ก.อุตสาหกรรม จัดทัพเตรียมปั้นไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 3, 2014 14:07 —สำนักโฆษก

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการติดตามความคืบหน้าในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน (Bio-plastics Hub) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการขอรับการสนับสนุนมาตรการการเงิน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นฝ่ายเลขานุการ และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ กำหนดรูปแบบและจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพในประเทศที่มีความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

“เนื่องจากปัจจุบันพลาสติกชีวภาพ สามารถตอบโจทย์เรื่องความต้องการใช้งาน และเป็นกระแสที่ทั่วโลกใช้งานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะใช้งานเป็นของใช้และบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลายในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถย่อยสลายได้ง่าย จึงเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญประเทศไทยมีอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี และขณะนี้ภาครัฐตั้งเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวในทุกด้าน เพื่อให้เกิดความต้องการในห่วงโซ่การผลิต และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการผลิต (Economy of Scale) โดยเบื้องต้นผมได้มอบให้ สถาบันพลาสติกพัฒนาสร้างองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพให้ผู้ประกอบการ อาทิ การอบรมพื้นฐานความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ การศึกษาเทคนิคการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งการวางแผนสร้างบุคลากรเพื่อให้พร้อมทำงานด้านนี้ด้วย” นายวิฑูรย์ กล่าว

จากการสำรวจผู้ประกอบการพลาสติกไทย โดยศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมพลาสติก มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติกไทยจำนวน 3,800 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลาสติกชีวภาพเพียง 34 ราย ซึ่งเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ และทดลองผลิต โดยนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพเข้ามาทั้งหมดทำให้มีต้นทุนสูง

สำหรับการประชุมคณะกรรมการสถาบันพลาสติก (29 ส.ค.57) ที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาสำคัญเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในปี 2558 ของสถาบันพลาสติก โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอหลักการและความจำเป็นของการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือ PIDC (Plastics Innovation & Design Center) ภายในสถาบันพลาสติก สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ เพื่อต่อยอดการดำเนินงาน และมุ่งปรับปรุงฐานข้อมูลอุตสาหกรรมพลาสติก ผ่านศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมพลาสติก (Plastics Intelligence Center : PIC) เว็บไซต์ www.thaiplastic.org และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะผู้ประกอบการพลาสติก (Plastics Training Center : PTC) จำนวน 38 หลักสูตร โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาช่างเทคนิคกว่า 500 คน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ