นักวิชาการสธ. แนะใช้สเปรย์กระป๋องพ่นกำจัดยุงลายในบ้านได้ผลดีกว่าใช้เครื่องพ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday October 7, 2014 16:42 —สำนักโฆษก

นักวิชาการเผยผลการวิจัยวิธีการกำจัดยุงลายในบ้าน พบว่าการใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่น ได้ผลดีกว่าการใช้เครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควัน เพิ่มความรวดเร็วในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยมีเทคนิคก่อนพ่น ให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และปิดทั้งไว้ 10-15 นาทีหลังจากฉีดพ่นจะให้ผลดียิ่งขึ้น

นายหทัย พันธ์พงษ์วงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยผลการทดสอบการกำจัดยุงลาย ด้วยเครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควันแบบสะพายไหล่ เปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋อง เพื่อควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557

นายหทัยกล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลายตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง จะได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเข้ามาอยู่ในตัวยุง หากยุงที่มีเชื้อไวรัสนี้ไปกัดคนอื่น ก็จะทำให้คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยทั่วไปยุงลายมักออกหากินเวลากลางวัน อาศัยตามบริเวณอาคารบ้านเรือน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ใสสะอาด เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง โดยข้อมูลสำนักระบาดวิทยารายงานปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กันยายน ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 25,955 ราย เสียชีวิต 24 ราย แม้ว่าสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปีนี้รุนแรงน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาวิธีการกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่

ในการทดลองการกำจัดยุงลายครั้งนี้ ได้ดำเนินการศึกษาระหว่างการใช้เครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควันแบบสะพายไหล่ เปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋องที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป โดยทดลองฉีดพ่นในบ้านที่มีลักษณะ 3 แบบต่างกัน ได้แก่ บ้านแบบปิดมีหน้าต่างประตูปิดมิดชิด บ้านแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด และบ้านแบบเปิด ไม่มีประตูหน้าต่าง ผลการทดลอง พบว่าการใช้เครื่องพ่นหมอกควันแบบสะพายไหล่ ในบ้านแบบปิดมียุงตายเฉลี่ยร้อยละ 78 บ้านแบบกึ่งปิดกึ่งเปิดขณะมีลมพัดยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 21 และขณะลมสงบยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 47 ส่วนบ้านแบบเปิดขณะมีลมพัดพบยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 9 และขณะลมสงบยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 32 ส่วนผลการใช้สเปรย์กระป๋อง ในบ้านแบบปิดมีจำนวนยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 88 บ้านแบบกึ่งปิดกึ่งเปิดขณะมีลมพัดทำให้ยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 39 ในขณะลมสงบยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 80 บ้านแบบเปิดในขณะมีลมพัดยุงตายเฉลี่ยร้อยละ40 ส่วนขณะลมสงบยุงตายเฉลี่ยร้อยละ 54

นายหทัยกล่าวต่อว่า จากผลการทดลองสรุปได้ว่า การใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋องสามารถกำจัดยุงลายในบ้านได้ดีกว่าการใช้เครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควัน จึงควรใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดสเปรย์กระป๋องในการกำจัดยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียงกับบ้านที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการควบคุมการระบาดของไข้เลือดออก เนื่องจากราคาไม่แพง หาซื้อง่าย ใช้งานสะดวก อีกทั้งไม่ต้องเสียเงินค่าบำรุงรักษา และประชาชนส่วนใหญ่มีใช้ในครัวเรือนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในการพ่นสารเคมีมีข้อควรระวังคือ ก่อนทำการพ่นจะต้องให้คนและสัตว์เลี้ยงออกจากห้องหรือบริเวณที่จะฉีดพ่น ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดก่อนฉีดพ่น และหลังจากฉีดพ่นแล้วให้ทิ้งไว้ 10-15 นาทีจึงเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายอากาศออก ส่วนผู้ที่พ่นสารเคมีควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หลังการฉีดพ่นทุกครั้งควรล้างมือและฟอกสบู่ เก็บกระป๋องสเปรย์ให้มิดชิด ห่างไกลจากมือเด็กหรือเปลวไฟหรือที่ที่มีความร้อน รวมทั้งอาหารและสัตว์เลี้ยง โดยหากใช้หมดแล้ว ห้ามนำกระป๋องภาชนะไปเผาเพราะจะเกิดการระเบิดได้ ขอให้แยกทิ้งเป็นขยะอันตรายหรือฝังดิน

ตุลาคม1/9

7ตุลาคม 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก เคมี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ