นักธุรกิจชั้นนำเยอรมัน เชื่อมั่นไทยมีเสถียรภาพ พร้อมสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 18, 2014 16:35 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แจ้งถึงทิศทางและนโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุน ต่อสภาหอการค้าเยอรมนีและคณะนักธุรกิจชั้นนำจากเยอรมนีกว่า 29 บริษัท โดยคณะนักธุรกิจเยอรมัน ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการเมืองไทย พร้อมสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน

วันนี้ (18 พ.ย. 57) เวลา 14.00 น. นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน และนายรอล์ฟ ชูลเซอ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมกับ ประธานหอการค้าเยอรมัน- ไทย นำคณะนักธุรกิจเยอรมัน จากบริษัทชั้นนำ กว่า 29 บริษัท เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ เยอรมนีถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น) โดยในวันนี้ มีตัวแทนนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำที่มาเข้าพบนายกรัฐมนตรีจากหลายสาขา อาทิ สาขายานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ บริษัท Mercedes-Benz, BMW และ Ducati Motor ฯลฯ สาขาพลังงาน ได้แก่ บริษัท B.Grimm&Co.Limited สาขาบริการด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท Siemens Limited (ประกอบธุรกิจด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและการแพทย์) สาขาการเงิน ได้แก่ บริษัท Thaivivat Insurance สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริษัท Stiebel Eltron Asia Limited สาขาบริการ ได้แก่ Roedl & Partner, Ltd., SAP South East Asia สาขาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สาขาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สาขาบริหารจัดการของเสีย สาขาอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ สาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ สาขาก่อสร้าง

สำหรับผู้เข้าร่วมหารือระดับสูงฝ่ายไทยฯ ประกอบไปด้วย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับผลการหารือ มีรายละเอียด ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับคณะนักธุรกิจชั้นนำจากเยอรมัน พร้อมกล่าวชื่นชมเทคโนโลยีและความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ ตลอดจน ระบบการศึกษาของเยอรมนี ทั้งนี้ ไทยยินดีที่ในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนเยอรมันเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งแสดงให้เห็นความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเยอรมันต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองของไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนการที่ได้วางไว้ และยืนยันว่า ไทยต้องการที่จะเป็นประชาธิบไตยที่สมบูรณ์ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดินตามหลักประชาธิปไตย เน้นภารกิจ 3 ประการ คือ 1.รักษาความสงบเรียบร้อย 2. ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า 3.ทำงานเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจะปรับปรุงกฎระเบียบและข้อตกลงให้มีความเป็นสากล ลดขั้นตอนการประสานงานสำหรับการลงทุน ตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกแบบ one-stop service และลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน และทางภาษี อำนวยความสะดวกกับต่างประเทศที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ จะต้องไม่มีคอรัปชั่น เน้นความโปร่งใส

ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม Digital Economy ตลอดจน ภาคเอกชนที่สนใจลงทุนด้านเทคโนโลยี พลังงานทดแทนจากแสงแดด ลม พลังงานสะอาด การบำบัดน้ำเสียการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับคนไทย

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาลสนับสนุนประกอบการที่ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco car) ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้นกว่าเดิม จากสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่สนใจจะไปตั้งโรงงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศใน 2 ลักษณะ คือ 1. แบบรัฐต่อรัฐ (G to G) 2.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลกำลังจะลงทุนในโครงข่ายคมนาคมทางราง และมีโครงการพัฒนารถไฟความเร็วปานกลางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยหากนักธุรกิจต่างประเทศสนใจเข้าร่วม สามารถติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนั้นๆได้ โดยตรง นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งพัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานรองรับการขยายธุรกิจจากต่างประเทศ ทั้งในระดับหัวหน้างานและระดับอาชีวศึกษา ซึ่งตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆที่อยู่ในความสนใจของภาคธุรกิจ อาทิ ความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี-สหภาพยุโรป (Thai-EU Free Trade Agreement) ซึ่งไทยมีความพร้อมที่จะเจรจา FTA กับยุโรป ในโอกาสแรก โดยในเดือนธันวาคมนี้จะเริ่มการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง สำหรับเรื่องการปรับฐานการคำนวณภาษีสรรพสามิต รัฐบาลจะปรับการคำนวณภาษีสรรพสามิตตามฐานราคาปลีก แทนการคำนวณจากฐานราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในเรื่องพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รัฐบาลกำลังปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศและเป็นสากล

ในโอกาสนี้ นักธุรกิจชั้นนำจากเยอรมันได้แสดงความมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยหลายบริษัทได้แสดงความประสงค์ที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติม อาทิ บริษัท BMW ที่จะตั้งโรงงานเพิ่ม บริษัท Evonik ซึ่งประสงค์จะลงทุนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ พลังลมและการบำบัดน้ำเสีย บริษัท STABAG ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ บริษัท SAP ที่สนใจจะลงทุนด้าน Digital Economy และ E-Government เป็นต้น

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ