เกาหลีและสิงคโปร์ลงทุนเพื่อการผลิตทองแดงในประเทศปานามา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 15:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สื่อเวปไซด์ centralamerica.com ได้รายงานเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ว่าบริษัท Ellington Investments Ltd. บริษัทในเครือของกลุ่มลงทุน Temasek Holdings ของสิงคโปร์ ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มเหมืองแร่ INMET จากประเทศแคนาดาในโครงการสำรวจขุดเหมืองแร่ทองแดงในประเทศปานามา โครงการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าโดยรวม 3.5 พันล้านเหรียญฯ โดยบริษัท Ellington ได้ดำเนินการชำระเงินลงทุนในโครงการฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 14 จากจำนวนเงินทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครบแล้ว โครงการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มมีผลผลิตทองแดงได้ในปี 2014 และคาดว่าจะมีผลทำให้ประเทศปานามาเป็นผู้ผลิตทองแดงอันดับต้น ๆ ของโลกได้อีกแหล่งหนึ่ง

เมื่อปี 2552 บริษัท INMET ได้เริ่มการเจรจากับบริษัท LS-Nikko ของประเทศเกาหลี ซึ่งได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนกับ INMET เช่นกัน โดยได้แจ้งความสนใจถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20 แต่ฝ่ายเกาหลีไม่สามารถบรรลุความตกลงกับ INMET ได้ เนื่องจากสัดส่วนของโครงสร้างการถือหุ้น ทั้งนี้ ประเทศเกาหลีให้ความสำคัญกับการลงทุนดังกล่าวนี้ เป็นอย่างมากโดยประธานาธิบดีของเกาหลีใต้มีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศปานามาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2553 และคาดว่าจะมีการยกประเด็นการร่วมลงทุนในโครงการแร่ทองแดงดังกล่าว โดยปัญหาอุปสรรคของการลงทุนสำคัญคือ กฏหมายของประเทศปานามาที่ไม่อนุมัติให้รัฐบาลต่างชาติร่วมลงทุนในกิจกรรมการลงทุนด้านเหมืองแร่ โดยในปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นประเทศผู้บริโภคทองแดงเป็นอันดับ 6 ของโลก

พื้นที่การลงทุนชองบริษัท INMET ครอบครองสัมปทานการทำเหมืองทองแดง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกลุ่มเทือกเขา Nguodo Tain ซึ่งแปลได้ว่า เขาแดง จากภาษาพื้นเมืองชาวเขาที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้มาแต่โบราณ ในพื้นที่ดังกล่าว ได้เคยมีการทำเหมืองมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงระหว่างปี 2521-2528 โดยบริษัท Rio Tinto ของประเทศอังกฤษ เป็นผู้ดำเนินโครงการ แต่ในขณะนั้น ราคาทองแดงโลกได้ตกต่ำ ผนวกกับแรงกดดันการต่อต้านการทำเหมืองของคนพื้นเมืองได้มีผลทำให้เหมืองเก่านี้ต้องปิดตัวลงไป

การสำรวจในเบื้องต้นของบริษัท INMET ได้การประมาณการณ์ว่า มีแร่ทองแดงสำรองในประเทศปานามาในปริมาณ 20 พันล้านปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นแหล่งแร่ทองแดงสำรองอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้แล้ว ปานามายังมีแหล่งทองคำ ที่ได้รับการพัฒนาและเริ่มให้ผลผลิตแล้ว คาดการณ์ปริมาณสำรองที่ 5 ล้านออนซ์ โดยมีมูลค่าการผลิตในปี 2552 เท่ากับ 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้มีการส่งออกทองคำไปแล้วในปริมาณ 1.6 ตัน

สถานะภาวะการผลิตและการค้าทองแดงโลก

แร่ทองแดงนับวันจะมีความสำคัญและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตวัสดุการสื่อไฟฟ้าและความร้อนในอุปกรณ์การสื่อสารและโทรคมนาคม ในสินค้าด้านอิเล็กตรอนนิกส์ สำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ รถไฟ เรือและเครื่องบิน ในการผลิตเครื่องจักรและในการสร้างเครื่องจักร โรงงาน และถังบรรจุระดับอุตสาหกรรม ในท่อส่งน้ำและแก๊ซ ในการก่อสร้าง เช่น หลังคา และท่อระบายน้ำ ในส่วนผสมอาหารสัตว์ และปุ๋ยบำรุงพืช เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในงานศิลปกรรม เช่น รูปปั้น และในสินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไป

แร่งทองแดงเป็น วัตถุที่มีการสูญเสียสภาพทางเคมีน้อยมากเมื่อนำไปใช้ในการผลิตต่างๆ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการหมุนเวียนแปรสภาพทองแดงเก่ากลับมาใช้ได้อีก (recycle) เป็นจำนวนมาก ในปี 2550 ร้อยละ 30 ของทองแดงที่บริโภค มาจากการนำทองแดงเก่าไปหมุนเวียนผลิตเป็นทองแดงใหม่ โดยทวีปยุโรปเป็นผู้นำในหมุนเวียการใช้ทองแดงมากที่สุด

รายงานจาก World Copper Factbook 2009 ได้รายงานว่า การใช้ทองแดงในปี 2551 มีปริมาณรวมเท่ากับ 23,947 ตัน โดยผู้ที่ใช้ทองแดงมากที่สุดในโลกได้แก่ ประเทศจีน ในปริมาณ 6,937 ตัน ส่วนผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกได้แก่ ประเทศชิลี ราคาทองแดงในปัจจุบันเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแร่ดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 7,000 เหรียญฯ ต่อตัน

ประเทศเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตทองแดงในระดับกลาง และมีแหล่งการผลิตทองแดงในรัฐทางเหนือ อันได้แก่ รัฐ Sonora และรัฐ Zacatecas การทำเหมืองแร่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของเม็กซิโก โดยมีกลุ่มการลงทุนหลายกลุ่ม เช่น Grupo Mexico, Industrial Minera, Fresnillo, Pe๑oles และกลุ่ม Empresas Friscos บริษัทเหล่านี้มีการทำเหมืองแร่หลาย ๆ ประเภท เช่น การผลิตทองและเงิน รวมในกิจการเดียวกัน รวมทั้งมีการทำเหมืองและการผลิตแร่เหล่านี้ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ในปี 2552 เม็กซิโกผลิตแร่ทองแดงได้ 247,000 เมตริกตัน และมีการแปรสภาพอีก 295,000 เมตริกตัน เป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศซึ่งต้องใช้ในปริมาณ 325,000 เมตริกตันในแต่ละปี นอกจากนี้แล้ว เม็กซิโกยังเป็นสมาชิกของกลุ่มศึกษาทองแดงระหว่างประเทศ (ICSG) ประเทศหนึ่งด้วย

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทองแดงของไทย และโอกาสการพัฒนา

เป็นที่สังเกตว่าประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าแร่ทองแดงสำคัญประเทศหนึ่ง โดยปริมาณการนำเข้าของไทยในปี 2552 ในปริมาณ 240,000 เมตริกตัน เท่ากับร้อยละ 4 ของการนำเข้ารวมของโลก กระบวนการพัฒนาของประเทศจะส่งผลให้ปริมาณการบริโภคทองแดงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ การสำรวจหาแหล่งทองแดงภายในประเทศ เพื่อการผลิตแร่ในสภาพวัตถุดิบ รวมทั้งการลงทุนในการแปรสภาพ (refine) และการหหมุนเวียนการแปรสภาพแร่ที่ใช้แล้ให้มาเป็นแร่ทองแดงที่ใช้ได้ใหม่ (recycle) หรือการไปลงทุนในต่างประเทศจึงเป็รปัจจัยที่ต้องพิจารณาในอนาคตอันใกล้นี้ ดังเช่น ที่ประเทศเกาหลีและสิงคโปร์ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ