BRIICS ตลาดใหม่ที่ญี่ปุ่นจับตามอง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 20, 2010 16:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เราคุ้นเคยกับคำว่า BRICs ซึ่งหมายถึง 4 ประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจของโลก ประกอบด้วย บราซิล รัสเชีย อินเดีย และจีน ที่ต่างก็ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็น emerging market ที่ถูกจับตามองมานานกว่าทศวรรษในฐานะเป็นตลาดที่กำลังเติบโต และเป็นที่หมายตาจากนักลงทุนทั้งหลาย ขณะเดียวกันการขยายตัวของการค้าและการเปิดตลาดยังทำให้มีประเทศใหม่ๆ เติบโตและเปล่งแสงเป็นดาวรุ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ และเข้าไปขยายฐานการค้า การลงทุนใน BRICs มานานแล้ว และยังมองกว้างขึ้นไปอีกว่า ดาวดวงใหม่ที่ไม่ควรมองข้าม คือ อินโดนีเชีย และอัฟริกาใต้ Emerging market ในมุมมองของญี่ปุ่นจึงเพิ่มจาก BRICs 4 ประเทศ เป็น BRIICS 6 ประเทศ เรียงตามตัวอักษร ได้แก่ บราซิล รัสเชีย อินเดีย อินโดนีเชีย จีน และอัฟริกาใต้ ซึ่งมีลักษระเด่น คือ ประชากรจำนวนมากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง ปิโตรเลียม และโลหะที่โลกต้องการมูลค่ามหาศาล และเป็นตลาดที่กำลังเติบโต

จากข้อมูลปี 2549 กลุ่ม BRIICS 6 ประเทศมีประชากรรวม 3 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากรโลก GDP รวมกันมูลค่า 6.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 13 ของ GDPโลก มีมูลค่าการค้าสินค้าและบริการมูลค่า 3.57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 12 ของโลก ทั้ง 6 ประเทศนี้ ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) มูลค่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออยู่ที่ร้อยละ 11 ของโลก เฉพาะ อินโดนีเชียประเทศเดียว มีประชากร 230 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ในปี 2552 GDP ของอินโดนีเชียขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง และยังเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง นิเกิล นอกจากนี้ ยังค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ที่ตั้งไว้อัตราร้อยละ 7 ต่อปี ทำให้อินโดนีเชียเป็นที่จับตามองของนักลงทุน

ส่วนอัฟริกาใต้ มีประชากร 49 ล้านคน (เท่าๆ กับเกาหลีใต้) และมีขนาด GDP ใหญ่ที่สุดของทั้งทวีป หรือมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของทวีปอัฟริกา มีทรัพยากรมากมาย ล้วนมีมูลค่าสูง เช่น ทอง เพชร แพลตินัม รวมถึงโลหะหายาก เช่น Chrome และ Vanadium กำลังจะเป็นเจ้าภาพแข่งขันฟุตบอล World Cup ในปี 2553 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ ไว้ ร้อยละ 2 จึงได้ชื่อว่าเป็นอนาคตของภูมิภาคนี้

ญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่ารัสเซีย หนึ่งในกลุ่ม BRICs ขณะนี้ เริ่มค่อยๆ อัปแสงลงอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจรัสเชียถดถอยและมีค่าเป็นลบถึง ร้อยละ 8 ในปี 2552 ขณะเดียวกันก็มีดาวดวงใหม่ๆ จรัสแสงขึ้นในฐานะ emerging economy หรือตลาดใหม่ที่ญี่ปุ่นจับตามองอย่างใกล้ชิด เช่น

  • NEXT 11 (N 11) ซึ่ง Goldman Sachs Group Inc ธนาคารเพื่อการลงทุนของสหรัฐฯตั้งชื่อให้เมื่อปี 2538 ว่าเป็นกลุ่มที่คุ้มค่าแก่การลงทุน เพราะมีศักยภาพสูงทางเศรษฐกิจ การเมืองมีเสถียรภาพ และประชากรอยู่ในช่วงขยายตัว กลุ่มนี้ประกอบด้วย อินโดนีเชีย บังคลาเทศ อิหร่าน ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย อิยิปต์ปากีสถาน เวียดนาม ตุรกี เม็กซิโก และเกาหลีใต้
  • JFIC16 (JETRO File Increasing-Interest Countries ) ซึ่ง JETRO (Japan External Trade Organization) วิเคราะห์และระบุเมื่อปี 2551 ว่า มีศักยภาพต่อการค้า การลงทุน โดยใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักๆ เช่น มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่อปี อยู่ที่ 500เหรียญสหรัฐฯหรือสูงกว่า และรัฐบาลเหล่านั้นใช้ความพยายามที่จะกระตุ้นให้ต่างชาตเข้าไปลงทุน ขณะนี้ JETRO ได้เริ่มจัดทำข้อมูลพื้นฐานใส่เข้าไปในเวปไซด์เพื่อให้บริษัทที่สนใจเข้าไปศึกษาข้อมูล กลุ่ม JFIC 16 นี้กระจายอยู่ในหลายทวีป ได้แก่ เอเชีย มีเวียดนาม ไทยและปากีสถาน ตะวันออกกลาง ประกอบด้วยตุรกี สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และซาอุดิอารเบีย ในลาตินอเมริกา ได้แก่ เม็กซิโก เวเนซูเอลา เปรู และอาร์เจนตินา ประเทศโปแลนด์ โรมาเนีย ฮังการี ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ประเทศอัฟริกาใต้ อิยิปต์ และไนจีเรีย ในทวีปอัฟริกา

ญี่ปุ่นพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเพียงร้อยละ 16 ของ GDP และใช้นโยบายการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเป็นทั้งแหล่งผลิตสินค้าป้อนตลาดในประเทศและเป็นตลาดสำหรับส่งออกสินค้าเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่น เครื่องจักร ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมกึ่งสำเร็จรูป ผลกำไรจากการลงทุนจึงเป็นรายได้หลักเข้าประเทศเป็นกอบกำ และสูงกว่าผลกำไรจากการค้า ปัจจุบันตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นค่อยๆ หดตัวลง เพราะจำนวนคนเกิดใหม่ลดลง และผู้สูงอายุซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการบริโภคจึงลดน้อยลงตามอายุขัยและขนาดตลาดที่เล็กลงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผลิตสินค้าป้อนตลาดในประเทศ และเคยอยู่ได้ ก็จำเป็นต้องดิ้นรนนำเข้าสินค้าหรือชิ้นส่วนเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งออกไปลงทุนขยายตลาดในต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศชัดเจนว่าให้ความสำคัญต่ออาเซียน และจะดำเนินการเพื่อสนับสนุนความร่วมมือของอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community : AEC) แต่อาเซียนก็เป็นที่จับตามองและเป็นเป้าหมายของคู่ค้าอื่นๆ โดยเฉพาะคู่แข่งขันยักษ์ใหญ่เช่นจีน ญี่ปุ่นจึงต้องมองหาคู่ค้าและกระจายฐานการค้าของตนให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เห็นได้จากญี่ปุ่นพยายามเข้าไปวางฐานในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่อุดมด้วยทรัพยากร และความต้องการซื้อกำลังเติบโต เช่น BRIICS, BRICs, N-11, G-20 members และ JFIC16 เป็นต้น ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไปคาดว่าจะเน้นสินค้า mass products เพื่อการครองชีพ มากขึ้นด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ