่าง 0.3-1.8% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • ของอื่นๆ ที่ทำด้วยหนังฟอก/หนังอัด (HS4205) มีอัตราภาษี 3% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • ของทำด้วยไส้สัตว์ (นอกจากไส้ตัวไหม) กระพุ้งลำไส้ใหญ่ ถุงกระเพาะ หรือทำด้วยเอ็นสัตว์ (HS4206) มีอัตราภาษี 0.3% ในปีปัจจุบัน และจะลดให้เป็น 0 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557
  • สินค้าที่ไม่นำมาลดภาษี ได้แก่ เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกายบางชนิด มีอัตราภาษีสำหรับประเทศสมาชิก WTO ระหว่าง10-12.5%

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ