สวนกาแฟหนีตายหันไปปลูกยาง-ปาล์ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 00:00 —องค์การสะพานปลา

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การตลาดและราคากาแฟไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา (AFTA) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ประกอบกับราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์สูงมากทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ภาคใต้ส่วนหนึ่งตัดสินใจโค่นต้นกาแฟทิ้งแล้วหันไปปลูกยางพาราทดแทน ขณะเดียวกันยังมีบางส่วนหันไปปลูกปาล์มน้ำมันด้วย ในปีนี้คาดว่าพื้นที่ปลูกกาแฟของไทยจะลดลงเหลือประมาณ 250,000-300,000 ไร่ จากปีที่ผ่านมาที่มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 359,000 ไร่ โดยเฉพาะสวนกาแฟโรบัสต้ารายย่อยมีแนวโน้มลดลงและหายไปจากระบบค่อนข้างมาก
"สำหรับผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือที่มีพื้นที่ปลูกประมาณ 30,000-35,000 ไร่ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากพันธกรณี AFTA เนื่องจากการผลิตกาแฟอาราบิก้าของไทยในปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยผลิตได้ปีละประมาณ 4,000 ตัน ในขณะที่ตลาดมีความต้องการสูงถึงปีละ 8,000 ตัน ดังนั้นผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้จะน่าได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะอาจมีการนำเข้ากาแฟโรบัสต้าจากเวียดนามและอินโดนีเซียเข้ามาตีตลาดภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งต้นทุนการผลิตของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวต่ำกว่าของเกษตรกรไทยมาก" อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
นายมานพ หาญเทวี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปริมาณผลผลิตกาแฟโรบัสต้าไม่เพียงพอกับความต้องการเช่นเดียวกัน แต่ละปีไทยมีความต้องการใช้ประมาณ 60,000-70,000 ตัน แต่สามารถผลิตได้เพียง 40,000-50,000 ตัน ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อทดแทนส่วนที่ขาด ซึ่งปีนี้ไทยมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศอาเซียนแล้วกว่า 1,127.38 ตัน คิดเป็นสัดส่วนอาเซียน 97.08% ขณะเดียวกันยังมีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปกว่า 27.4 ตัน คิดเป็นสัดส่วนอาเซียน 20.03%
สินค้ากาแฟไทยได้เปรียบในเรื่องคุณภาพผลผลิตเนื่องจากมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล ส่วนเวียดนามได้เปรียบในด้านปริมาณและความหลากหลายของเกรดกาแฟ ซึ่งมีทั้งเกรดสูงและเกรดต่ำให้เลือก โอกาสที่ไทยจะแข่งขันได้ต้องใช้เรื่องคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พร้อมสร้างเอกลักษณ์กาแฟไทยให้เทียบเท่ากับสากลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
"ชาวสวนกาแฟต้องเร่งปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง พร้อมเร่งปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น พัฒนาแปลงปลูกใหม่ ตัดแต่งกิ่งทำสาวต้นกาแฟ เปลี่ยนยอดกาแฟพันธุ์ใหม่ ฟื้นฟูต้นกาแฟที่มีอายุมากและให้ผลผลิตต่ำ ตลอดจนการให้ปุ๋ยต้องมีความเหมาะสมตามความต้องการของพืชโดยต้องยึดตามหลักวิชาการด้วย เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นและให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพดีและได้มาตรฐาน ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้จัดเร่งทำสวนกาแฟต้นแบบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ชุมพร ระนอง รวมกว่า 20-25 แปลง เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนกาแฟในพื้นที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตกาแฟของตนเอง พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตกาแฟที่มีประสิทธิภาพด้วย" นายมานพกล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ