เครื่องสีข้าวกล้องชนิดใช้พลังงานคน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 5, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

ในชุมชนจะมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 80 เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาจะแบ่งข้าวออกเป็น 2 ส่วนคือ จะเก็บข้าวไว้บริโภคเอง และอีกส่วนก็จะขายให้กับโรงสี แต่ในการเก็บข้าวไว้บริโภคนั้นจะต้องมีการนำข้าวไปสีที่โรงสี การสีข้าวในแต่ละครั้งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนข้าวไปโรงสี ค่าบริการสีข้าวที่ต้องจ่ายให้กับโรงสีแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเก็บข้าวที่สีแล้วไว้นานเกินไปอาจทำให้ข้าวเกิดความเสียหาย และอาจต้องทิ้งข้าวที่สีไว้ไปในที่สุด
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายฐาปกรณ์ เซ็นเจริญ นายดัดสกร ละมัยครบุรี นายนิพนธ์ พิกุลน้อย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรต่อเนื่อง) สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงได้คิดค้นและสร้างเครื่องสีข้าวขนาดเล็กโดยใช้พลังงานคนขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนสามารถสีข้าวกล้องไว้บริโภคเอง โดยมี ผศ.ธวัชชัย ดำแดง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
เครื่องสีข้าวนี้ออกแบบมาเพื่อสีข้าวกล้อง โดยการสีแต่ละครั้งจะใช้พลังงานมาเป็นต้นกำลังในการทำงาน การสีข้าวไว้บริโภคเองจะช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยเครื่องนี้สามารถสีข้าวแต่ละครั้งจำนวนน้อยเพื่อบริโภคระยะสั้นๆ คือ 4-5 วันจะสีครั้งหนึ่ง ทำให้ข้าวสารที่เก็บไว้ไม่เกิดความเสียหาย และทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
เครื่องสีข้าวกล้องนี้จะมีขนาดเล็ก 50x50x150 เซนติเมตร ตัวเครื่องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องตลาด เพื่อสะดวกในการจัดหาอะไหล่มาทดแทนเมื่อเกิดการชำรุด มี 1.โครงสร้างรูปสี่เหลี่ยม ใช้เหล็กฉากขนาด 50.8 มม. หนา 3.2 มม. ความสูง 508 มม. ความกว้าง 355.6 มม. ความยาว 584.2 มม. 2.เฟืองต้นกำลังและส่งกำลัง 3.ลูกกลิ้งยางกะเทาะข้าวเปลือก (การบีบเมล็ดข้าว) 4.กระบะใส่ข้าวเปลือก 5.เสื้อชุดกะเทาะข้าวเปลือก 6.ล้อสายพานของเพลาลูกกลิ้งยางกะเทาะข้าวเปลือก 7.ชุดปรับความตึงสายพาน จำเป็นมาก เพราะจะทำให้มีแรงเสียดทานเพียงพอ 8.ชุดปรับระยะลูกกลิ้งยางกะเทาะข้าวเปลือก 9.ชุดปรับอัตราการไหลข้าวเปลือก และ Feeder ก่อนสีข้าวกล้อง 10.ท่อลำเลียงข้าวกล้องและแกลบ 11.พัดลมดูดและเป่าแกลบ
ขั้นตอนการทำงานของเครื่องสีข้าวนี้ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักคือ 1.ขั้นตอนการปั่นจักรยานด้วยความเร็วปกติที่คนธรรมดาปั่น 2.ขั้นตอนการสีข้าวโดยใช้ลูกกลิ้งยางกะเทาะข้าวเปลือกสามลูกขบกัน 3.ขั้นตอนการดูดแกลบใช้พัดลมกว้าง 8 นิ้ว และ 8 ใบพัด ในการดูดแกลบ จากการทดลองการทำงานของเครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กนี้ พบว่าเครื่องสีข้าวมีอัตราการผลิต 97.55 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ปั่นจักรยานด้วยความเร็วปกติ 300 รอบต่อนาที และตั้งระยะห่างของลูกกลิ้งยางกะเทาะข้าวเปลือกไว้ที่ 0.25 มม. เป็นเครื่องสีข้าวกล้องที่เหมาะใช้ในครัวเรือน
เพราะนอกจากจะได้ข้าวกล้องมารับประทานแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายอีกด้วย ผู้ใดสนใจอย่างทราบรายละเอียดเครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กโดยใช้พลังงานคน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ธวัชชัย 08-1826-2982.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ