ในปี 2552 ยอดจำหน่ายของร้านอาหาร/ภัตตาคารสหรัฐฯ มีมูลค่า 566 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีจำนวนร้านอาหารรวมทั่วประเทศ ทั้งประเภท Fast Food และ Full Service จำนวน 945,000 แห่ง
ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจัดเป็นธุรกิจขนาดย่อม แต่เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในด้านการจ้างงาน ยอดขายอาหาร และผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมของประเทศ ไม่ด้อยไปกว่าอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ ของสหรัฐฯ
- ทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐฯ ที่ผู้บริโภคใช้จ่ายในร้านอาหารจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นเงิน 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ในเศรษฐกิจของประเทศ
- ค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคจ่ายเพิ่มเติมจากทุกๆ 1 เหรียญฯ ในร้านอาหารก่อให้เกิดรายได้เศรษฐกิจในครัวเรือน เป็นเงิน 82 เซนต์
- ยอดขายของร้านอาหารที่เพิ่มเติมจากทุกๆ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการสร้างงานจำนวน 34 แรงงาน
- อุตสาหกรรมร้านอาหารยังคงเป็นภาคธุรกิจเอกชนที่มีการว่าจ้างงานจำนวนมากถึง 12.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของแรงงานสหรัฐฯ
- ยอดขายเฉลี่ยของร้านอาหารประเภท Full Service มีมูลค่า 866,000 เหรียญสหรัฐฯ (ปี 2007) และของร้านอาหารประเภทบริการด่วน (Quick Service) มีมูลค่า 717,000 เหรียญสหรัฐฯ
- ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนในการรับประทานอาหารนอกบ้าน: 2,698 เหรียญสหรัฐฯ
- ร้อยละ 40 นิยมซื้ออาหารรับประทานจากร้านอาหาร หรือใช้บริการการจัดส่งอาหารถึงบ้าน
- ร้อยละ 73 ต้องการรับประทานอาหารที่เสริมสร้างสุขพลานามัย
- ผู้บริโภคสหรัฐกลุ่ม Gen-X และ Gen-Y (อายุระหว่าง 18-40 ปี) นิยมรับประทานอาหาร Ethnic Food แบบประยุกต์ เช่น Pan Asian (Thai, Japanese, Vietnamese )
- ปัจจัยการขยายตลาด ปัจจุบันผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้จ่ายรายได้ประมาณร้อยละ 49 เพื่อการซื้ออาหารรับประทานจากร้านอาหาร หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ในเงิน 1 เหรียญสหรัฐฯ ผู้บริโภคใช้ซื้ออาหารรับประทานจำนวน 49 เซนต์
- ผู้บริโภคซื้ออาหารนอกบ้านรับประทานประมาณ 4.5 มื้อ/สัปดาห์/คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 3.8 มื้อ/สัปดาห์/คน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่า อัตราดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 มื้อ/สัปดาห์/คน ในปี 2553
- ปัจจุบันแนวโน้มของการบริโภคอาหารในลักษณะทดแทนการปรุงด้วยตนเอง(Home Meal Replacement) แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาหาร Carryout หรือ To Go และ อาหารสำเร็จรูป (Ready to Heat /TV Dinner) ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอัตราสูง
- ร้านอาหารและผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly, Go Green) เพิ่มมากขึ้น เมนูอาหารที่สุขภาพ ความยั่งยืน
- ผู้บริโภคนิยมใช้สื่อทางสังคม (Social Media) อาทิ Face Book, Twitter ต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเลือกร้านอาหาร และ เมนูอาหาร ฯลฯ
จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการร้านอาหารในสหรัฐฯ พบว่า ปัจจัยท้าทายของธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารของสหรัฐฯ ในปี 2553 และในอนาคต ซึ่งมีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้า คือ (1) ปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจ ร้อยละ 33 (2) ต้นทุนอาหาร ร้อยละ 22 (3) แรงงาน ร้อยละ 8 (4) ราคาน้ำมัน ร้อยละ 6 และ (5) การแข่งขัน ร้อยละ 1 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดขายอาหาร
Mr. Hudson Riehle รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยและข้อมูลของสมาคมธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารของสหรัฐอเมริกา (National Restaurant Association: www.restaurant.org) คาดการณ์ว่า ในปี 2553 ตลาดธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารของสหรัฐฯ จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นปัจจุบัน จะเห็นได้จากดัชนีตัวชี้วัดของร้านอาหาร (Restaurant Performance Index-RPI) ของเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่จุด 99.0 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากเดือนมกราคม 2553 และอยู่ในระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2550 และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 580 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553
ในปี 2553 การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12.7 ล้านคน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการว่างงานในปัจจุบันของสหรัฐฯ ได้ประมาณ 150,000 และ คาดว่าการจ้างงานของธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 14 ล้านคน ในปี 2020 (2563)
ร้านภัตตาคาร/ร้านอาหารจะซื้อสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายของธุรกิจบริการอาหาร(Foodservice Distributor) เป็นสำคัญ หรือ ผ่านโบรกเกอร์ และ พ่อค้าขายส่ง ของช่องทางนี้ ดังนั้น การจำหน่ายสินค้าเข้าสู่ช่องธุรกิจบริการ จะแยกกันจากช่องทางค้าปลีก หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต
ผู้จัดจัดหน่ายสินค้าของช่องทางธุรกิจบริการอาหาร (Foodservice Distributors) รายสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ Sysco Corporation ซึ่งเป็นรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มียอดขาย 36.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับที่สอง คือ US Foodservice มูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอันดับที่ 3 คือ Gordon Foodservice มูลค่า 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
1. สินค้า: สินค้าไทยทีมีลู่ทางของตลาดธุรกิจ บริการอาหารในสหรัฐฯ ได้แก่
1.1 สินค้ากลุ่มอาหาร (Food) ได้แก่
- ข้าวหอมมะลิ
- ผักกระป๋อง เช่น สับปะรด ข้าวโพดอ่อน ผักแช่แข็ง
- เครื่องปรุงอาหาร เครื่องเทศ ซ้อสชนิดต่างๆ
- อาหารทะเลแช่แข็ง
- เครื่องแกงสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป
1.2 ในกลุ่มไม่ใช่อาหาร (Non-Food) ได้แก่
- เฟอร์นิเจอร์ (โต๊ะ และ เก้าอี้)
- ของใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว
- สิ่งทอ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ผ้าปูโต๊ะ ผ้ากันเปื้อน
- ผลิตภัณฑ์กระดาษแบบย่อยสลายทางชีวภาพ
- ภาชนะใส่อาหารและถ้วยพลาสติคแบบย่อยสลายทางชีวภาพ
- เทียนหอม และ ดินสอเทียน
2. ช่องทางการขยายตลาด กลยุทธ์สำคัญที่ควรพิจารณาการขยายตลาดสินค้าไทยเข้าช่องทางภัตตาคาร/ร้านอาหารในสหรัฐฯ คือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งมีงานแสดงสินค้าที่สำคัญของธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารที่สำคัญหลายงาน ได้แก่
2.1 NRA Show : the International Foodservice Marketplace ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ ณ นครชิคาโก ในเดือนพฤษภาคม NRA Show เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติเกี่ยวกับอาหารและอุปกรณ์ของใช้ในธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของโลก มีผู้เข้ารวมงานประมาณ 2,000 บริษัท และ ผู้เข้าชมงานประมาณ 70,000 คน ผู้สนใจดูรายละเอียดของงานแสดงสินค้าเพิ่มเติมได้จาก Website: www.restaurant.org/show
2.2 International Motel, Hotel & Restaurant Show จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ นครนิวยอร์ก ผู้สนใจดูรายละเอียดของงานแสดงสินค้าเพิ่มเติมได้จาก Website: www.ihmrs.com
2.3 Western Foodservice & Hospitality Expo จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี ณ นครลอสแอนเจลิส ผู้สนใจดูรายละเอียดของงานแสดงสินค้าเพิ่มได้จาก Website: www.westernfoodexpo.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th