ปลูกผักไร้ดินผลงานแบบปัญญาชาวบ้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 7, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

การปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกไม่ค่อยมีใครสนใจ ด้วยเหตุผลนานา อาทิ ยุ่งยาก ผักผู้ดี ลงทุนสูงสู้ไม่ไหว แต่เวลานี้นับได้ว่าความคิดดังกล่าวถูกพังทลายลง การปลูกผักนายทุนจึงไม่จำกัดอยู่ที่ผู้มีเงินทุนเท่านั้นที่จะทำได้
นายสนิทและนางสมศรี ปังเกตุ ชาว อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เป็นสองสามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จในการปลูกผักนายทุนเป็นรายแรกใน จ.นครราชสีมา
นายสนิทเล่าว่า เดิมทีก็เป็นเกษตรกรทั่วๆ ไป แต่ด้วยการที่ชอบศึกษาหาความรู้มาประกอบอาชีพ จึงมักไปร่วมอบรมตามที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น จนทำให้เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราต้องเดินทางไปดูโน่นดูนี่ อำเภอของเรา งานของเราไม่มีอะไรให้ใครดูเลยหรือ น่าจะมีอะไรสักอย่างที่แตกต่างและน่าสนใจเพื่อให้เขามาดูเรา แทนที่เราจะไปดูเขา
ความคิดเช่นนี้เป็นคำถามติดตัวอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งลูกเขยมาบอกว่าที่กรุงเทพฯ มีการจัดอบรมการปลูกผักไฮโดรโปรนิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงใช้ทุนของตนเองเดินทางไปอบรมแล้วเอาสิ่งที่ได้มาไปปรึกษากับหน่วยงานในท้องถิ่น แต่ทุกคนกลับปฏิเสธ เพราะมองเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งไปปรึกษากับเกษตร อ.ขามทะเลสอในสมัยนั้น ซึ่งก็ตอบรับและให้การสนับสนุนจึงลงมือทำ โดยการปรับพื้นที่สร้างโรงเรือน เย็บมุ้งครอบเอง และขุดบ่อน้ำบาดาล ซื้ออุปกรณ์ตลอดจนเมล็ดพันธุ์ผักมาทดลอง
จากการที่ค่อยๆ ปลูก ค่อยๆ ทำ ก็เกิดมีประสบการณ์มากขึ้น ผลผลิตออกมาครั้งแรกไม่ค่อยมีลูกค้า เพราะราคาสูง ยังดีที่มีข้าราชการในท้องถิ่นช่วยอุดหนุนด้วยความเกรงใจ แต่เมื่อบริโภคแล้วก็ถูกใจ บอกต่อกันปากต่อปาก จนกระทั่งเป็นที่ต้องการทั้งในและนอกพื้นที่ แม้แต่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาก็อนุญาตให้นำเข้าไปจำหน่ายได้ และได้รับการยกย่องว่าเป็นเกษตรกรคนเก่งของอำเภอ มีหน่วยงานและผู้สนใจเข้ามาดูงานอย่างสม่ำเสมอ
ทุกวันนี้ทั้งสองมีความสุขอยู่กับการผลิตอาหารดีๆ ที่มีประโยชน์และปลอดภัยในราคาถูก และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาในด้านปลูกผักกินผล แต่ปัญหาขณะนี้ก็คือเรื่องโรงเรือนที่อายุ 4 ปี เนื่องจากสร้างด้วยวัสดุเหลือใช้ทำให้เริ่มทรุดโทรมลง จะต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ นอกจากนี้ หลังคาที่มุงด้วยมุ้งอย่างเดียวก็ลำบากในช่วงหน้าฝน ซึ่งจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามแนวคิด ทำเป็นจั่วแบบพับขึ้น-ลงให้คลุมแปลงเพาะปลูกได้
การปลูกผักไร้ดินของสองสามีภรรยาคู่นี้เป็นหนึ่งในทางเลือก และน่าศึกษาต่อยอดของผู้ที่สนใจ หากใครอยากพูดคุยหรือเยี่ยมชมผลงานแบบชาวบ้านก็ลองติดต่อไปที่ 08-1074-2284 และ 08-0331-2220.
ณัฐพงศ์ อรชร รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ