ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยปลูกข้าวคุณภาพดีที่ห้วยไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 15, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

การที่เกษตรกรนิยมใส่ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ ในพื้นที่การเกษตร ซึ่งสะสมในดินและต้นน้ำลำธาร ก่ออันตรายต่อชีวิตที่อยู่โดยรอบ รวมถึงผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านห้วยไร่ ต.ห้วยไร่ อ.เมืองอำนาจเจริญ จึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน โดยได้รับการอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลา 10 ปี จนประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสภาพความสมบูรณ์ของที่นากลับคืนมา ทำให้เกษตรกรหันมานิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกของหมู่บ้านห้วยไร่ปลอดสารเคมี 100% กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบ เกษตรกรในพื้นที่พากันมาดูงานอย่างต่อเนื่อง
นายอัมพร แพงจ่าย อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 7 บ้านห้วยไร่ ต.ห้วยไร่ อ.เมืองอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นกำนัน ต.ห้วยไร่ และประธานกลุ่ม กล่าวว่า ในอดีตเกษตรกรที่ทำนาข้าวประสบปัญหาหน้าดินแข็ง ต้นข้าวเกิดโรคระบาด เติบโตช้า ได้ผลผลิตน้อย พยายามหาทางแก้ไขมาตลอด แต่ไม่สำเร็จ จึงนำหน้าดินไปตรวจสอบกับหมอดินที่สำนักงานพัฒนาที่ดิน จ.อำนาจเจริญ ปรากฏว่าพบดินขาดแร่ธาตุหลายอย่าง ทำให้ต้นข้าวขาดภูมิคุ้มกัน เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย ให้บำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักให้มากจะสามารถแก้ปัญหาได้ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาในปี 2543 โดยมีวัตถุประสงค์คือ
1.ปรับโครงสร้างการผลิตเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์ ลดสารเคมีตกค้าง ฟื้นฟูธรรมชาติให้ลูกหลาน 2.เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองให้สมาชิกในการจำหน่ายผลผลิต 3.เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ 4.เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว และที่สำคัญช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยในสังคมชนบท
ต่อมาเจ้าหน้าที่เกษตร จ.อำนาจเจริญ ได้ออกมาเยี่ยมกลุ่มและแนะนำให้ความรู้เรื่องการทำน้ำหมักสีเขียว เช่น พืชตระกูลถั่ว และปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง น้ำหมักสกัดจากผลไม้สด น้ำหมักจากหอยเชอรี่ และซากสัตว์ต่างๆ จนสามารถทำเองได้อย่างดี รวมไปถึงการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ใส่นาข้าว ซึ่งมีวิธีทำดังนี้
นำมูลสัตว์ รำ แกลบ ใบไม้แห้ง เศษหญ้า ฟางหรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆ น้ำ 1 ปี๊บ จุลินทรีย์ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน (ใช้น้ำจากผลไม้คั้น กากน้ำตาล) จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดผสมกันพอหมาดๆ บรรจุในกระสอบที่มีรูระบาย เมื่อผ่านไป 2-3 วัน จับดูรู้สึกร้อนประมาณ 45-50 องศาเซลเซียส แสดงว่าทำถูกต้องตามขั้นตอน จากนั้นหมักทิ้งไว้ 5 วัน เมื่อเย็นก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การเก็บรักษาปุ๋ยหมักนี้ให้เก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกความชื้นและความร้อน
ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำหน่าย 2 แบบคือ ชนิดบรรจุถุง ถุงละ 50 กก. ราคา 450 บาท ส่วนชนิดเม็ดถุงละ 500 บาท หากสมาชิกไม่มีเงินซื้อก็ให้ยืมไปใช้ก่อน เกี่ยวข้าวขายแล้วค่อยนำมาจ่าย ที่ผ่านมามีเกษตรกรและพ่อค้ามาซื้อถึงที่ ทำให้มีเงินทุนเข้ากองทุนแล้วกว่า 285,520 บาท มีการปันผลเมื่อสิ้นปี
นายอัมพรกล่าวถึงแผนการทำนาข้าวด้วยปุ๋ยหมักว่า เริ่มจากการเตรียดินโดยหว่านปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ลงในแปลงนาหลังเก็บเกี่ยว (ประมาณเดือน ธ.ค.-ม.ค.) อัตรา 100 กก./ไร่ (1 กระสอบปุ๋ย 50 กก.) ฉีดพ่นจุลินทรีย์อีเอ็ม 4 ปี๊บ/ไร่ แล้วไถกลบในเดือน มิ.ย.-ก.ค. ขยายจุลินทรีย์โดยใช้น้ำ 4 ปี๊บ เติมจุลินทรีย์ปี๊บละ 2 ช้อน กากน้ำตาลปี๊บละ 2 ช้อน ฉีดพ่นใส่หญ้าแล้วไถกลบ
การเตรียมกล้า 1.แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 80 กก./ไร่ ในน้ำขยายจุลินทรีย์ โดยใช้น้ำ 1 ปี๊บเติมจุลินทรีย์ 2 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อน แช่พันธุ์ข้าวนาน 30 นาที 2.นำพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ เมื่ออายุราว 5 วัน หว่านปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ 20 กก./ไร่ 3.ขยายจุลินทรีย์ฉีดพ่น โดยใช้น้ำ 4 ปี๊บเติมจุลินทรีย์และกากน้ำตาลปี๊บละ 2 ช้อน 4.เมื่อกล้าอายุได้ 20 วัน หว่านปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ 20 กก./ไร่ ขยายจุลินทรีย์ฉีดพ่นตามอัตราส่วนในข้อ 3 เพื่อกระตุ้นให้ต้นกล้าแข็งแรงและถอนง่าย 5.ดูแลระดับน้ำให้สูงขึ้นตามอายุของต้นกล้าคือ 3, 5, 8 ซม. เมื่อครบ 20-25 วันแล้วถอนไปปักดำ
สำหรับศัตรูพืชฉกาจคือ ปู ซึ่งมักชอบกินต้นข้าวอ่อน กำจัดโดยใช้ลูกตาลสุก ข้าวนึ่ง หรือกระดูกสัตว์ไปวางไว้ที่บริเวณปูมากัดกินข้าว ปูจะกินเหยื่อจนอิ่มและไม่กัดกินข้าว ส่วนหอยเชอรี่ให้ใช้มะละกอไปวางเป็นเหยื่อล่อบริเวณที่หอยอยู่ เมื่อหอยมากินก็โกยเอาไปทำเป็นอาหารได้ สำหรับปลิงก็ให้ใช้ยาหางไถผสมเลือดใส่ถุงมัดปากถุงให้แน่น ใช้เข็มเจาะเป็นรูเล็กๆ นำไปหย่อนลงในน้ำ ปลิงได้กลิ่นเลือดก็จะมาดูดกิน ยาหางไถที่ผสมอยู่ก็จะฆ่าทำลายปลิงจนตายหมด
นายอัมพรกล่าวว่า การทำนาด้วยปุ๋ยอินทรีย์ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตดีมาก เมล็ดข้าวสมบูรณ์ ต้นข้าวแตกกอใหญ่ หากเกษตรต้องการปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยไร่ก็มีจำหน่ายให้ โดยติดต่อได้ที่ โทร.08-9616-7272 ทุกวัน.
สนธยา ทิพย์อุตร รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ