สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกนขอรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยกับเดนมาร์ก ในปี 2552 และในระยะ 3 เดือนแรก ของปี 2553 (มกราคม-มีนาคม) ดังต่อไปนี้
มูลค่า ม.ค.—ธ.ค. ม.ค.—มี.ค ม.ค.—มี.ค % เพิ่ม/ลด ปี 2552 ปี 2552 ปี 2553 การค้ารวม 721.0 163.80 197.0 20.25 การส่งออก 518.8 112.70 141.0 25.10 การนำเข้า 202.2 51.13 56.0 9.56 ดุลการค้า 316.6 61.58 84.9 37.86
1.1 ในรอบ 3 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าประเทศไทยกับเดนมาร์กมี
มูลค่ารวม ทั้งสิ้น 197.02 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันที่มีมูลค่า 163.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.25 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปยังเดนมาร์กมูลค่า 141.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่ส่งออกมูลค่า 112.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.10 และเป็นการนำเข้าจากเดนมาร์กมูลค่า 56.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่นำเข้ามูลค่า 51.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.56 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ารวมทั้งสิ้นมูลค่า 84.9 เทียบกับปี 2552 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้า 61.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
1.2 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่
(1) อัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 49.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.34
(2) รองเท้าและชิ้นส่วน 28.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.94
(3) แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงร้อยละ 5.9
(4) เสื้อผ้าสำเร็จรูป 4.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.4
(5) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.92
(6) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 2.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.18
(7) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.16
(8) วงจรพิมพ์ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6
(9) เครื่องใช้ไฟฟ้า 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.8
(10) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน 2.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9
1.3 สินค้าที่ไทยที่นำเข้าสำคัญจากเดนมาร์กที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่
(1) ผลิตภัณฑ์เวชกรรม 10.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.67
(2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 5.4ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.1
(3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.7
(4) เคมีภัณฑ์ 4.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.6
(5) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 881.3
(6) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 3.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 195.6
(7) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 79.8
(8) ผลิตภัณท์จากพลาสติก 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 36.8
(9) แผงวงจรไฟฟ้า 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.68
(10) เครื่องมือเครื่องใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.3
1.4 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและบ้านเรือนเป็นต้น
1.5 สินค้าที่สำคัญเดนมาร์กนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด แผนวงจรไฟฟ้า นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
2.1 อุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของเดนมาร์กคือสินค้าเกษตรประเภทเนื้อโค สุกร นม เนย และผลิตภัณฑ์ สินค้าเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมเดินเรือ โดยเฉพาะในแถบตลาดเอเชีย ซึ่งบริษัท Maersk ครองตลาดอยู่ ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการเหล่านี้มีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจไม่มากนัก การส่งออกของเดนมาร์กจึงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงไม่มาก
2.2 เศรษฐกิจเดนมาร์ก ได้เริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552 โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำได้ช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเดนมาร์กค่อยๆกระเตื้องขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่าการฟื้นตัวนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องจากค่าแรงที่สูง การขาดดุลงบประมาณของเดนมาร์กประมาณร้อยละ 5.5 ของ GDP และปัญหาการเงินของกลุ่มประเทศ PIIGS ซึ่งอาจกระทบมายังประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปรวมทั้งเดนมาร์ก อย่างไรก็ตามในไตรมาสแรกของปี2553 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเดนมาร์กยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และคาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตทั้งปีประมาณร้อยละ 1.7 มีการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และ 2.6 ตามลำดับ
2.3 การส่งออกของไทยไปยังประเทศเดนมาร์กในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ก็ยีงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปี 2552 และสินค้าไทยหลายชนิดที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดเดนมาร์กและมีลู่ทางที่จะขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผักสด เช่น แอสปารากัส ข้าวโพดฝักอ่อน พริก และ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าวอินทรีย์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจภัตตาคารอาหารไทย สปา ซึ่งมีการขยายตัวอย่ามงมากในเดนมาร์กและกลุ่มสแกนดิเนเวีย และปัจจุบันได้มีนักลงทุนชาวเดนมาร์กได้สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (กังหันลม) การซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามเมืองชายฝั่งทะเล เช่น หัวหิน พัทยา ภูเก็ต รวมทั้งการร่วมลงทุนทำเกษตรเช่น ข้าวอินทรีย์ในแถบจังหวัดภาคเหนือของไทย เป็นต้น
2.4 แม้ว่าเศรษฐกิจเดนมาร์กจะมีขนาดเล็ก ประมาณ 343 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.55 ของเศรษฐกิจโลก แต่เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด การพัฒนาความเจริญเติบโตของประเทศจึงจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบและการค้าต่างประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้คนเดนมาร์กได้เริ่มเข้ามาค้าขายกับประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีความคุ้นเคยและรู้จักประเทศไทยมาช้านาน ประชากรเดนมาร์ก 1 ใน3 คนเคยมาประเทศไทย จึงนับเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถหาลู่ทางขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนได้อีกมาก นักธุรกิจไทยจึงควรหันมาสนใจตลาดเดนมาร์กเพิ่มขึ้น
2.5 เดนมาร์กจัดเป็นตลาด Advanced Mature Market มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่สูง โดยเฉพาะการผลิตด้านการเกษตร ซึ่งเดนมาร์กเคยเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งและพัฒนาฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ด้านเครื่องมือทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ พลังงานกังหันลม การขนส่งคมนาคม ตลอดจนสินค้าที่มีการออกแบบนำสมัย (design products) เช่น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ผู้บริโภคเดนมาร์กเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีมาตรฐานคุณภาพสินค้าความเป็นอยู่สูง เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม มีความกังวลและห่วงใยสุขภาพ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย จึงต้องศึกษากฎระเบียบการนำเข้า มาตรฐานสินค้า ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป และคำนึงถึงรสนิยม รูปแบบ พัฒนาการผลิตสินค้าให้ทันสมัยตรงกับความต้องการของตลาดเดนมาร์ก ตลอดจนหารูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการของโลกที่เปลี่ยนไป การผลิตสินค้าบริการชิงสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี่ โดยเฉพาะผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศไทยและการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง ทำให้การเดินทางมาสั่งซื้อสินค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างกันไม่สะดวก ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรใช้กลยุทธ์การบุกเจาะตลาดเชิงรุกเพื่อหาทางตลาดให้มากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างพันธมิตรทางการค้า การหาผู้แทนจำหน่าย ( Agent /partner ) การลงทุนร่วมกัน ( Joint venture) การหาช่องทางจำหน่ายสินค้าใหม่ บริการใหม่ ไปสู่กลุ่มเฉพาะมากขึ้น ( niche market ) กลุ่มคนสูงอายุ กลุ่มชนชาติ (ethnics group) ผ่านสื่อใหม่ๆ ( new medias channel ) eBay Alibaba Facebook Twitter TV shopping การเยี่ยมเยี่ยนพบปะลูกค้ารายสำคัญ การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน
ที่มา: http://www.depthai.go.th