ตลาดหนังสือและอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 24, 2010 15:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ตลาดหนังสือของประเทศเยอรมนี

1.1 ภาวะตลาดสินค้าหนังสือในประเทศเยอรมนีในปี 2552

ตลาดหนังสือภาษาเยอรมันจัดเป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่งของโลก ในปีที่ผ่านมาตลาดหนังสือในประเทศเยอรมนีได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2552 เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของ B๖senverein des Deustschen Buchhandels (German Publisher and Bookseller Association) ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2553 ยอดขายสินค้าหนังสือของประเทศเยอรมนีมีมูลค่าลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2552 ประเทศเยอรมนีมียอดขายสินค้าหนังสือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือประมาณร้อยละ 0.8 (เมื่อเทียบกับปี 2551) โดยมียอดขายหนังสือรวมประมาณ 9.69 พันล้านยูโร

นอกจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อยอดขายสินค้าหนังสือของประเทศ แนวโน้มความนิยมในการเปลี่ยนไปใช้สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือ E-books อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายหนังสือของประเทศได้ในอนาคต อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 - 6 ปีก่อนที่การใช้หนังสือประเภท Ebooks จะเป็นที่แพร่หลายภายในประเทศ

จากข้อมูลของสมาคมฯ ในปี 2552 สำนักพิมพ์มียอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ทั้งนี้หากพิจารณายอดขายแยกตามประเภทธุรกิจหรือบริการนั้น จะพบว่ายอดขายจากการให้บริการด้านโฆษณา (Annoucement / Advertisement) มียอดขายลดลงร้อยละ 14.8 ยอดขายจากการจำหน่ายหนังสือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และยอดขายจากการให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (เช่นการบริการข้อมูลจาก Databank การบริการข้อมูลทางดิจิตอลสำหรับห้องสมุดหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8

1.2 ช่องทางการจำหน่ายหนังสือในประเทศเยอรมนี

ในปี 2552 ช่องทางการจัดจำหน่ายหนังสือที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นร้านหนังสือ (Retail book store) โดยมียอดขาย 5.07 พันล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 52.3 ของมูลค่าการขาย (ปี 2551: 5.1 พันล้านยูโร คิดเป็นร้อยละ 52.6) รองลงมาได้แก่ การจัดจำหน่ายตรงจากผู้ผลิต/สำนักพิมพ์ มียอดขาย 1.78 พันล้านยูโร (ร้อยละ 18.3) การจำหน่ายหนังสือ Online มียอดขาย 1.18 พันล้านยูโร มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.2 (ปี 2551: ร้อยละ 10.7) เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 15.6

เมื่อพิจารณายอดขายสินค้าแบ่งตามประเภทของช่องทางการจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ เทียบกับปี 2550 พบว่า การจำหน่ายหนังสือทาง Internet (Online Shopping) ยังเป็นช่องทางการจำหน่ายเดียวที่มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมียอดจำหน่ายในปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 (ในปี 2551 มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ในขณะที่ร้านขายหนังสือทั่วไป (Retail Book Store) ไม่สามารถเพิ่มยอดขายในปี 2552 ได้

ทางด้านส่วนแบ่งตลาดของการจำหน่ายหนังสือแบ่งตามประเภทของหนังสือนั้น พบว่าหนังสือประเภทนวนิยายและวรรณกรรม และหนังสือสำหรับเด็ก มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2552 หนังสือประเภทนวนิยายและวรรณกรรมมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33.8 (ปี 2551: ร้อยละ 32.3) หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15.7 (ปี 2551: ร้อยละ 14.6) สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมาได้แก่สินค้าประเภท Audiobook โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Audiobook จะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 200 ล้านยูโร อย่างไรก็ดียอดขายของสินค้า Audiobook ได้เริ่มตกลงในปี 2552 โดย Audiobook มีส่วนแบ่งตลาดลดลงจากร้อยละ 4.8 ในปี 2551 เหลือร้อยละ 4.3 ในปี 2552

เมื่อพิจารณายอดขายหนังสือในแต่ละเดือนตลอดปี 2552 เดือนธันวาคมยังคงเป็นเดือนที่มียอดจำหน่ายหนังสือสูงที่สุดของปี โดยร้อยละ 20 ของยอดจำหน่ายหนังสือตลอดปีเป็นยอดจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในเดือนธันวาคม อันเนื่องมาจากความนิยมของชาวเยอรมันในการเลือกให้หนังสือเป็นของขวัญในช่วงเทศการคริสต์มาส

2. อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศเยอรมนี

2.1 ข้อมูลทั่วไป

อุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศเยอรมนีประกอบด้วยบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง มีจำนวนการจ้างงาน ทั่วประเทศประมาณ 165,000 คน จากข้อมูลของ bvdm : Bundesverband Druck und Medien e.V. (The German Printing and Media Industries Federation) อุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศเยอรมนีจัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศ โดยบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ร้อยละ 83 มีจำนวนพนักงานน้อยกว่า 20 คน โดยในปี 2553 อุตสาหกรรมการพิมพ์ของเยอรมนีมีมูลค่าการซื้อขายรวมประมาณ 21.9 พันล้านยูโร

ถึงแม้ว่ามูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมการพิมพ์จะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศ แต่จากความสำคัญของสิ่งพิมพ์ในการเป็นสื่อที่สำคัญในการเผยแผ่ความรู้ เทคโนโลยี ข่าวสาร ความเข้าใจในสังคม ทำให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงเป็นที่จับตามองและได้รับการยอมรับและความสนใจจากนักลงทุน ในปัจจุบันถึงแม้ว่าการใช้สื่อประเภท Audio และ Electronics เพื่อการโฆษณาจะมีความนิยมเพิ่มขึ้นแต่สิ่งพิมพ์ยังจัดเป็นสื่อที่ใช้ในการโฆษณาสูงที่สุด โดยร้อยละ 61 ของอุตสากรรมการพิมพ์ภายในประเทศเป็นสิ่งพิมพ์เพื่อใช้ในการโฆษณา

2.2 สถานการณ์ตลาดของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในประเทศเยอรมนีปี 2552 - 2553

สภาวะของอุตสาหกรรมการพิมพ์มีความสัมพันธ์กับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ในปี 2552 มูลค่าการซื้อขายของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเยอรมนีมีมูลค่า ประมาณ 21.73 พันล้านยูโร ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6 ทั้งนี้ bvdm คาดว่าสถานะการณ์ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศในปี 2553 จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยจะปรับตัวลดลงประมาณเพียงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2552

2.3 การค้าระหว่างประเทศของสินค้าสิ่งพิมพ์ของประเทศเยอรมนี

ในปี 2553 เยอรมนีนำเข้าสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน (นำเข้าสินค้าประเภทสิ่งพิมพ์ลดลงร้อยละ 9.1 และนำเข้าหนังสือลดลงร้อยละ 7.3) อัตราส่วนสินค้าที่นำเข้าแยกตามประเภทได้แก่ สินค้าประเภทหนังสือหรือแผ่นพับ/โบรชัวร์ (ร้อยละ 28) สิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณา/แคตตาล็อก (ร้อยละ 25) หนังสือพิมพ์และนิตยสาร (ร้อยละ 24) และ อื่นๆ

ทางด้านการส่งออกนั้น เยอรมนีส่งออกสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รวมประมาณ 4.2 พันล้านยูโร ลดลงประมาณร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ในปี 2552 ประเภทสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ได้แก่ สิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาหรือแคตตาล็อก (ร้อยละ 31) รองลงมาได้แก่ สินค้าประเภทหนังสือหรือแผ่นพับ/โบรชัวร์ (ร้อยละ 28) หนังสือพิมพ์และนิตยสาร (ร้อยละ 18) ป้ายสินค้า/Label (ร้อยละ 6) และ อื่นๆ

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเยอรมนีสำหรับสินค้าประเภทหนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (ร้อยละ 72 ของสินค้าที่นำเข้าและร้อยละ 69 ของสินค้าส่งออก) อย่างไรก็ดีประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในปี 2551 เยอรมนีส่งออกสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ไปยังสวิสมูลค่าประมาณ 709 ล้านยูโร รองลงมาได้แก่ประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส และ สาธารณรัฐเชค

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยไปยังประเทศเยอรมนี

ในปี 2552 ประเทศไทยส่งออกสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ไปยังประเทศเยอรมนีมีมูลค่า 2.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2553 ประเทศไทยส่งสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ไปเยอรมนีมีมูลค่า 1.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 (ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ