ตลาดผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 14:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมในประเทศ

ประมาณร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางในเยอรมนีจะเป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานพาหนะ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อิเลคโทรเทคนิคและการก่อสร้างมีส่วนแบ่งรวมกันประมาณร้อยละ 30 อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ การพิมพ์ เทคนิคการแพทย์ รองเท้าและเครื่องกีฬา เป็นต้น ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงมาก โดยเฉพาะจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน ตลาดจำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้าหลังจากที่ระงับการสั่งซื้อ การผลิตมานานแล้ว ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเป็นไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งของเยอรมนีด้วย ที่คาดการณ์ว่าตลอดปี 2553 นี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 ทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นได้ แต่สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางคงจะลดลง เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ที่ในปี 2553 นี้มีแนวโน้มการจดทะเบียนรถใหม่ลดลง ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางโดยรวมลดลง

แหล่งนำเข้าของเยอรมนี

ตามตัวเลขสถิติการค้าของเยอรมนี ในปี 2552 เยอรมนีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางจากต่างประเทศเป็นมูลค่า 9,185 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 21.8 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น สำหรับไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 23 มูลค่า 115 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.4 ตลอดปี 2553 คาดว่ามูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย เนื่องจากความต้องการในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สินค้าส่งออกของไทย

ผลิตภัณฑ์ทำด้วยยางของไทยที่ส่งออกไปเยอรมนีมูลค่ามากเป็นอันดับแรก คือ ยางยานพาหนะ รองลงมาจะเป็นถุงมือยาง ที่มีส่วนแบ่งสูงในตลาดเยอรมนีและครองอันดับต้นๆ รองจากมาเลเชียตลอดมา อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 — 3 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีสินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดเยอรมนี เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด และมีราคาในระดับต่ำกว่าสินค้าจากแหล่งอื่นๆ มาก ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าจากจีนเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเยอรมนี มีส่วนแบ่งตลาดและของประเทศคู่แข่งสำคัญๆ ดังนี้

ยางยานพาหนะ         ฝรั่งเศส  15%   เช็ค 11%    สโลเวเกีย  7%   เนเธอร์แลนด์  7%   ไทย 0.7%
ถุงมือยาง             มาเลเชีย 27%   จีน  17%    ไทย  13%       เบลเยี่ยม  10%     ฝรั่งเศส  6%
ผลิตภัณฑ์ใช้ทางเภสัช     ฝรั่งเศส 19%    ฮังการี 14%  อิตาลี 11%       เบลเยี่ยม  10%     ไทย 5%
หลอด ท่อยาง          เช็ค 14%       อิตาลี 12%   ฮังการี 11%      โปแลนด์  9%       ไทย  0.5%

เพื่อมิให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลง ผู้ผลิตไทยจะต้องควบคุมการผลิต ดูแลด้านคุณภาพ คุณสมบัติของสินค้าให้ถูกต้อง สม่ำเสมอ โดยจะต้องมีคุณภาพถูกต้อง ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ในกรณีที่มีความผิดพลาด ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ โดยสามารถพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากความผิด ความบกพร่องของผู้ผลิต ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ปัญหาอุปสรรค

1. สินค้าไทยมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากยังมีคุณภาพดี มีการส่งมอบสินค้าตรงเวลา เป็นที่ไว้วางใจได้ จึงยังเป็นที่สนใจของผู้นำเข้า

2. การประกาศใช้ระเบียบ Reach ให้ลงทะเบียนและควบคุมสารเคมีที่ใช้ในการผลิต จะทำให้เกิดปัญหากับสินค้าบางชนิดได้ และทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง

3. คู่แข่งสำคัญ โดยเฉพาะ จีนและมาเลเชีย มีความสามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐานมากขึ้น และมีราคาต่ำกว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากไทย

4. สินค้าทำด้วยยางในเยอรมนีส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต ซึ่งไทยยังไม่สามารถผลิตได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ