Keidanren กับรัฐบาลพรรค DPJ : ถึงเวลาปรับแนวคิดเข้าหากันเพื่อเศรษฐกิจชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 13:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปลี่ยนขั้วอำนาจจากพรรค LDP มาป็นพรรค DPJ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 บทบาทในการชี้นำนโยบายรัฐจาก The Japan Business Federation หรือ Nippon Keidanren ลดลงไปอย่างมาก นโยบายของพรรค DPJ ภายใต้การนำของนาย Yukio Hatoyama ให้ความสำคัญกับภาคครัวเรือนหรือผู้บริโภคโดยตรง มากกว่าการสนับสนุนภาคธุรกิจ

บทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจให้เป็นนโยบายของรัฐโดยผ่านการรวบรวมเงินจากสมาชิกเป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอำนาจหมดยุคลง ทำให้การคัดเลือกประธาน Nippon Keidanren คนใหม่แทน นาย Fujio Mitarai ที่ครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2553 จึงเปลี่ยนจากประเพณีเดิมที่มาจากประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ มีอำนาจทางธุรกิจ และเงินทุนสูง โดยผู้นำองค์กรคนใหม่ คือ นาย Hiromasa Yonekura ประธานบริษัท Sumitomo Chemical Co. ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าบริษัทที่เป็นสังกัดของผู้นำคนก่อนๆ มาก แต่ได้รับเลือกด้วยคุณสมบัติความสามารถเฉพาะตัว ทั้งทัศนวิสัยด้านระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการ

สภาพธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกและจากการจัดอันดับโดย Swiss mangement research ความสามารถการแข่งขันระหว่างประเทศของธุรกิจญี่ปุ่น ตกลงจากอันดับที่ 17 เมื่อปี 2552 เป็นอันดับที่ 27 ในปีนี้ ด้อยกว่าคู่แข่งที่กำลังเติบโตอย่าง เกาหลีใต้ และจีน ซึ่ง Nippon Keidanren เห็นว่าสาเหตุสำคัญ คือ ภาษี corporate tax ที่มีอัตรา 40.69% สูงกว่าประเทศอื่น เช่น ประเทศในยุโรปจัดเก็บประมาณ 30% และประเทศในเอเชียมีอัตราไม่เกิน 25% เป็นภาระต้นทุนของบริษัท และเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ผลิตไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาลดภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ การวิเคราะห์ของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน (METI) ก็เห็นว่าการลดภาษีนิติบุคคลลงจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และการสร้างงาน

นอกเหนือจากข้อเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ องค์กรภาคธุรกิจเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการประมูลรับงานโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และรถไฟความเร็วสูง ในเอเชีย และประเทศอื่นๆ ที่ธุรกิจญี่ปุ่นแพ้การประมูลโครงการใหญ่ใน สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ และเวียดนาม แก่บริษัทเกาหลีใต้ และรัสเซีย ตามลำดับ

ด้วยปัญหาที่ท้าทาย ผู้นำ Nippon Keidanren คนใหม่ นาย Hiromasa Yonekura เห็นว่านอกจากการเรียกร้องเพื่อลดภาระต้นทุนของธุรกิจ ความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐ บริษัทเอกชนเอง ต้องปรับตัวหาทางเพิ่มกำไรจากการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งปรับมุมมองกำหนดกลยุทธ์ด้านต่างประเทศของตน

นาย Hiromasa Yonekura ได้แถลงว่าจะจัดทำกลยุทธ์ใหม่จากภาคธุรกิจเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยให้ความเห็นว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันพิจารณาปฏิรูประบบภาษี การคลัง และสวัสดิการสังคม รวมทั้งมีข้อเสนอแนะว่าควรขึ้นภาษี consumption tax ปีละ 1% จากปัจจุบันที่มีอัตรา 5% จนอยู่ในระดับอัตรา 10% ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงผลกระทบจากภาระที่เพิ่มขึ้นต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยด้วย พร้อมให้เหตุผลว่าระบบสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นจะล้มเหลวหากไม่เพิ่มภาษีconsumption tax และภาครัฐก็ควรพิจารณาสูตรการจัดเก็บภาษีเพื่อบรรเทาข้อกังวลจากภาระที่ของผู้มีรายได้ต่ำต้องแบกรับ ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ Nippon Keidanren เห็นว่าการขึ้นภาษีจะเป็นการสร้างภาระแก่ภาคธุรกิจด้วย

ข้อเสนอแนะนาย Hiromasa Yonekura ได้ปรับมุมมองกว้างขึ้น ไม่แสดงเฉพาะกลยุทธ์เพื่อธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่มีเป้าหมายให้สาธารณชนยอมรับและสนับสนุนด้วยเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล และคาดหวังว่าพรรคการเมืองจะไปพิจารณาหาทางปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคม ยุติภาวะเงินฝืด รวมทั้งรับมือสภาพสังคมผู้สูงอายุ ทันการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงในเดือนกรกฎาคมนี้

รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงจำเป็นของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และการรักษาวินัยทางการคลัง เห็นได้จากคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนนี้ ของนาย Naoto Kan นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งแทนนาย Yukio Hatoyama ก็สอดรับกับข้อเสนอแนะข้างต้น โดยได้กล่าวถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบภาษีของญี่ปุ่น เพื่อฟื้นดุลภาพด้านการคลัง รองรับปํญหาการพอกพูนของหนี้สาธารณะ และภาระด้านประกันสังคม โดยจะดำเนินการในหลายมิติพร้อมกัน เช่น การสร้างงานที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการส่งออกเทคโนโลยีและประสบการณ์ของญี่ปุ่นไปประเทศเอเชียที่กำลังเติบโตนอกจากนี้ พรรค DPJ ก็บรรจุเรื่องการลดภาษี corporate tax ไว้ในร่างนโยบายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปีนี้ไว้ด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ญี่ปุ่น   japan   FED  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ