นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานเลี้ยงอาหารค่ำและพิธีมอบรางวัล Forbes Asia’s Best under a Billion Award Ceremony and Dinner ประจำปี ค.ศ. 2014

ข่าวทั่วไป Tuesday December 9, 2014 10:06 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานเลี้ยงอาหารค่ำและพิธีมอบรางวัล Forbes Asia’s Best under a Billion Award Ceremony and Dinner ประจำปี ค.ศ. 2014 ย้ำไทยกลับคืนเสถียรภาพทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เร่งเดินหน้าสร้างความโปร่งใสควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ

วันนี้ เวลา 18.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานเลี้ยงอาหารค่ำและพิธีมอบรางวัล Forbes Asia’s Best under a Billion Award Ceremony and Dinner ประจำปี ค.ศ. 2014 โดยมี พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารกรุงเทพ และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เป็นต้น เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม Plaza Athenee

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสาระสำคัญ โดยย้ำว่า ไทยกลับคืนเสถียรภาพทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เร่งเดินหน้าสร้างความโปร่งใสควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมน้อมนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับบริษัทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 200 ราย จาก 17,000 ราย ที่ประสบความสำเร็จและได้รับคัดเลือกจาก Forbes ให้รับรางวัล “Best under a Billion” ในปีนี้ โดยมีบริษัทของไทย 9 ราย ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ด้วย และเชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นสัญญลักษณ์ของความสำเร็จที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรุ่นใหม่ต่อไป และทราบว่า ได้มีการเปิดตัวนิตยสาร Forbes ฉบับประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เชื่อว่าจะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทัศนะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ ก้าวสู่ระยะที่สองด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี การจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อออกแบบและวางรากฐานอันมั่นคงและยั่งยืนทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และระยะที่สาม คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

แผนปฏิบัติการ (Roadmap) จะทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งไทยและต่างประเทศ มีความเข้าใจที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังจะเดินไปทางไหน โดยไม่ได้ทอดทิ้งความเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรการต่าง ๆ ที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคง เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยไทยเป็นแกนนำของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะจัดตั้งขึ้นในปีหน้า และเป็นพลังเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก 16 ประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีส่วนร่วมอย่างมีพลวัตรในห่วงโซ่การผลิต และห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มของโลก. รัฐบาลจึงได้หยิบยกวาระการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของแนวนโยบายรัฐบาล โดยมีแผนที่จะปรับปรุงกระบวนการรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องทุจริต เพื่อให้มีการร่วมมือกับภาคเอกชน และเครือข่ายในภาคประชาชนซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น รวมทั้งปรับปรุงระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อปิดโอกาสไม่ให้นักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจในทางที่มิชอบโดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และภาคเอกชนที่ปราศจากคุณธรรมและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ Construction Sector Transparency Initiative (CoST) ซึ่งเป็นองค์การที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสและการตรวจสอบโครงการก่อสร้างของภาครัฐโดยใช้กลไกการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างของภาครัฐเพื่อนำมาใช้ยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสในประเทศไทย ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้อนุมัติให้เริ่มใช้มาตรฐานความโปร่งใสในโครงการก่อสร้าง ของ CoST กับโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะขยายไปสู่โครงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจอื่นต่อไป คนร. ยังได้อนุมัติให้เริ่มใช้สัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ โดยเริ่มใช้กับการจัดซื้อรถเมล์ของ ขสมก. เป็นโครงการแรก ซึ่งเป็นโครงการที่ค่อนข้างจะมีปัญหามาเป็นเวลานาน

รัฐบาลกำลังปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มีความโปร่งใสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปโดยสะดวกและราบรื่น โดยจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ มาตรการใด ๆ ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาจะต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติด้วย เช่น การรับฟังความคิดเห็นของคณะทูตานุทูต หอการค้าต่างประเทศ และนักลงทุนต่างชาติในเรื่อง การทบทวน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพราะการปรับปรุงกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปประเทศ ขอยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านการลงทุนจากต่างประเทศ คือ 1) ส่งเสริมการลงทุน 2) ลดขั้นตอนการทำธุรกิจ และ 3) อำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน สำหรับเรื่อง พ.ร.บ. นี้ กำลังศึกษาดูว่าจะพัฒนากฎหมายอย่างไรให้ก้าวสู่มาตรฐานสากลโดยไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังข้อกังวลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนนั้น รัฐบาลจะปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ อาทิ สาขาธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โรงงาน สำรวจและทำเหมืองแร่ การขอรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม การขออนุญาตประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม โดยมุ่งให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ความมีประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในทุกขั้นตอน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียน เอเปค หรือ OECD ว่า ล้วนให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ระหว่างกัน และโดยที่ประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางด้านกายภาพและกฎระเบียบ เช่น การลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาร์ การเชื่อมต่อระบบศุลกากรอีเล็คทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) ของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าด้วยกันเพื่อช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนอย่างแท้จริง

รัฐบาลยังได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ระหว่างปี ค.ศ. 2015 – 2022 โดยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ กับประตูการค้า เมืองหลักในภูมิภาค กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (Special Economic Zone – SEZ) อีก 12 แห่งกับ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ทั้งหมดนี้มาจากแนวคิดที่ต้องการเดินไปข้างหน้าพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้บริบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นฐานการผลิตเดียวกัน และมีการแบ่งปันความมั่งคั่งอย่างครอบคลุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี และได้จัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ระยะ 7 ปี (ค.ศ. 2015-2021) โดยเน้นส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่าต่อประเทศ ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และกิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยจะประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2558

รัฐบาลได้เห็นชอบมาตรการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และบรรษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centers: ITC) ในประเทศไทย โดยลดและยกเว้นภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งมาตรการอื่นที่มิใช่ภาษี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่และบริษัทการค้าระหว่างประเทศในไทยมากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปรับปรุงระเบียบการตรวจลงตราและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ เช่น จัดทำโครงการส่งเสริมการลงทุน และจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) สำหรับทั้ง 2 กิจการต่อไป

ขณะเดียวกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศคู่ขนานกันไป เพราะการลงทุนของไทยในต่างประเทศก็มีความจำเป็นในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านทรัพยากรในประเทศ แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปไม่ได้หากไม่มีการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้มแข็งและมีความพร้อมที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริม SMEs โดยกำหนดให้เป็นวาระของชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยสู่ความเป็นสากล โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การลงทะเบียน SME จัดตั้งกองทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และช่วยแก้ไขปัญหาที่ SMEs ประสบ เช่น การเข้าถึงเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งข้อมูล เป็นต้น

พลังงานก็เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปด้านพลังงานด้วย โดยขณะนี้ รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน 2 แผนงานหลักในการปฏิรูปพลังงาน คือ แผนการพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนแม่บทว่าด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โดยยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศในภาคพลังงานและมีการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนด้วย

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารควบคู่กันไปด้วยเพราะอาหารและพลังงานเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญและต้องพัฒนาไปด้วยกันอย่างสมดุล ในฐานะครัวของโลก (Kitchen to the World) ประเทศไทยได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ภูมิภาคและโลก ความท้าทายต่อjมั่นคงทางอาหารจะต้องหาจุดสมดุลในนโยบายการนำสินค้าเกษตรไปผลิตเป็นพลังงานด้วย รัฐบาลได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่เน้นทั้งในด้านอุปสงค์ เช่น การเพิ่มการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม การเตรียมความพร้อมด้านอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน และในด้านอุปทาน เช่น การเพิ่มผลผลิต การลดปัญหาการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว การรักษาเสถียรภาพของราคา การจัดแบ่งเขต (zoning) เพื่อแบ่งแยกพื้นที่เพาะปลูกอาหารจากพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ และการยกมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่า ได้น้อมนำปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 1997 และหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ประเทศไทยได้กลับคืนสู่ความสงบและความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วยการปฏิรูปรอบด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอเชิญชวนให้ท่านเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศไทย หวังว่าทุกท่านที่มาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้จะประทับใจในความเป็นเจ้าบ้านที่ดีและไมตรีจิตของคนไทย ขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทยและเล็งเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติ

อนึ่ง ในปีนี้ 9 บริษัทของไทยได้รับคัดเลือกจาก Forbes ให้รับรางวัล BuB 2014 ได้แก่ 1. บริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ จำกัด (มหาชน) (ฉนวนกันความร้อนและอุปกรณ์ไฟฟ้า) 2. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3. บริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (อุปกรณ์uก่อสร้าง) 4. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรรมโยธา) 6. บริษัท ทักษิณคอนกรีต จำกัด (มหาชน) (ผู้ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตอัดแรง รับเหมาก่อสร้าง) 7. บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) (ผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กและโครงสร้างเหล็ก) 8. บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (ผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกที่) 9. ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลวิภาวดี

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ