นายกรัฐมนตรีย้ำใช้ความเป็นธรรมและความเป็นไทยเป็นกรอบแก้ปัญหาภาคใต้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday July 7, 2007 12:33 —สำนักโฆษก

          วันนี้ เวลา 08.00 น. ณ บ้านพิษณุโลก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งที่ 9 โดยมีนางศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้ดำเนินรายการ อรุณสวัสดิ์ค่ะท่านผู้ชมค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการเปิดบ้านพิษณุโลก พบกันเป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์หลังเคารพธงชาติ เวลา 08.00 น.- 09.00 น. เราจะมาเปิดบ้านพิษณุโลกกันเพื่อสนทนาพูดคุยกันกับท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ สวัสดีค่ะท่านนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ
รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งให้ได้ภายในปีนี้
ผู้ดำเนินรายการ ต้องขออนุญาตเรียนท่านตรง ๆ ว่าทันทีที่ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากทางทีมงานของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่าให้มาเป็นแขกรับเชิญของบ้านพิษณุโลก ดีใจมากและกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่กรุณาให้เกียรติมา เพราะว่ามีคำถามหลาย ๆ คำถามที่อยู่ในใจมากมายที่อยากจะเรียนสนทนากับท่าน เนื่องจากดิฉันไม่ได้มีโอกาสสนทนากับท่านมาหลายปีมากเลยนะคะ หลังจากที่ท่านเป็นคนต้นแบบของดิฉัน และของท่านผู้ชมหลาย ๆ ท่านมาตลอด รายการนี้ต้องบอกอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นรายการที่แปลก เนื่องจากว่าให้แขกรับเชิญมาเป็นผู้ดำเนินรายการ ก็เลยขออนุญาตทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเปิดบ้านพิษณุโลกด้วยเลย ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองรู้สึกค่อนข้างวุ่นวายหน่อย แต่เห็นรอยยิ้มท่านรู้สึกจะทำให้สถานการณ์ดูคลี่คลายไปได้เหมือนกัน วันนี้อาจจะต้องให้ท่านยิ้มเยอะ ๆ
นายกรัฐมนตรี ในภาพรวมแล้วผมคิดว่าเราได้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นมาพอสมควร ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเช้านี้ (6 ก.ค.) มีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ไปเรียบร้อยแล้ว ก็ทำให้ผมยิ้มได้
ผู้ดำเนินรายการ มิน่ารู้สึกอารมณ์ดีสดชื่นขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามของกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่หน้ารัฐสภา ดิฉันผ่านมาบันทึกเทปรายการเห็นมีรถขยะ กทม. เต็ม เตรียมไปสกัดกั้นม็อบอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ไป ยังมีกระบวนการอีกค่อนข้างยาว สสร. ต้องพิจารณากฎหมายลูกอีก ผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก ซึ่งเท่าที่ติดตามมานี้หลาย ๆ คนก็ค่อนข้างกังวลใจเหมือนกันว่ากระบวนการ 45 วันดูเหมือนจะไม่มาก แต่ก็กลัวว่าจะไม่ทัน ถ้าไม่ทันแล้วจะมีปัญหาอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง เพราะว่าประเด็นปัญหาสำคัญที่สุดคือเรื่องของการเลือกตั้ง สิ่งที่อยู่ในใจของท่านผู้ชมและของดิฉันเองคือว่าในช่วงระยะเวลาหลาย ๆ วัน หลาย ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการกำหนดวัน พูดถึงวันเลือกตั้ง มีหลายวัน วันที่ 25 พฤศจิกายน วันที่ 16 , 23 ธันวาคม ไปจนกระทั่งมีคนเริ่มบอกว่าต้นปีหน้า ฟังแล้วเริ่มใจหายว่าตกลงจะไปไกลถึงขนาดนั้นหรือเปล่า เท่าที่ฟังท่านนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ ท่านค่อนข้างจะให้ความมั่นใจว่าอย่างไรจะพยายามจัดให้ทันปลายปีนี้ มีปัจจัยอะไรที่จะเบี่ยงเบน กำหนดวันเลือกตั้งให้หลุดออกไปจากปลายปีนี้ได้บ้างไหมคะ
นายกรัฐมนตรี ในเรื่องของห้วงเวลานี้นะครับ พูดถึงห้วงเวลาก่อน คืออย่างที่ได้เคยเรียนไว้ว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน จะเป็นวันที่สามารถกระทำได้เร็วที่สุด ส่วนช้านั้นก็อยู่ที่ว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะมาทำให้ช้า ช่วงที่เหมาะก็ได้เสนอตั้งแต่เบื้องต้นแล้วว่า 16 หรือ 23 ธันวาคม 2550 นั่นเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ เพราะว่าหลังจากได้มีการเฉลิมฉลองในพิธีมหามงคล 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้ว เราก็สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งช้าลงคงมีอยู่สองส่วน คือในเรื่องของการรับร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้ดำเนินรายการ การลงประชามติของประชาชน
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ ยอมรับหรือไม่ นั่นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เมื่อมีการลงประชามติแล้ว ขั้นตอนของการดำเนินการ ซึ่งผมคิดว่าตรงช่วงนี้สามารถที่จะช่วยกันเร่งได้ ยกตัวอย่างในเรื่องของกฎหมายลูกที่มีความจำเป็น ผมเองสมัยที่เป็นวุฒิสมาชิกก็เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายลูกในเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งก็สามารถทำได้ในห้วงระยะเวลา
ผู้ดำเนินรายการ 45 วันไม่น่าจะมีปัญหา
นายกรัฐมนตรี นั่นเป็นการยกใหม่เลย อันนี้เป็นการปรับปรุงแก้ไข ก็คาดกันว่าน่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลามากนัก นั่นคือสิ่งที่ท่านประธาน สสร. อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ได้ให้ข้อมูลกับผม และได้หารือกับคุณอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องของการหารือว่าทำอย่างไร ห้วงเวลาที่มีอยู่นี้จะสามารถดำเนินการได้ทันไหม ในเรื่องการเตรียมการ ในเรื่องการทำความเข้าใจ ทางท่านประธาน กกต.เอง ท่านก็บอกว่าสามารถดำเนินการได้
ผู้ดำเนินรายการ แล้วกับ สนช. ท่านหารือหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ในเรื่องของ สนช.เองนั้นผมได้พูดคุยกับท่านประธาน มีชัย ฤชุพันธุ์ ตั้งแต่ในเบื้องต้นว่ากำหนดเวลาที่เหมาะคือ 16 หรือ 23 ธันวาคม นั่นเป็นเรื่องที่ได้หารือครบทั้งหมด ทั้งท่านประธาน คมช. ด้วย บอกว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่น่าจะเหมาะที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ แต่อยู่ในเครื่องหมายคำถามว่า หมายความว่าประชามติต้องผ่านไปแล้ว ถึงน่าจะเป็นไปตามกระบวนการที่ว่ามานี้
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลจะทำอย่างไร
นายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้เกิดสะดุดขึ้นมาในกรณีที่ว่าจำเป็นจะต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งก็ใช้เวลา
ผู้ดำเนินรายการ ท่านมีอยู่ในใจไหมคะ น่าจะเป็นสักวันไหน
นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีครับ
ผู้ดำเนินรายการ มีตัวแทนคนทำงานอยู่ในใจด้วยไหม
นายกรัฐมนตรี ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้แล้ว เป็นเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าถ้าประชามติไม่ผ่านจึงจะไปเลือกรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาปรับปรุงแก้ไข แล้วก็ใช้ เราไม่ทำงานข้ามขั้น
ผู้ดำเนินรายการ ถ้าเกิดไม่ทัน
นายกรัฐมนตรี ทันครับ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันนี้น่าจะสอดคล้องกับสภาวะความเป็นอยู่ สภาวะแวดล้อมทางการเมืองต่าง ๆ ฉะนั้นจะเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะ
ผู้ดำเนินรายการ ถ้าสมมติไม่ผ่านอีก ขอย้อนกลับมาประเด็นเดิม ถ้าไม่ผ่านท่านบอกว่าท่านค่อยมาจัดการเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ จะหยิบฉบับใดขึ้นมา อยู่บนพื้นฐานของการกำหนดวันเลือกตั้งให้ทันภายในปีนี้ด้วยไหม
นายกรัฐมนตรี ก็พยายาม ตรงนี้เป็นคำถามค่อนข้างใหญ่ แต่ด้วยความตั้งใจ พูดถึงเรื่องความตั้งใจของตัวผมเอง ก็พยายามให้ได้ภายในปีนี้ นั่นเป็นส่วนที่จะรักษาทั้งในเรื่องของการกำหนดตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำพูดที่ได้แถลงไว้ตั้งแต่เบื้องต้น
ผู้ดำเนินรายการ แต่ดิฉันเชื่อใจว่าประชาชนเชื่อมั่นในคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรีแน่นอน ไม่ว่าใครจะพูดอะไร เราฟังคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณครับ ก็ต้องช่วยกัน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผมจะทำได้ คนเดียว เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่จะทำร่วมกัน
การแก้ปัญหาภาคใต้อยู่บนคำพูดสองคำ"ความเป็นธรรมและความเป็นไทย"
ผู้ดำเนินรายการ ดิฉันได้มีโอกาสร่วมกันกับทางสวนดุสิตโพลล์ สำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศเลยว่า ถ้าดิฉันได้มีโอกาสพบท่านนายกรัฐมนตรี เป็นแขกรับเชิญของบ้านพิษณุโลก จะมีคำถามอะไรฝากเรียนถามท่านบ้าง คำถามมาเยอะมากเลย สิ่งที่คนไทยอยากได้รับคำตอบจากท่านนายกรัฐมนตรีมากที่สุด คำถามแรกอันดับหนึ่งคือเรื่องของปัญหาภาคใต้ ทราบว่าสัปดาห์หน้าท่านนายกรัฐมนตรีจะลงไป 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา จะไปค้างที่ยะลาด้วยใช่ไหมคะ ข่าวออกมาต่อเนื่องเริ่มจากแกนนำบางคนได้จับคนโน้นคนนี้ได้ และมีข่าวออกมาในระหว่างประเทศว่าท่านอาจจะมีการเจรจากับทางมาเลเซียในกลางเดือนสิงหาคม ในการกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ตอนนี้ท่านได้วางยุทธศาสตร์อะไรไว้อย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี ในกรอบของการแก้ไขปัญหาทางภาคใต้คงจะเรียนได้ว่า เราแก้ไขปัญหาอยู่บนคำพูดสองคำคือคำว่าความเป็นธรรม และความเป็นไทย อันนี้ก็เป็นแนวคิดกว้าง ๆ เลยว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น และไม่ทิ้งความเป็นไทย แก้กันในกรอบของคนไทยด้วยกัน ความร่วมมือจากมิตรประเทศซึ่งก็พูดกันแล้วว่าปัญหาตรงนี้ ถ้าเราช่วยกันแก้ไขก็จะเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้า ที่จะทำให้แผนรวมของสมาชิกสมาคมอาเซียนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เราจะมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 8 ปีจากนี้ไป 8 ปีไม่ใช่เวลานานแล้ว แต่ละ 4 ปีก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องร่วมมือกัน ความร่วมมือระหว่างไทย ระหว่างมาเลเซีย ระหว่างอินโดนีเซีย ในเรื่องสามเหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งก็พูดกันมานาน ยังไม่เดินไปไหนก็เพราะว่าสะดุดอยู่ที่ปัญหาในเรื่องของความรุนแรงของสถานการณ์
ผู้ดำเนินรายการ แปลว่าจริง ๆ เขาก็กังวลใจเหมือนกันว่าผลที่เกิดขึ้นจากชายแดนของเรามีผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรี กระทบแน่นอนครับ คือการที่จะไปเร็วกว่านี้ มันก็ช้า
ผู้ดำเนินรายการ ดิฉันเคยมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้นำศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่เป็นคนไทยหลายครั้ง เท่าที่จับความรู้สึกของเขาได้ เขากำลังมองว่าวิธีการบริหารปกครองบ้านเมืองของเรา เราพยายามทำแบบให้มันกลมกลืน คือทำให้ทุกภาคส่วนเหมือนกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน ใช้ภาษาเดียวกัน เรียนเหมือนกัน แต่ว่าในความคิดของเขา เขากำลังมองว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ควรจะเป็นลักษณะของการกลืนหรือเปล่า ควรจะเป็นลักษณะของการยอมรับความแตกต่าง และปกครองที่เฉพาะขึ้นมาหรือเปล่า มีคำขึ้นมาว่าเป็นเขตปกครองพิเศษ การปกครองพิเศษอะไรก็ตาม เหมือนกับมาเลเซียเขามีรัฐ อินโดนีเซียเขามีเป็นเกาะอะไรต่าง ๆ เราจะทำอย่างนั้นกับภาคใต้ ตามความต้องการของเขาได้ไหม
นายกรัฐมนตรี ตรงนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรมครับ ความเป็นธรรมที่ผมพูดถึง ก็ต้องมาพูดกันว่าในแต่ละส่วนจะทำกันอย่างไร เรามีความแตกต่างแต่ไม่ได้แตกแยก ตรงนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้คำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าความเชื่อก็แตกต่าง เชื้อชาติก็อาจจะแตกต่าง แต่ว่าเรามีจุดรวมคือความเป็นไทย เพราะในการที่จะอยู่ในสังคมของเรา ถ้าเรายอมรับในส่วนนี้ว่าเราเป็นไทย ไม่ว่าท่านจะมาจากเชื้อสายใด
ผู้ดำเนินรายการ ศาสนาใด เราเป็นคนไทย
นายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องอยู่บนพื้นฐานตรงนี้ ความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่จะดูในภาพรวมทั้งหมด การกระจายอำนาจการปกครองลงไป การดูแลในเรื่องกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ เป็นไปตามนั้นไหม แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครองลงไปนี้ ก็เป็นความเป็นธรรมอันหนึ่งที่ทุกคนมีส่วนที่จะเข้ามารวมกันอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียว คือแนวคิดของประเทศไทยคงจะไม่เหมือนกับทางมาเลเซีย ไม่ได้เหมือนกับทางอินโดนีเซีย เราคงเป็นสภาวะของการกระจายอำนาจซึ่งมองได้ว่ามีลักษณะพิเศษเกิดขึ้น ขณะนี้มีลักษณะพิเศษเกิดขึ้นในส่วนของกรุงเทพมหานคร ในส่วนของพัทยา
ผู้ดำเนินรายการ ก็เป็นไปได้
นายกรัฐมนตรี มีโอกาสที่จะทำทั่วไปในลักษณะของความเป็นพิเศษทางการกระจายอำนาจทางการปกครองนี้ เราก็มองกันอยู่ว่าในเบื้องแรกเราพูดกันถึงเรื่องของชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนที่ว่านี้คือในระดับของหมู่บ้าน จากหมู่บ้านก็มาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเองก็มองว่าเราไปเร็วเกินไปไหมที่จะกระจายอำนาจลงไป มีการสังหารกันเนื่องจากผลประโยชน์ขัดแย้งกันอะไรต่าง ๆ นี้ แต่ผมคิดว่าเราเดินมาพอสมควรแล้ว และเห็นว่า อบต.เองก็เริ่มปรับตัว มีการฝึกงาน มีการดูงาน มีการอบรม และเริ่มที่จะทำงานเข้าระบบแล้ว การแก่งแย่งในด้านของผลประโยชน์ที่ถึงขั้นใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงก็ลดลง ก็จะเป็นลักษณะของการทำงานที่เราอยากเห็น คือการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยกันโดยสันติวิธี เมื่อหมู่บ้าน ตำบล เข้มแข็ง มาถึงรูปแบบขององค์กรของรัฐซึ่งเราจำเป็นจะต้องปรับในเรื่องของส่วนภูมิภาค ข้าราชการก็จะทำหน้าที่ลดลง เป็นเพียงผู้ที่ให้คำปรึกษาให้คำแนะนำ คอยดูแล ตรงส่วนนี้จะเป็นเรื่องที่เราจะมองย้อนกลับมาได้ว่าในรูปแบบของมหภาค ถ้าประชาชนมีความเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ ข้าราชการก็จะต้องลดบทบาทและลดจำนวนลง ตรงนี้คือความสำคัญ ไม่อย่างนั้นเราจะไปพูดว่าจะลดจำนวนข้าราชการลงแล้วไปทำอย่างอื่น ก็ไปไม่ได้ เพราะว่าความเข้มแข็งตรงพื้นฐาน คือเหมือนกับเราสร้างบ้าน สร้างอาคาร ฐานรากไม่แข็งแรงก็อยู่ไม่ได้นาน
ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมในการบริการของตำรวจมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ พังครืนลงมาอยู่ดี พูดถึงเรื่องของความเป็นธรรมที่ท่านพูด เป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหาภาคใต้ ตอนนี้ก็เริ่มมีข่าวเรื่องร้องหาความเป็นธรรมว่าปรับโครงสร้างตำรวจ เป็นธรรมหรือเปล่า เอาไปอยู่กระทรวงยุติธรรมตอนนี้รัฐบาลคิดอะไร ทำไมไม่รอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาเป็นคนทำดีกว่าหรือเปล่า สิ่งที่รัฐบาลคิดกับการปรับโครงสร้างตำรวจ เกิดมาจากอะไรและจำเป็นหรือเปล่ากับการปรับตอนนี้
นายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งหนึ่งที่พูดได้ว่าเป็นส่วนที่ทางพี่น้องประชาชนทางภาคใต้ก็พูดถึงว่าความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับ เพราะว่าตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ในเรื่องการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน จับกุม อยู่ที่ตรงนั้นหมด ผลที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาที่จะพูดว่าในเรื่องของการทำงานในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ ซึ่งเราก็มีตัวเลขอยู่ว่าประมาณ 2,000 กว่าคน ไม่ว่าจะในเรื่องของการปราบปรามยาเสพติด ในเรื่องการใช้อำนาจที่เกินเลยไป นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเขาได้พูดถึงว่าควรจะมีความเป็นธรรมอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ ปรับโครงสร้างแล้วจะแก้ปัญหานั้นได้หรือคะ
นายกรัฐมนตรี ก็จะทำได้ครับ เพราะว่าจะเป็นลักษณะของการกระจายอำนาจลงไป และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ ทำโครงสร้างเดิมแต่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นได้ไหมคะ
นายกรัฐมนตรี มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ครับ แต่ว่ามีความน่าหนักใจอยู่อย่างหนึ่ง ผมพูดตรง ๆ ครับว่าเมื่อมาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะต้องเซ็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ซึ่งอาจจะถูกลงโทษ อาจจะต้องดูในเรื่องของบำเหน็จ บำนาญ ต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนเซ็น ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ในด้านของการบริหาร นายกรัฐมนตรีควรจะดูในภาพรวมในส่วนที่เราเรียกว่ามหภาค และจะมีผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ ถ้าเป็นไปตามโครงสร้างใหม่คือจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเป็นคนมารับผิดชอบแทน
นายกรัฐมนตรี อันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ต้องขอเรียนว่ายังไม่ชัดเจนครับ คงอยู่ที่การพูดจากัน อยู่ที่การทำความเข้าใจกันก่อน แต่ก็อยากจะให้ศึกษาเปรียบเทียบว่า ประเทศที่เขาได้มีการพัฒนาแล้วระบบตำรวจเขาเป็นอย่างไร เราคงจะต้องศึกษาเปรียบเทียบ
ผู้ดำเนินรายการ ฟังดูเป้าหมาย ท่านมองเรื่องประชาชนควรจะได้รับความเป็นธรรม ได้รับบริการที่ดีมากขึ้น ที่ท่านมองในส่วนของตำรวจเอง การปรับโครงสร้างใหม่เขาจะได้อะไรดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี ในส่วนที่จะได้ผมก็คิดว่าในเรื่องของการทำงานของระดับสถานีตำรวจ ซึ่งเราจะเน้นในเรื่องของการดูแลข้าราชการชั้นผู้น้อย ในส่วนที่เราเรียกว่าตำรวจชั้นประทวน จะได้รับการดูแลมากขึ้น เราต้องการคนที่มีคุณภาพแต่ว่าจำนวนไม่มากนัก ซึ่งการวางระบบอันนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ผมพูดง่าย ๆ ว่าถ้าเรามีอาสาป้องกันฝ่ายพลเรือน เรามียาม บริษัทในกรุงเทพฯ มียามกันเยอะแยะ ถ้าเราได้ระดมสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการป้องกันฝ่ายพลเรือน และรวมกับทางตำรวจ เราจะใช้เจ้าหน้าที่จำนวนที่ไม่มากนัก ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เรามีอยู่เข้าไปมีส่วนร่วม นั่นก็จะเป็นระบบซึ่งเราจะใช้คนไม่มากนัก แต่ว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ ตำรวจก็จะทำงานบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดถึงมือตำรวจ น้อยลง
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ ในขณะเดียวกันถ้าองค์กรเล็กลง มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็อาจจะได้ผลตอบแทนมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี มากขึ้น เราก็ดูแลสวัสดิการได้ดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเฝ้าติดตามสถานการณ์ในด้านของการสืบสวน สอบสวน ก็จะช่วยเราได้มากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ คำถามต่อไปที่คงต้องเรียนถามคือมีหลายคนถามว่าจะจัดการอย่างไรกับม็อบประท้วง ดิฉันโยงไปถึงคำถามต่อ ๆ ไปคือเมื่อไรบ้านเมืองจะสงบสุข จะทำอย่างไรกับความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เดี๋ยวเราจะพักกันครู่หนึ่ง เดี๋ยวจะกลับมาเรียนถามท่านเรื่องของการจัดการกับกลุ่มชุมนุมกับกลุ่มประท้วงการเคลื่อนไหวของประชาชน รวมถึงมีข่าวลือว่ามีคนแอบทำฝนเทียมไล่ม็อบ จริงหรือเปล่า พักครู่หนึ่งเดี๋ยวกลับมาค่ะ
ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม
ผู้ดำเนินรายการ กลับมาเปิดบ้านพิษณุโลกกันอีกครั้งหนึ่งนะคะ เรายังคงอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ กับคำถามที่ประชาชนทั่วประเทศฝากดิฉันมาเรียนถามท่านนายกรัฐมนตรี เรื่องหนึ่งที่คนไทยหลาย ๆ คนกังวลใจ เป็นคำถามอันดับที่ 3 — 4 — 5 ทีเดียวคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเห็นที่ไม่ใช่แค่แตกต่าง แต่ดูเหมือนเป็นความแตกแยกของสังคม ตอนนี้เดี๋ยวก็ชุมนุมเรื่องศาสนาพุทธ การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ชุมนุมเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่ดีเกษตรกรยังไม่ขึ้นมานะคะท่าน แนวทางในการจัดการในการเคลื่อนไหว การดูแลการเคลื่อนไหวของประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ท่านมีหลักการดูแลอย่างไรบ้างคะ
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของการชุมนุมทางการเมืองนี้นะครับ เรามีหลักการอย่างเดียวคือขอให้ชุมนุมโดยที่ไม่ผิดกฎหมาย ชุมนุมโดยสันติวิธี ทำได้
ผู้ดำเนินรายการ ไม่ต้องไปสกัดกั้น ไม่ต้องทำฝนเทียมไล่ม็อบ
นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องไปสกัดกั้น มีพื้นที่บางส่วนที่อาจจะเป็นเขตหวงห้าม ขอไว้
ผู้ดำเนินรายการ ลานพระราชวังดุสิต
นายกรัฐมนตรี ลานพระราชวังดุสิต หน้าบ้านของท่านประธานองคมนตรี อะไรอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ผมถือว่าคงจะต้องพูดจาทำความเข้าใจกันว่าบางส่วนคงจะขอ
ผู้ดำเนินรายการ แต่โดยหลักการคือได้เลย อยู่ในกรอบแต่ทำได้เลย
นายกรัฐมนตรี ทำได้ครับ
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงท่านทำฝนเทียมไล่ม็อบหรือเปล่าคะ
นายกรัฐมนตรี ถ้าทำได้อย่างนั้นก็คงดีครับ
ผู้ดำเนินรายการ ทำไมละคะ
นายกรัฐมนตรี คิดว่าขนาดกำหนดสถานที่ได้ เวลาได้ จะดีมากเลย แต่ทีนี้ผมคิดว่าถ้าเผื่อเป็นอย่างนี้เราคงจะสามารถขายแนวคิดในเรื่องของการทำฝนเทียมให้กับประเทศอื่นได้อีกเยอะ
ผู้ดำเนินรายการ สรุปแล้วไม่ได้ทำ
นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำครับ ไม่ได้ทำในลักษณะที่ว่าเพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมืองอย่างนี้ เราทำก็คงเป็นเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร
ผู้ดำเนินรายการ เพราะฉะนั้นไม่มีนะคะ ที่ลือกันว่ารัฐบาล คมช. ทำฝนเทียมไล่ม็อบ ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์มากเลย แต่นี่ไม่ได้ทำ อันนี้เผอิญมาประท้วงหน้าฝน ก็เลยมีฝนมา ตอนนี้ความเคลื่อนไหวก็ยังคงมีต่อเนื่อง ท่านจะมีวิธีการอย่างไรทำให้ความเคลื่อนไหว หรือความคิดที่แตกต่างแตกแยกให้ลดลง และบ้านเมืองจะได้กลับไปสู่ความสงบสุขได้ มีโอกาสเป็นไปได้ไหม
นายกรัฐมนตรี ตรงนี้คงเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจในสังคมของเราว่า เราจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาทางการเมืองกันอย่างไร คงจะต้องมองไปข้างหน้าว่าเราจะแก้ไขกันอย่างไร ถ้าย้อนกลับมาศึกษาในเรื่องคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาเรามีข้อบกพร่อง เรามีความผิดพลาดอะไรบ้าง ถ้าเรามาศึกษาและหาทางปรับแก้กัน อนาคตคงจะดีขึ้นกว่าเดิม เราอยากจะให้เป็นอย่างนั้น คือมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม ถ้าเราทำอะไรโดยที่ไม่คำนึงถึงอนาคต หรือว่ามองเฉพาะในปัจจุบันก็คงจะลำบากที่จะทะลุผ่านความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้
ต้องสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
ผู้ดำเนินรายการ ท่านพูดมานี้น่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น น่าจะหมายถึงประเด็นส่วนนั้น
นายกรัฐมนตรี หลาย ๆ ส่วนครับเพราะเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในทางการเมืองของเราขึ้นมา
ผู้ดำเนินรายการ ประชาชนเองก็สงสัยนะคะท่าน ท่านจะช่วยจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ดิฉันไม่แน่ใจว่าเวลาของรัฐบาลที่มีอยู่จะพอจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่
นายกรัฐมนตรี คงไม่ได้เป็นปัญหาของรัฐบาล เป็นปัญหาของประชาชนโดยส่วนรวมที่จะช่วยกันอย่างไร รัฐบาลเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพยายามที่จะขายความคิดในเรื่องเหล่านี้ว่าเราควรจะทำกันอย่างไร รัฐบาลได้พูดถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ว่าเราจะใช้เหตุผล ใช้ความรู้ความสามารถ ใช้คุณธรรมในการที่จะช่วยกันดูแลบ้านเมืองของเราอย่างไร ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว สังคม บ้านเมือง นั่นก็เป็นส่วนที่จะทำให้เรายืนอยู่บนหลักที่มองเห็นว่าอะไรที่ถูก อะไรที่ควร ควรจะทำอย่างไร มีเหตุมีผล
ผู้ดำเนินรายการ เรื่องนี้ต้องยอมรับกันว่าเป็นทัศนคติของคนในสังคมด้วย คือหวังรัฐบาลแก้อย่างเดียวก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ครับ อย่างที่ได้พูดกันไปว่าในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเป็นธรรมขึ้น เมื่อมีความเป็นธรรมแล้ว เราจะสามารถดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เฉพาะสภาพในเรื่องของการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเดียว ความเป็นธรรมที่ว่านี้ แม้แต่กระทั่งในวงการธุรกิจเองก็จะต้องมีลักษณะของที่เราพูดกันว่าธรรมาภิบาล ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมนั่นเอง
รัฐบาลพร้อมดูแลความปลอดภัยให้ พ.ต.ท.ทักษิณฯ
ผู้ดำเนินรายการ พูดถึงเรื่องความเป็นธรรม เมื่อเช้านี้เพิ่งมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศในญี่ปุ่นบอกว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ บอกว่าตอนนี้กลับมาเมืองไทยไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม คือรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมก็ดูเหมือนไม่เป็นธรรมกับคุณทักษิณฯ สักเท่าไร ท่านมีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร
นายกรัฐมนตรี ผมคงจะตอบได้ว่าในเรื่องของปัญหาตัวบุคคล ในเรื่องของกระบวนการ ถ้าในภาพของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย คงปล่อยให้กระบวนการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะดูแลในภาพรวม ๆ เท่านั้นเอง ยกตัวอย่างในเรื่องของการที่จะให้ความปลอดภัย ถ้าหากว่าคุณทักษิณฯ ตัดสินใจที่จะกลับมาสู้คดี อย่างนี้เป็นต้น ในเรื่องของการดำเนินการต่าง ๆ นี้ ในส่วนรัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย เพราะว่าตรงนี้พูดได้ว่าการเลือกสรรเป็นไปตามกระบวนการทุกอย่าง แม้แต่กระทั่งในส่วนของตุลาการรัฐธรรมนูญเองผมก็คิดว่าทั้ง 9 ท่านก็อยู่ในตำแหน่งสูงสุดทางด้านตุลาการทั้งสิ้น และผ่านการคัดกรองกันมาตามกระบวนการของตุลาการ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่เป็นธรรม ผมคิดว่าตรงนี้คงไม่ใช่
ผู้ดำเนินรายการ คือกระบวนการต่าง ๆ ไม่ได้เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลนะคะท่าน อันนี้เราเข้าใจกันอยู่ เรามีโอกาสได้คุยไหม เพราะว่าตอนนี้มีข่าวลือออกมาอยู่เสมอ ๆ ธงของ คมช. คือคุณทักษิณฯ ติดคุก กลับมาธงคือจัดการซะ อะไรอย่างนี้ ก็จะมีข่าวกระแสออกมาอย่างนี้ตลอด เรามีการกำชับคุยกันไหมว่าตรงนี้อย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้
นายกรัฐมนตรี เรื่องข่าวลือนี้ก็ลำบากครับ ลำบากที่จะไปห้าม เพราะว่าคนมักจะพูดกันอย่างนี้ว่าธงเป็นอย่างนี้ ฟันธงเลยอะไรอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของการพูดคุย ผมคิดว่าการดำเนินการเป็นเรื่องของรูปคดี เป็นเรื่องของการสอบสวน เป็นเรื่องของพยานหลักฐาน ถ้าหากว่าสามารถที่จะมาต่อสู้กันตามกระบวนการยุติธรรมได้แล้ว จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้คุณทักษิณฯ กลับมาไหมคะ
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าคุณทักษิณฯ ควรที่จะกลับมาสู้คดี
ผู้ดำเนินรายการ ณ เวลานี้เลยไหมคะ หรือว่าควรจะเมื่อไร
นายกรัฐมนตรี อันนี้ก็แล้วแต่ ผมเองผมไม่ได้กำหนดครับ ผมพูดมาตลอดเวลาว่า ถ้าเผื่อทางศาลพิจารณา แล้วเห็นว่ามีความเหมาะควรเมื่อไร ทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การดูแลในด้านความปลอดภัย
ผู้ดำเนินรายการ อยากให้กลับมาและพร้อมจะดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ อันนี้ไม่ต้องให้ใครมายุ่งเกี่ยว รัฐบาลจัดการดูแล ให้ความมั่นใจ
นายกรัฐมนตรี ครับ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ผู้ดำเนินรายการ รวมถึงครอบครัว รวมถึงบุคลากรทุกคนที่อยู่ในครอบครัวของคุณทักษิณฯ ด้วย
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ
การวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรี
ผู้ดำเนินรายการ อันนี้เป็นความมั่นใจที่ให้อยู่นะคะ ดิฉันถือว่าถามคำถามที่ท่านผู้ชมฝากมาว่าจะจัดการอย่างไรกับคุณทักษิณฯ ทีนี้มีอีกเรื่องหนึ่ง ขอย้อนกลับไปเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุม ตอนนี้ก็มีประเด็นขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงอยู่ด้วยเหมือนกัน คือประเด็นที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมไปเรียกร้องให้บุคคลสำคัญ ที่มีสถานะเป็นถึงองคมนตรีและเป็นประธานองคมนตรีลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าอาจจะมีความเกี่ยวพันกับการยึดอำนาจหรืออะไรก็ตาม ทำให้เกิดความสับสนของประชาชนว่า ไปประท้วงอย่างนั้นกับองคมนตรีได้หรือ องคมนตรีไม่ใช่เป็นผู้แทนพระองค์หรือ อยากให้ในฐานะที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี ได้ให้ความรู้กับเราว่าองคมนตรีมีภารกิจหน้าที่อย่างไร แล้วในสถานการณ์ของสังคมไทยแบบนี้ เราสามารถที่จะไปเกี่ยวข้อง ไปวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่เป็นองคมนตรีได้หรือไม่
นายกรัฐมนตรี ครับ ในฐานะองคมนตรีนะครับ เรื่องหนึ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือไม่ยุ่งเกี่ยวในเรื่องทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลัก หน้าที่ขององคมนตรีเป็นการถวายคำปรึกษาให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อได้รับมอบว่าเรื่องนี้ให้ไปศึกษา ให้ไปดู ก็จะทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาขึ้นไป เมื่อถวายคำปรึกษาขึ้นไปแล้ว ก็ไม่ต้องไปติดตามผล เพราะว่าจะเป็นพระบรมราชวินิจฉัย เป็นเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นก็เป็นหน้าที่ขององคมนตรีคร่าว ๆ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ